2 ก.ย. 2019 เวลา 10:18 • ประวัติศาสตร์
หน้าบันที่สวยที่สุดในล้านนา วัดพันเตา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หน้าบันอยู่เหนือซุ้มประตูทางเข้าวิหารวัดพันเตา
หน้าแหนบ (หน้าบัน) วิหารวัดพ้นเตา เป็นหน้าแหนบ (หน้าบัน) ไม้แกะสลักในแบบฝีมือช่างหลวงที่สวยงามที่สุดในล้านนา ประดับอยู่ที่หน้าวิหารวัดพันเตา ซึ่งเป็นวิหารไม้สัก ที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ให้รื้อหอคำหรือคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๕ ที่เหลืออยู่อย่างสมบูรณ์เพียงหลังเดียวในล้านนา มาสร้างเป็นพระวิหารถวายวัดพันเตา ใน พ.ศ. ๒๔๑๙
แกะสลักด้วยลวดลายอันวิจิตร
หน้าแหนบ (หน้าบัน) นี้ สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทางช่างและภูมิปัญญา แกะสลักลวดลายเป็นซุ้มคล้ายซุ้มโขง โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมแบบเมียนมา
ตรงกลางเป็นรูปนกยูง ยืนเหนือมอม
มีลักษณะลวดลายในโครงสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นรูปนกยูงยืนเหนือรูปมอม (พาหนะของเทพปัชชุนนะ เทพผู้บันดาลให้เกิดฝน)
วานรแบกพญาลวง ๒ ตัว
กรอบของรูปวานรแบกพญาลวง ๒ ตัวไว้ทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งพญาลวงในแต่ละข้าง จะใช้หางค้ำรูปแบบจำลองปราสาท (พญาลวงคือสัตว์ในตำนานชนิดหนึ่ง ที่มีปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมล้านนาเกือบทุกประเภท ซึ่งพญาลวงจะมีขาสี่ขา เป็นการผสมสัตว์ทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันคือ มังกร และงูหรือนาค)
ฐานซุ้มเป็นท่อนไม้แปดเหลี่ยม
ส่วนฐานของรูปซุ้ม ทำเป็นท่อนไม้แปดเหลี่ยม สลักลวดลายประจำยาม ซึ่งทำปลายเสาทั้ง ๒ ข้างเป็นรูปหัวเม็ด โดยมีหงส์ขนาดเล็กยืนประกอบทั้ง ๒ ข้าง สวยงามมากๆ
สมบูรณ์ และสวยงาม มองไม่เบื่อ
นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสถาปัตยกรรม ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะผ่านกาลเวลามาแล้วกว่าร้อยปี หากมีโอกาสผ่านไปแถววัดพันเตา จ.เชียงใหม่ ลองแวะซักครั้ง เข้าไปชมความสวยงามของศิลปกรรมไม้แกะสลักชิ้นนี้ ที่ยังสมบูรณ์และสวยงามที่สุดในล้านนา
ที่มาของข้อมูล : วัดพันเตา ถ.พระปกเกล้า ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ภาพ/เรียบเรียง : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา