25 พ.ค. 2019 เวลา 15:02 • ประวัติศาสตร์
The legend of Philosopher คนที่​ 5 : ขงจื๊อ
บิดาแห่งคุณธรรมของโลกตะวันออก
ผู้ซึ่งวางรากฐานความเชื่อและความคิดต่างๆให้กับชาวจีนและชาวตะวันออก
"ขงจื๊อ"
-Confucius-
"สิ่งที่ตัวเราไม่ชอบ จงอย่าไปทำกับคนอื่น"
นักปรัชญาชาวจีน ผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่โด่งดังและเป็นที่นับถือไปทั่วโลก รอบรู้อย่างเชียวชาญในปรัชญา จนเกิดเป็นลัทธิ ที่ยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบัน
-ประวัติโดยย่อ-
ขงจื๊อ กำเนิดในยุค ที่ประเทศจีนยังไม่ถูกรวมเป็นปึกแผ่น(200 กว่าปี ก่อนหน้าจิ๋นซี ฮ่องเต้ผู้รวบรวมเจ็ดรัฐเป็นหนึ่ง) มีบิดารับราชการในแคว้นหลู่ บิดามีภรรยา 3 คน โดยขงจื๊อเป็นลูกของภรรยาคนที่ 3 เมื่ออายุ 3 ขวบ บิดาก็ได้เสียชีวิตไป เมื่อบิดาเสียชีวิต ก็ถูกกดขี่ข่มเหงจากภารรยาหลวงของบิดา มารดาขงจื๊อ จึงพาขงจื่อ ออกมาใช้ชีวิตตามลำพังสองแม่ลูก โดยได้ปลูกสอนความรู้การศึกษาให้กับขงจื๊ออย่างเต็มที่อย่างสุดความสามารถเท่าที่ตนเองจะทำได้
แต่แล้วเมื่อ ขงจื๊ออายุ 17 ปี มารดาก็ได้เสียชีวิต แต่ดีที่ตัวเขาศึกษาในด้าน จารีตประเพณี ขนมธรรมเนียม มาโดยตลอด จึงทำให้ได้เข้ารับราชการตั้งแต่ยังวัยเยาว์ โดยเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลคลังเสบียง แต่เมื่อมีงานมงคล หรือ งานอวมงคลใด ขงจื่อ ก็จะไปเป็นผู้ทำพิธีกรรมให้ด้วย
ด้วยความใฝ่รู้ของขงจื๊อ ก็ขยันศึกษาหาความรู้ให้กับตัวเองมาโดยตลอด และเริ่มมาสนใจเรื่องการเมือง การปกครอง เมื่ออายุ 20 จนในขณะนั้นได้ถูกยกย่องให้เป็น "ผู้รอบรู้และสันทัดในนิติธรรมเนียม"
วิธีที่ขงจื๊อใช้ในการหาความรู้ให้กับตนเองนั้น ก็คล้ายๆกับ โสกราตีสครับ คือการไปถกปัญหากับบรรดานักปกครองต่างๆนั่นเอง มีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า "สามคนร่วมเดิน จักต้องมีอาจารย์ของเราเป็นแน่ จงเลือกที่ดีเพื่อเอาอย่าง ส่วนที่ไม่ดีก็จงนำมาแก้ไขปรับปรุงตน"
ครั้งหนึ่ง เมื่อเจ้าผู้ครองแคว้นฉี พระนามว่า ‘ฉีจิ่งกง’ เดินทางมาเยือนแคว้นหลู่ พร้อมกับเสนาบดีผู้กระเดื่องนามในประวัติศาตร์นามว่า ‘เยี่ยนอิง’ ทั้งสองได้เชิญขงจื๊อเข้าพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง นั่นก็ทำให้ขงจื๊อยิ่งเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ขงจื๊อใช้ชีวิตอยู่แคว้นหลู่จนอายุได้ 51 ก็เกิดเหตุการณ์ การเมืองภายในแคว้นขึ้น เพราะด้วยความเจริญที่รวดเร็วของแคว้นหลู่นั่นเอง ทำให้มีหลายๆคนอิจฉาที่แคว้นหลู่มีขงจื๊ออยู่ และได้วางแผน ที่จะทำให้ขุนนางในแคว้นหลู่ ไม่ไว้ใจขงจื๊อ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ ในตอนที่ ขงจื๊ออายุได้ 54 ทำให้ขงจื๊อและบรรดาศิษย์ ต้องเดินทางออกจากแคว้นหลู่ไป
ขงจื๊อได้เดินทางไปยังแคว้นต่างๆ และก็ได้ให้ความรู้ของตนที่มีตามแต่ละแคว้น แต่ละแห่งที่ไป ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นไปอีก และมีผู้ติดตามมากกขึ้นเช่นกัน
ขงจื๊อเดินทางจนถึง อายุ 68 ปี ก็ได้กลับมาสู่แคว้นหลู่อีกครั้งหนึ่ง การกลับมาครั้งนี้ ได้ทำการเปิดโรงเรียนขึ้นมาและทำการรับลูกศิษย์เพื่อสั่งสอนวิชา กว่า 3,000 คน บั้นปลายชีวิตของเขาอยู่ในแคว้นหลู่ จวบจนสิ้นอายุขัย ที่อายุ 73 ปี
-การพบกันของสองบุคคลผู้ยิ่งใหญ่-
ในระหว่างช่วงที่ขงจื๊อ การเดินทางครั้งนี้ทำให้สองบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ได้มาเจอกัน นั่นก็คือ ขงจื๊อ ได้ พบกับ เล่าจื๊อ (ผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋า) นั่นเอง ในตอนนั้น ขงจื๊อมีความสับสนเป็นอย่างมากกับสิ่งที่ตัวเองได้เผชิญมา จึงได้นำปัญหาไปถกกับเล่าจื๊อ จนเป็นที่มาของประโยคในตำนานประโยคนี้ "อ่อนแอจึงรอด อ่อนโยนดำรงอยู่ ไม่มีอะไรอ่อนกว่าน้ำ แต่ไม่มีความเข้มแข็งใดทำลายน้ำได้ จงเป็นอย่างน้ำเถอะ" เมื่อได้สนทนากับเล่าจื๊อ ก็ทำให้ขงจื๊อเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้นและออกเดินทางด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่กว่าเดิม
การเดินทางเยือนผู้ปกครองของแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อแนะแนวทางการบริหารบ้านเมือง ขงจื๊อประสบกับอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสี ปองร้าย ควบคุมตัว และแนวความคิดก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากสวนทางกับสภาพบ้านเมืองและสังคมในขณะนั้นที่เจ้าครองแคว้นต่างคำนึงถึงผลประโยชน์แความอยู่รอดของแคว้นตน แต่ท่านก็ไม่ลดละความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นที่ต้องการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ดี ยินดีที่จะอุทิศตนเพื่อประชาชน ท่านกล่าวว่า “ผู้มีปณิธานและมนุษยธรรมจะไม่ทำลายมนุษยธรรมเพียงเพื่อแลกกับการมีชีวิต จะมีแต่อุทิศชีวิตตนเพื่อให้บรรลุมนุษยธรรม” นี่จึงเป็นที่มา ที่ทำให้ ท่านได้เป็น บิดาแห่งคุณธรรมของโลกตะวันออก
-ผลงานของขงจื๊อ-
งานทางด้านการเขียนของขงจื๊อปรากฏอยู่ในหนังสือ สังเขปการสอนของขงจื๊อ หรือที่จีนเรียกว่า “หลุน-อฺวี่” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกและเรื่องราวต่าง ๆ เช่น คำพูด คำสอนของขงจื๊อและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลูกศิษย์ของท่านได้ช่วยกันงรวบรวมขึ้นหลังจากการจากไปของขงจื๊อส่วนวรรณกรรมที่ท่านได้รวบรวมขึ้นมีดังนี้
1. ชุนชิว
2. ซือจิง
เป็นหนังสือเกี่ยวกับบทกวีนิพนธ์ต่าง ๆ หนังสือเล่มนี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ Song of Solomon ในคัมภีร์ไบเบิ้ล โคลงต่าง ๆ เป็นเพลงพื้นเมืองที่ร้องกันในสมัยแรก ๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นบทพรรณนาถึงหนุ่ม ๆ สาว ที่กำลังร้องรำทำเพลงและเล่นหยอกล้อกันด้วยความเสน่หาในฤดูใบไม้ผลิและในฤดูเก็บเกี่ยว
3. ซูจิง
เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ารวมโดยขงจื๊อเอง ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างลึงซึ้ง เป็นการประมวลคำปราศรัย คำสัตย์ปฏิญาณในพิธีกรรม
4. อิ้จิง
เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นตำนานลึกลับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์และพลังแห่งจุดหมายปลายทาง เป็นงานชิ้นแรกซึ่งได้รับความนิยมและจัดเข้าเป็นขั้นคลาสิคในสมัยต่อ ๆ มา ลักษณะเด่นตำราเล่มนี้คือ ปากัวหรือรอยสลักแปดตัวซึ่งโหรจีนให้ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ และเอ้อหยา ซึ่งเป็นปทานุกรมฉบับแรกที่พยายามอธิบายความมืดมนของตำราว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและตำราว่าด้วยพิธีกรรม
5. หลี่จี้
เป็นหนังสือเกี่ยวกับพิธีการต่าง ๆ เป็นการสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น วิธีที่ควรจะถือและเหนี่ยวคันศรในระหว่างที่แสดงศิลปะของสุภาพบุรุษในการยิง นอกจากนั้นก็กล่าวถึงการเรียกอันยิ่งใหญ่และทฤษฎีแห่งมัชฌิม
เมื่อพวกมองโกลเข้ายึดจีนได้ในราว ค.ศ. 1278-1368 จักรพรรดิกุบไล่ข่านก็มิได้ขัดขวางลัทธินี้ ทรงยึดหลักของขงจื๊อ ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหม็งได้พยายามล้มล้างอิทธิพลของพวกมองโกล และรื้อฟื้นการตั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ตลอดจนมีพิธีการบูชาขงจื๊อและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาตำราขงจื๊อเป็นอย่างมาก
สมัยราชวงศ์เหม็งได้รื้อฟื้นการสอบแบบขงจื๊อคือเปิดให้มีการสอบชั้นสูงถึง 89 ครั้ง มีผู้สอบผ่านการสอบชั้นสูงเพียง 280 คน มีการยกส่วนต่าง ๆ ของตำราขงจื๊อมาเขียนตีความและวิจารณ์ โดยยึดแบบของชูชีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้องเป็นหลัก
ลัทธิขงจื๊อนี้มีชื่อเสียงมาก และเผยแพร่เข้าไปในหมู่พวกแมนจูโดยพวกแมนจูใช้หลักของขงจื๊อในการปกครองจีน จะเห็นได้ว่าไม่ว่าพวกมองโกลหรือแมนจูก็ตามที่มีอำนาจยึดครองจีนได้ ต่างก็ตระหนักดีว่า การที่จะปกครองจีนได้จะต้องธำรงไว้ซึ่งอารยธรรมตลอดจนลัทธิขงจื๊อที่ชาวจีนยึดถือปฏิบัติกัน
-คำสอนของขงจื๊อ-
เป็นหัวข้อที่ผมต้องบอกก่อนเลยว่า เขียนในบทความนี้ไม่หมดครับ เพราะมีหนังสือกันเป็นเล่มๆเลยทีเดียว แต่คัดมาให้ส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้รู้กัน
ด้านบุคคล
ขงจื๊อเชื่อว่า ความเจริญหรือความเสื่อมของโลก ของสังคมเกิดมาจากปัจเจกชนหรือแต่ละบุคคลเป็นรากฐาน เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องพัฒนาคนให้ดีเสียก่อน แล้วสังคม ประเทศ ตลอดถึงโลกก็จะดีขึ้นตามโดยอัตโนมัติ ขงจื๊อเชื่อว่า การที่จะเป็นคนดีได้นั้น ประการแรก จะต้องได้รับการศึกษา การได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเท่านั้น จะศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองก็ได้ เมื่อคนมีการศึกษาก็จะทำให้ฉลาด รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นไปเพื่อความเจริญ อะไรเป็นไปเพื่อความเสื่อม เมื่อรู้แล้วก็จะหาทางหลีกเลี่ยงความเสื่อมแล้วดำเนินไปสู่ความเจริญ
ด้านการเมือง
ขงจื๊อเชื่อว่า การที่จะสร้างให้เป็นคนดี ประการแรกจะต้องให้การศึกษาอบรมเสียก่อน วิชาที่ขงจื๊อสอนมีหลายวิชา หรือที่เรียกว่าศาสตร์ทั้ง 6 ซึ่งก็มีประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา นิติธรรมเนียม กวีนิพนธ์ ดนตรี เพราะนิติธรรมเนียมประเพณีตลอดถึงมารยาททางสังคมเป็นแนวทางให้คนดำเนินไปสู่ความเป็นอารยชนเป็นคนเมือง มิใช่คนป่า ส่วนวิชากวีนิพนธ์ก็เพื่อให้ใจเห็นความงามและเป็นระเบียบ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจนำไปสู่การคิดคำนึงถึงความทรงจำเก่า ๆ ทั้งเป็นการเสริมสร้างการสมาคมและเป็นการระบายความไม่สมหวังของคนได้ด้วย ส่วนวิชาดนตรีก็เพื่อให้ซาบซึ้งถึงความไพเราะ ความกลมกลืนกัน ดนตรีมิเพียงแต่ทำความรู้สึกนึกคิดให้กลมกลืนกันเท่านั้น แต่ยังนำความสับสนวุ่นวายของสังคมไปสู่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย วิชาทั้ง 3 นี้ เป็นไปเพื่อกล่อมเกลาใจคนให้อ่อนโยนละมุนละไม เหมาะที่จะปลูกให้มีคุณธรรมต่อไป ขงจื๊อได้กล่าวว่า “อุปนิสัยของคนอาจปลูกฝังขึ้นได้ด้วยกวีนิพนธ์เสริมสร้างให้มั่งคงด้วยจารีตประเพณี และทำให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี”
ขงจื๊อเชื่อว่า หากได้ผู้นำที่ดีเด่นทั้งความรู้และคุณธรรมมาปกครองประเทศแล้วไซร้ ก็จะบันดาลความผาสุกและเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่พลเมืองได้เป็นแน่แท้ ขงจื๊อให้ความสำคัญต่อผู้นำประเทศชาติมาก เป็นกัปตันที่จะพารัฐนาวาไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง เพราะความรู้ความสามารถและคุณธรรมที่สูงส่งของผู้นำบันดาลให้เกิด ทั้งความดีของผู้นำก็ช่วยดึงดูดจิตใจของพลเมืองให้เอาแบบอย่างด้วย ขงจื๊อได้วางหลักสูตรสำหรับผู้ปกครองไว้ 9 ประการ คือ
1. การอบรมตนให้มีคุณธรรม
2. การยกย่องผู้มีความรู้ความสามารถ
3. การปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด ตามความสามารถเหมาะสมกับฐานะบุคคลในสังคม
4. การยกย่องขุนนางผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในแผ่นดิน
5. การแผ่พระคุณไปในหมู่ขุนนางผู้น้อง
6. การแผ่ความรักไปในหมู่ราษฎร ดุจบุตรธิดาในอุทร
7. การสนับสนุนส่งเสริมศิลปวิทยาและอาชีพต่าง ๆ ให้เจริญ
8. การต้อนรับชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายหรือสวามิภักดิ์
9. การผูกมัดน้ำใจเจ้าครองนครทั้งหลายด้วยไมตรี
-อิทธิพลของคำสอนและปรัชญาของขงจื๊อ-
ด้วยสิ่งที่ขงจื๊อได้ ทำตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง ได้เป็นการสร้างรากฐานแห่งภูมิปัญญาให้กับบุคคลต่างๆมากมายจนทำให้เป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาในตัวของขงจื๊อ จนเกิดการรวมตัวของผู้ศรัทธาเหล่านั้น เป็น ลัทธิ ขงจื๊อ หรือ ศาสนา ขงจื๊อ ขึ้นมา ซึ่งก็จะนำคำสอนและหลักการต่างๆของขงจื๊อมายึดถือปฎิบัติ และมีการเรียนรู้ส่งต่อ จากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงในยุคปัจจุบัน
Quote :
"สี่สิ่งในโลก ที่เงินซื้อไม่ได้ คือ ความรัก เวลา ชีวิต และมิตรแท้"
"รู้ก็บอกว่ารู้ ไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ จึงเป็นคนฉลาด"
"ไม่ต้องเป็นห่วงคนอื่นที่ไม่เข้าใจเรา แต่ต้องเป็นห่วงเราที่ไม่เข้าใจคนอื่น"
1
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับ นักปรัชญาตะวันออกคนแรก (จริงๆแล้วเด่นๆมีน้อยมากครับ)
รอพบกันในบทความหน้าสำหรับคนต่อๆไปครับ
ที่มา​:
Wikipedia

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา