20 พ.ค. 2019 เวลา 05:16 • ประวัติศาสตร์
The legend of Philosopher คนที่​ 4 : Socrates
2
"I cannot teach anybody anything, I can only make them think"
"ฉันสอนใครไม่ได้หรอก ฉันทำได้แค่ทำให้เขาคิดได้เท่านั้น"
-โสกราตีส-
ผู้วางรากฐานปรัชญาตะวันตก
ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ของเพลโต
ทั้งเพลโตและอริสโตเติล คงจะไม่มีทางเติบโตเป็นสุดยอดนักปรัชญาของโลกเลยหากไม่มีเขาผู้นี้ผู้เป็นรากฐานในการริเริ่มความคิดทางด้านปรัชญา
-ประวัติโดยย่อ-
โสกราตีสเกิดที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ พ่อเป็นช่างเจียระไนอัญมณี เมื่อวัยเด็กได้รับการศึกษาแบบชาวกรีกในสมัยนั้น
เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม ชาวสปาร์ตา ยกกองทัพมารุกราน โสกราตีสได้สมัครเป็นทหารไปรรบและสร้างวีรกรรมที่สำคัญคือการช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งให้รอดชีวิตกลับมา ถึงแม้ว่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่โสกราตีสก็ได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก
หลังจากจบสงครามก็ได้แต่งงานกับภรรยา และมีบุตรด้วยกัน 4 คน โดยภรรยาของเขานั้นเป็นคนอารมณ์ร้าย ขอบดุด่าและพร่ำบ่น เขาเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเขาสามารถทนอยู่กับภรรยาของเขาได้ ก็สามารถอยู่กับคนทั้งโลกได้เช่นกัน
บั้นปลายของโสกราตีสนั้นจบไม่สวยงาม ถูกตัดสินประหารชีวิตจากศาลเอเธนส์
-ความรู้ คือคุณธรรม-
"ความคิดเกิดจากสิ่งที่รู้ เมื่อเข้าใจสิ่งที่รู้ จึงมั่นใจในสิ่งที่คิด"
โสกราตีสเป็นอัจฉริยะที่ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญของชีวิต การดำเนินชีวิตของบุคคล และพื้นฐานที่จะทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบและยืนยาว คือสมาชิกของชุมชนจะต้องมีสัจจะ ความงาม และความยุติธรรม
คุณธรรมและความดีงามต้องอาศัยหลักการทางจริยธรรมที่ว่าคุณธรรมคือความรู้ ความชั่วคือความมืดมน ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ใช้เหตุผล และปัญญาในการแสวงหาสัจธรรมและคุณธรรม
การดำเนินชีวิตตามหลักการนี้ต้องทำอย่างไม่มีเงื่อนไข "ชีวิตที่ปราศจากการตรวจสอบเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณค่าเพียงพอแก่การดำรงอยู่" ความดีงามต้องเป็นสากลโลก เป็นสิ่งที่เป็นจริงไม่ใช่มนุษย์กำหนดให้มีคุณค่า ความรู้กับคุณธรรมเป็นของคู่กัน เมื่อรู้จริงก็ต้องทำดี ดังอมตะวาทะที่ว่า "Knowledge is virtue" ความรู้ คือคุณธรรม
โสกราตีสมีความเชื่อว่า คนชั่วทำผิดเพราะความไม่รู้ ถ้าเขารู้ว่าผิดเขาคงไม่ทำ การไม่รู้คือความโง่เขลาเบาปัญญา จึงไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ส่วนผู้มีปัญญาย่อมจำแนกได้ว่าสิ่งที่ดีจะให้ผลตอบแทนที่ดี สิ่งที่ไม่ดีจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี คนมีปัญญาจึงเลือกทำแต่สิ่งที่ดี
-การแสวงหาความรู้-
โสกราตีสเป็นคนที่ใฝ่รู้เอามากๆ โดยวิธีที่ทำให้เขาหาคำตอบของสิ่งต่างๆได้นั้น คือวิธีการ "ตั้งคำถาม" เมื่อเขาสงสัยในเรื่องใดๆ เขามักจะไปหาผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ และไปสนทนาด้วย และตั้งคำถามกับผู้นั้น จนกว่าเขานั้นจะพอใจ
โสกราตีสมักตั้งปัญหาถามคนทั่วไปว่า คุณธรรมคืออะไร ?ความยุติธรรมคืออะไร ? แล้วท่านจะเริ่มสนทนาแบบถาม-ตอบ เพื่อหาคำจำกัดความ ท่านกระตุ้นคนอื่นให้คิดอย่างมีระบบและเฉียบแหลม เพื่อให้เกิดมโนภาพและคำจำกัดความของสิ่งเหล่านั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ท่านเรียกงานของท่านว่า “การผดุงครรภ์ทางปัญญา”(Intellectual Midwifery) เทคนิคการ “ผดุงครรภ์” ของท่านมีชื่อเรียกว่า “วิธีของโสคราตีส”(Socratic Method) วิธีนี้คือ ศิลปการสนทนาที่ท่านใช้ในการสนทนาให้ดำเนินไปสู่คำตอบของปัญหาที่กำลังอภิปรายกัน วิธีนี้มีชื่อเรียกโดยทั่ไปว่า”วิภาษวิธี”(Dialectic) ซึ่งประกอบด้วยลักษณะ 5 ประการ คือ
1) สงสัย (Sceptical)
2) สนทนา (Conversational)
3) หาคำจำกัดความ (Definitional)
4) อุปนัย (Inductive)
5) นิรนัย (Deductive)
ด้วยการถามตอบนี้นี่เอง นำพามาทั้งคุณและโทษให้แก่เขา
เพราะว่าเขามักจะต้อนผู้สนทนาจนมุมในหลายๆครั้ง จึงทำให้มีผู้คนที่ไม่พอใจเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งวิธีการของเขาเองนั้นก็ถูกเลียนแบบโดยกลุ่มลูกศิษย์ของเขา และแผ่ขยายไปทั่วทั้งกรุงเอเธนส์ จนทำให้มีคนใส่ร้ายเขาว่าเป็นผู้ทำให้ผู้คนกระด้างกระเดื่องต่อบ้านเมืองและไม่ศรัทธาต่อศาสนา ทำให้เขาถูกลงโทษถึงประหารชีวิตในเวลาต่อมา
-ยอมตายแต่ไม่ยอมทำผิด-
เมื่อถูกพิพากษาตัดสินให้มีความผิดว่า ขาดความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐและเป็นผู้ชักจูงเยาวชนไปในทางที่ผิดแล้วนั้น โสกราตีสได้รับการผ่อนผันให้คุมขังไว้ 1 เดือน ก่อนที่จะประหาร ในช่วงเวลานั้นเอง เหล่าบรรดาศิษย์ และคนสนิทได้เข้ามาเยี่ยมเยียน และกล่าวถึงแผนการที่จะพาโสกราตีสหนีออกไป แต่ทว่า เขากลับปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น เพราะเขาเห็นว่าเป็นการทำลายความถูกต้องตามกฎหมาย และประชาชนทุกคนต้องเคารพกฎหมาย
รูปภาพ​ Last days of Socrates
เมื่อมีผู้ถามว่า ทำไมท่านจึงไม่กลัวความตาย ท่านตอบว่า เพราะท่านเชื่อว่า “วิญญาณของคนเราเป็นอมตะ ถ้าท่านตาย วิญญาณของท่านจะกลับสู่สรวงสวรรค์ ยิ่งไปกว่านั้นเหตุเพราะท่านเป็นนักปรัชญา ท่านอธิบายว่า นักปรัชญา คือ ผู้ที่แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์ แต่นักปรัชญาไม่มีวันเข้าถึงความรู้ที่สมบูรณ์ ถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะวิญญาณของเขาถูกคุมขังอยู่ในร่างกายจึงขาดอิสรภาพในอันเข้าถึงสัจธรรม การประสบความตาย คือการได้ปลดปล่อยวิญญาณจากเครื่องพันธนาการ เมื่อนั้นวิญญาณจะเข้าถึงความรู้ที่สมบูรณ์ นักปรัชญาผู้แสวงหาความรู้ที่สมบูรณ์จึงไม่กลัวความตาย”
ปรัชญาเป็นรากฐานของวิถีการดำเนินชีวิต ปรัชญามิใช่เพื่อการสั่งสอน แต่เพื่อให้มนุษย์ค้นพบสิ่งที่ตนเคยรู้มาก่อน โดยที่ตัวเองไม่ทราบว่าไม่รู้ ก่อนที่จะเรียนรู้สิ่งใด ต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน คำพูดของโสกราตีสคือ "ฉันรู้อย่างเดียว คือ รู้ว่าฉันไม่รู้อะไร และจงรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อนที่จะไปแสวงหาความรู้จากที่อื่น"
Quote :
"True wisdom comes to each of us when we realize how little we understand about life, ourselves, and the world around us"
ความรู้ที่แท้จริงมากการที่พวกเราเริ่มตระหนักว่าเราเข้าใจชีวิต ของตัวเอง และโลกรอบๆตัวเราเพียงแค่เล็กๆน้อยๆ
"The easiest and noblest way is not to be crushing others, but to be improving yourselves"
วิธีที่ง่ายที่สุดและมีคุณธรรมที่สุด ไม่ใช่การทำลายใคร แต่มันคือการพัฒนาตัวเอง
"Worthless people live only to eat and drink; people of worth eat and drink only to live"
คนไร้ค่า มีชีวิตอยู่เพื่อกินและดื่มเท่านั้น ส่วนคนที่มีค่า กินและดื่มเพื่อให้มีชีวิตอยู่
ก็จบไปอีกคนและนะครับ สำหรับ นักปราชญ์คนสำคัญของโลกเรา
สำหรับ โสกราตีส ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งคุณธรรมแห่งโลกตะวันตก
ในสัปดาห์หน้าเราจะมาทำความรู้จักกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งคุณธรรมแห่งโลกตะวันออก
ลองทายกันสิครับว่าเป็นใคร
ที่มา
Wikipedia,และหนังสือ สุดยอดนักคิดผู้พลิกชะตาโลก
เรียบเรียง : ฉุดคิด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา