13 พ.ค. 2019 เวลา 09:30 • บันเทิง
ฟังไปแล้ว - ย้อนอดีตไปกับ Bananarama และอัลบัมใหม่ของพวกเธอ In Stereo
​ถือว่าเปิดหัวมาได้อย่างน่าสนใจตั้งแต่เพลงแรก "Love In Stereo" ที่ทำให้ต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟังเพลงต่อๆ ไป ไล่ไปจนจบอัลบัม สำหรับงานชุดใหม่หมายเลขที่ 11 ของ Bananarama วงเกิร์ลกรุป ที่ปัจจุบันมีสมาชิกเพียงแค่สองคน ซารา ดาลลิน และเคเร็น วูดเวิร์ด ซึ่งเป็นสมาชิกรุ่นแรกแตกเปลี่ยวของวง ร่วมกับซิโอบาห์น ฟาเฮย์ ที่ออกจากวงไปในปี 1988 ก่อนจะกลับมาร่วมงานกับเพื่อนอีกๆ ในช่วงปี 2017-18
​เพราะเพลงที่ว่าในอัลบัม In Stereo งานชุดแรกของวงในรอบ 10 ปีของบานานารามา จัดว่าเป็นการผสมผสานและพบกันของโลกใหม่กับโลกเก่าของบานานารามาได้อย่างกลมกลืนลงตัว เพราะขณะที่ซาวนด์มาพร้อมกับความสดจากเทคโนโลยียุคนี้ โครงสร้างของเพลงลูกเล่นต่างก็คือในแบบบานานารามา อย่างที่คนยุค 80 คุ้นเคยกันดี ขณะที่เพลงที่สอง “Dance Music” แม้เหมือนเป็นร่างทรงในยุคหลังของไคลี มิโนก หากก็มาพร้อมบีทและอารมณ์ที่ทำให้นึกถึงเพลงดังในอดีตของพวกเธอในสมัยที่ยังเป็นทรีโอเกิร์ลกรุป อย่าง "Love in the First Degree"
​แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดี หลังจากเปิดหัวได้อย่างสวยงามว่า บางทีการกลับมาครั้งแรกในรอบทศวรรษของบานานารามา อาจจะไม่ได้เนี้ยบ เฉียบอย่างที่เพลงแรกแสดงให้เห็น
​ท้ายที่สุดงานของดาลลินและวูดเวิร์ด ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่อยู่กับร่องกับรอย ตัวเพลงฟังแกว่งไปแกว่งมาในแบบที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปินสายป็อป-แดนซ์มากมาย โดยเฉพาะตัวแม่ทั้งหลายอย่างมิโนก หรือว่าเลดี กากา
​หรือบางเพลงอย่าง "Looking for Someone” ก็ละม้ายคล้ายคลึงกับงานของวงซินธ์ป็อปในยุคนี้ ส่วน "Got to Get Away” ก็ไม่ต่างไปจากงานยุคป็อปจ๋าของเทย์เลอร์ สวิฟท์ ที่เน้นบีทกับเครื่องเคราอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า
​จะว่าไปในเรื่องรายละเอียดดนตรีของ In Stereo ก็ถือว่าสะเปะสะปะไม่น้อยเหมือนกัน
​หากยังดีที่ทั้งหมด ทุกเพลงล้วนหนักแน่นในความเป็นป็อป ท่วงทำนองติดหู มีฮุคที่โดนความรู้สึก แล้วก็ชัดเจนในความเป็นงานป็อป-แดนซ์ ฟังแล้วทำให้อยากลุกขึ้นมาเต้นรำ หรืออย่างน้อยก็รู้สึกต้องการขยับแข้ง-ขา แล้วก็มีลูกเล่น มีเทคนิคที่จดจำได้ว่าอยู่ในเนื้องานเก่าๆ ของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นบีทดนตรีกับเสียงริฟฟ์ของซินธิไซเซอร์ในเพลง "Tonight” เสียงสับกีตาร์ของ "Stuff Like That"
​ขณะที่จังหวะจะโคนในงาน ก็มีหลากหลายไม่ใช่เป็นเพลงเทมโปเดียวทั้งชุด ที่พอรวมเข้ากับเพลงต่างๆ ที่มีท่วงทำนอง มีลีลา มีลูกเล่นทางดนตรีของตัวเอง ก็ทำให้เพลงใน In Stereo มีความต่าง มีสีสันที่หลากหลาย ไม่ใช่งานในแบบร้อยเนื้อทำนองเดียวบีทเดิมๆ เช่นที่วงป็อป-แดนซ์หลายๆ วงเป็น
​ซึ่งหากฟังกันแบบไม่คิดอะไรมาก In Stereo ก็ไม่ต่างไปจากงานป็อป-แดนซ์ที่มีบรรยากาศ หรืออารมณ์ย้อนยุคบางอย่างให้รู้สึก คือฟังแล้วจะไม่คิดว่านี่คืองานของวงซินธ์-ป็อป หรือวงน้องใหม่ที่ไหนแน่ๆ เพราะมีบางอย่างที่เป็นกลิ่นความเก๋าโชยออกมาอย่างชัดเจน แล้วก็เป็นงานที่สามารถฟังได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
​แต่ถ้ามองว่านี่คืองานของเกิร์ล กรุปรุ่นใหญ่ ตั้งวงกันมาตั้งแต่ปี 1981 In Stereo ก็ไม่ใช่งานที่เป็นการกลับมาแบบเต็มภาคภูมิวงรุ่นใหญ่สักเท่าไหร่ แต่หากมองกันในแง่ดี ก็ต้องยอมรับกันด้วยว่า ตัวบานานารามาเอง ก็ไม่ต่างไปจากวงเด็กปั้นหรือเป็นงานสร้างของสต็อค/ เอ็ทเคน/ วอเตอร์แมน ที่เนื้องานส่วนใหญ่มีทีมโปรดิวเซอร์ชื่อดังทีมนี้อยู่เบื้องหลัง
​หากคิดกันได้แบบนี้ In Stereo ก็คือการพบเพื่อนเก่าของคนยุค 80 ที่ไม่ต้องสนใจว่า เพื่อนยังคงไปไม่ถึงไหน หรือทำอะไรได้บ้างในทุกวันนี้ แค่เจอและได้คุยกันที่เต็มไปด้วยบรรยากาศและอารมณ์เก่าๆ เราก็น่าจะโอเคแล้วนะ
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง ย้อนอดีตไปกับ Bananarama และอัลบัมใหม่ของพวกเธอ In Stereo คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 26 เมษายน 2562
อ่านวิจารณ์อัลบัมชุดแรกของ Soul After Six >> https://www.blockdit.com/articles/5cd1c889867d63100d708c8c
อ่านเแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด่วยกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
โฆษณา