26 พ.ค. 2019 เวลา 08:42
#GuRead
คนแพ้มองแต่ปัญหา คนชนะมองหาทางออก
สรุปเนื้อหาสำคัญ
"คนที่ตั้งใจทำงานจะมองเห็นวิธี คนที่ไม่ตั้งใจทำจะมองเห็นข้อแก้ตัว" เป็นคำกล่าวที่ดูจะจริงอยู่ไม่น้อย สิ่งที่อันตราสำหรับธุรกิจนั้นคือ การขาดความคิดริเริ่มใหม่ๆ โดยมักจะพอใจอยู่กับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากเกินไปนั้นเอง
การปรับตัว และการริเริ่มทำเรื่องใหม่ๆเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ฟูจิฟิล์มที่ได้ทำเมื่อเกิดปัญหากับตลาดฟิล์มเมื่อปี 2004 โดยตลาดมีขนาดลดลงเหลือเพียง 1 ใน 13
สิ่งที่ฟูจิทำคือ อดทนยอมรับการเปลี่ยนไปของ อุตสาหกรรมโดยจะต้องมีความกล้าที่จะพลิกอุตสาหกรรมให้มีความหลากหลาย โดยฟูจิขยับเข้ามาสู่ธุรกิจเครื่องสำอาง โดยการปรับเปลี่ยนองค์กรขนานใหญ่
ในขณะที่ยักย์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมฟิล์มคือ โกดักที่ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้จึงต้องมีอันจบลง
ตัวองค์กรเองไม่ได้มีความสามารถด้วยตัวมันเอง ความสามารถขององค์กรคือ ความสามารถของบุคคลากรที่อยู่ในองค์กรนั้นๆ โดยองค์กรจะมีลักษณะอย่างไรนั้น เราสามารถบอกได้จากบุคคลากรส่วนใหญ่ในองค์กร (โดยเฉพาะในระดับสูง) โดยเราสามารถแบ่งคนออกมาได้ทั้งหมด 4 แบบ คือ
1.) นักวิจารณ์ : เรารู้จักคนเหล่านี้ในชื่อ คนที่ทำงานด้วยปากอย่างเดียว พวกเขาจะรู้ดีไปทุกเรื่อง แนะนำได้เป็นฉากๆ แต่อย่าได้หวังว่าพวกเขาจะลงมือทำงานใดๆ พวกเขาจะทำเหมือนกับงานนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับตัวเองเลย ในบริษัทที่คนจำพวกนี้มากๆ ก็จะเป็นบริษัทที่ล้มเหลว
2.) แบบเฉื่อยชา : เป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีความมั่นใจ ไม่ทำอะไรเองโดยเด๊ดขาด ต้องสั่งมาตรงๆชัดๆเท่านั้นจึงจะทำ เมื่อมีปัญหาก็จะเอาแต่โทษคนอื่น หากสะสมคนในลักษณะนี้ไว้มากๆบริษัทก็จะล้มสลายอย่างไม่ต้องสงสัย
3.) แบบคนหัวดื้อ : เป็นคนที่ใจร้อน กระตือรือร้นมากเกินไป แต่มีความคิดที่ตื้นเขิน เมื่อมีไอเดียอะไรก็จะมุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างเดียว เป็นลักษณะของคนที่จะสร้างเรื่องใหม่ๆขึ้นมาเสมอ แต่มักจะไม่มีความรับผิดชอบให้งานเสร็จสิ้นไปได้ เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเขาจะพร้อมที่ถอยออกห่างจากงานนั้นๆ และไม่สนใจอะไรเลยเหมือนตัวเองไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆเลย
4.) นักแก้ปัญหา : เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูงมีความคิดว่าตัวเองเป็นบริษัท ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับตัวเองเสมอ เป็นคนที่มีความสามารถ กระตือรือร้น และเสียสละ(เอาปัญหาของคนอื่นมารับผิดชอบ)
ในหนังสือได้กล่าวถึงกรณีศึกษาของบริษัท JAL กับเทคนิคการบริหารของนาย อินาโมริ คะซึโอะ (Inamori Kazuo) ที่ผมชอบมากและคิดว่าเทคนิคการบริหารของเขาค่อนข้างจะไม่เหมือนผู้บริหารระดับสูงโดยทั่วไปจะทำได้ (สนใจไปลองหาอ่านเพิ่มเอานะครับ หน้า 34~43) ต้องยอมรับเลยว่า เพราะหัวข้อนี้ทำให้ผมอยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้
อย่าให้ความรู้สึกว่าทำไม่ได้มาสร้างข้อจำกัดให้กับบริษัท น่าเสียดายที่ยังมีหัวหน้างานอีกจำนวนไม่น้อยที่มักจะมีความคิดว่า "ทำไม่ได้หรอก" อยู่ในใจเสมอ เมื่อหัวหน้างานเองมีความคิดแบบนี้แล้ว เราก็สามารถเดาได้ไม่ยากว่าทีมงานทั้งหมด ก็จะมีความคิดว่าทำไม่ได้ฝังอยู่ในหัวเหมือนกัน ดังนั้นเราจะต้องมีพื้นฐานความคิดว่า "ทำได้" แล้ววิธีการก็จะค่อยๆหลั่งไหลออกมาเอง เราจะต้องฝึกคิดว่า "ถ้าฉันทำไม่ได้นี้สิ แปลก"
จงคิดจนกว่าจะได้รับคำตอบ เราต้องฝึกที่จะคิดให้รอบด้าน คิดอย่างรอบคอบ เพราะความคิดที่รอบคอบนั้นจะช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันปัญหาต่างๆออกไปได้
การทำงานจริงๆแล้วคือการท้าทายขีดจำกัด เพราะในการทำงานทุกอย่างจะมีข้อจำกัดเสมอ ทั้งในเรื่องเวลา เงิน กำลังคน และข้อมูล โดยในหนังสือได้มีบทความที่น่าสนใจของบริษัท นิเด็ค คอร์ปอเรชั่น กับวิธีการในการรับมือกับปัญหา ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ (หน้า 81 ~ 86 น่าอ่านมาครับ และในส่วนของหน้า 187 ~ 191)
จงอย่าพอใจกับความสำเร็จของตัวเองในอดีต (ตัวอย่างเช่นการล้มลงของบริษัทโนเกีย) เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราหยุดพัฒนา เราก็เริ่มที่จะถดถอยลงแล้ว โดยบริษัทที่มีความพอใจกับความสำเร็จในอดีตจะมีลักษณะพิเศษคือ มีฟองอากาศอยู่เต็มพื้นที่ มีตำแหน่งต่างๆมากมาย การตัดสินใจมีลำดับขั้นตอนมาก และเป็นไปอย่างเชื่องช้า การร่วมมือระหว่างแผนกก็หายไป การเสนอความคิดใหม่ๆก็ไม่เกิดขึ้น
งานของผู้นำแท้จริงแล้วคือการดูแลหน้างาน เพราะพนักงานระดับล่างที่ดูแลหน้างานจริงนั้น สามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างปัญหา และผู้สร้างความสำเร็จ การที่ผู้นำไม่ได้ลงไปดูหน้างานจริงนั้นจะทำให้ไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ การบริหารงานที่ดีคือ การบริหารความเร็ว ผู้นำต้องสามารถที่จะตอบสนองสิ่งที่เกิดขึ้นที่หน้างานด้วยความรวดเร็วทันเวลา
เป็นหนังสือที่อ่านสนุกดีครับ น่าอ่านมาก มีการยกกรณีศึกษาที่เป็นปัจจุบันทำให้เราสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่ทำงานแล้วเวลาอ่านจะนึกภาพออกเป็นฉากๆเลยที่เดียว เป็นหนังสือที่ต้องอ่านเลยครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา