21 พ.ค. 2019 เวลา 13:32 • ประวัติศาสตร์
ฆ้องชัยมงคลโบราณ และงาช้างเจ้าหลวงเชียงใหม่
ฆ้องชัยมงคลและงาช้างเจ้าหลวง ของพลตรีแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ และเป็นสมบัติของเจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ (โอรส) โดยสืบทอดต่อมาถึงผู้เป็นบุตรคือ เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่ (นัดดา) ซึ่งได้ทำการมอบให้หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เพื่อแสดงความรำลึกถึง คุณสักก์ดนัย ณ เชียงใหม่ ผู้วายชนม์
ฆ้องชัยมงคลโบราณ และงาช้างเจ้าหลวง
ใบฆ้องมีความกว้างขนาด ๗๐ ซม. ด้านหน้าลงรักปิดทองลายพรรณพฤกษา ด้านบนปรากฎอักษรพระนามย่อ อ.ก.น. หมายถึง "อิ่นแก้วนวรัฐ" ซึ่งระบุปีที่สร้างคือ พ.ศ. ๒๔๗๐ ด้านหลังตัวฆ้อง ลงรัก ลงชาด ปิดทองลายนาคเกี้ยว โดยจะใช้ตีในพิธีสรงน้ำพระในวันพญาวัน (๑๕ เมษายน ของทุกปี)
ด้านหน้าลงรัก ปิดทองลายพรรณพฤกษา
ด้านบนระบุปีที่สร้างคือ พ.ศ. ๒๔๗๐
ด้านหลังลงรักลงชาด ปิดทองลายนาคเกี้ยว
ส่วนงาช้างเจ้าหลวงทั้ง ๒ กิ่ง มีความยาวกิ่งละ ๑๒๔ ซม. โค้งเข้ารูปบนฐานไม้สำหรับแขวนฆ้องชัยมงคล ซึ่งวัฒนธรรมไทยเชื่อว่า ช้างเป็นสัตว์มงคลคู่บ้านเมือง งาช้างจึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องได้มาด้วยวิธีบริสุทธิ์คือ ช้างล้ม หรืองาช้างหักจากการต่อสู้ หากฆ่าเพื่อเอางา ช้างจะสาปแช่งลงงานั้น ทำให้ผู้ครอบครองเจอแต่ความอัปมงคล
งาช้างทั้ง ๒ กิ่ง มีความยาวกิ่งละ ๑๒๔ ซม.
ปัจจุบัน ฆ้องชัยมงคลโบราณและงาช้างเจ้าหลวง ได้จัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมที่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ที่มาของข้อมูล : พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ถ.พระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ภาพ/เรียบเรียง : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา