28 พ.ค. 2019 เวลา 10:30 • การศึกษา
“10 เรื่องที่นายจ้างไม่เคยบอกให้รู้ !!”
1. สัญญาจ้างทำด้วยวาจาก็ได้ เพียงแต่ต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่าลูกจ้างตกลงทำงานให้กับนายจ้าง และนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง โดยค่าจ้างต้องจ่ายเป็นเงินเท่านั้น (จ่ายเป็นกล้วยไม่ได้ 😂😂😂)
2. นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่กรณีที่กฎหมายกำหนด และหักได้ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด
3. นายจ้างไม่มีสิทธิเรียก รับ หลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ สภาพของงานที่ลูกจ้างทำนั้นเกี่ยวข้องกับเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
4. เมื่อสิ้นสุดการจ้าง หรือสัญญาประกันสิ้นสุดลง นายจ้างต้องคืนหลักประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน ถ้าคืนช้า นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่ผิดนัด
5. ถ้านายจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดกฎหมายกำหนด คือ เดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งสำหรับการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเวลาอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน (เว้นแต่นายจ้าง ลูกจ้างจะตกลงกันเป็นผลดีกว่าที่กฎหมายกำหนด) หรือค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยพิเศษ นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่ผิดนัด
6. จากข้อ 4, 5 ถ้านายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร เมื่อพ้นกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ถึงกำหนดคืนหรือจ่าย นายจ้างต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน
7. เมื่อลูกจ้างลาออกโดยได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้นายจ้างรับทราบล่วงหน้าการจ่ายค่าจ้างงวดหนึ่งแล้ว เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างครั้งต่อไปต้องถือว่าการลาออกมีผลตามกฎหมายแล้ว แม้นายจ้างจะไม่อนุมัติให้ออกก็ตาม
8. สังเกตมั้ยว่า การทดลองงานส่วนใหญ่จะใช้เวลา 119 วัน เพราะหากลูกจ้างทำงานครบ 120 วันแล้วแม้นายจ้างไม่พอใจผลการทดลองงานและเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างตามกฎหมาย (กฎหมายกำหนดสิทธิขั้นต่ำที่จะได้ค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 120 วัน)
9. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปีมีสิทธิลาพักร้อนได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน ถ้านายจ้างให้วันลาพักร้อนลูกจ้างน้อยกว่านี้ถือว่าผิดกฎหมาย (แต่ให้มากกว่าได้) แต่การสะสมวันลาพักร้อนเพื่อนำไปใช้ในปีถัดไปเป็นสิทธิที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างหรือไม่ก็ได้
10. ถ้านายจ้างเลิกจ้าง (ยกเว้นการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างกระทำความผิด) นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง สำหรับวันลาพักร้อนในปีที่เลิกจ้างตามสัดส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และรู้หรือไม่ว่า
การเกษียณ (ตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดนะ ไม่ใช่อยากออกมาเอง) ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยนายจ้าง ลูกจ้างที่เกษียณจึงมีสิทธิรับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักร้อนที่เหลือ และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานด้วย
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา