2 ส.ค. 2019 เวลา 12:14 • การศึกษา
“ถูกนายจ้างลดค่าจ้างหรือปรับตำแหน่งงานให้ต่ำลง หากลูกจ้างไม่ได้โต้แย้งอะไร นายจ้างสามารถทำได้หรือไม่ ?”
เรื่องนายจ้างลดค่าจ้าง หรือโยกย้ายตำแหน่งของลูกจ้างให้ต่ำลง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนแทบจะเป็นปกติของสังคมการทำงานมาโดยตลอด......
Cr. pixabay
ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว นายจ้างไม่มีสิทธิปรับลดค่าจ้างหรือโยกย้ายตำแหน่งของลูกจ้างให้ต่ำลงโดยที่ลูกจ้างไม่ให้ความยินยอมได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่ลูกจ้าง
หากลูกจ้างไม่ให้ความยินยอมแล้วนายจ้างย่อมไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวได้
ถ้านายจ้างได้ดำเนินการไปโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอมแล้ว ถือว่าคำสั่งดังกล่าวของนายจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลบังคับแก่ลูกจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามได้และไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง
1
Cr. pixabay
ทีนี้ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ ลูกจ้างส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าปฏิเสธการถูกปรับลดค่าจ้างหรือตำแหน่งงาน เนื่องจากเกรงว่าอาจถูกเพ่งเล็งให้ไปวิจัยฝุ่นเป็นรายต่อไป
เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ปฏิเสธหรือแสดงออกอะไรซักอย่างที่แสดงให้เห็นว่าตนไม่ยอมรับข้อเสนอ (จริง ๆ แล้วถูกบังคับนั่นแหละ) ของนายจ้างและยอมรับค่าจ้างหรือตำแหน่งงานที่ต่ำลงกว่าเดิม อย่างนี้จะถือว่านายจ้างทำผิดกฎหมายหรือไม่
เรามาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาเรื่องนี้กัน
โจทก์ (ลูกจ้าง) ฟ้อง จำเลย (นายจ้าง) โดยอ้างว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลย ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2544 ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ค่าจ้างเดือนละ 195,000 บาท ประกอบด้วยเงินเดือน 190,000 บาท และค่าน้ำมันรถ 5,000 บาท
โดยตกลงให้โจทก์ครอบครองรถยนต์ประจำตำแหน่ง 1 คันและคนขับ 1 คน
Cr. pixabay
ต่อมา ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2545 จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง 100,000 บาท ค่าจ้างส่วนที่เหลืออีก 95,000 บาท จำเลยไม่จ่ายโดยไม่มีเหตุผล
ในระหว่างทำงานโจทก์ได้รับค่าจ้างเรื่อยมา แต่จำเลยไม่นำค่าจ้างจำนวน 95,000 บาท มาเป็นฐานในการปรับค่าจ้าง
ตำแหน่งสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้าง โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป อัตราค่าจ้างเดือนละ 180,062.24 บาท แต่เมื่อรวมค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายให้อีก 95,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 295,062.24 บาท
และตั้งแต่ทำงานจำเลยไม่เคยส่งมอบรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ
ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2554 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเดือนละ 95,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มทุกระยะเวลา 7 วัน เป็นเงิน 341,733,049.95 บาท
Cr. pixabay
โจทก์ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวและต้องว่าจ้างคนขับเองเป็นเวลา 10 ปี 2 เดือน 3 วัน คิดเป็นเงิน 6,832,000 บาท
นอกจากนี้โจทก์ไม่นำค่าจ้าง 95,000 บาท มาคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจึงต้องรับผิดค่าชดเชยที่จ่ายไม่ครบ 950,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้า 95,000 บาท เงินโบนัส ฯลฯ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 5,501,244.80 บาท พร้อมดอกเบี้ย
1
Cr. pixabay
ศาลแรงงาน พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์
(คดีแรงงานมีลำดับชั้นศาลเพียง 2 ศาล คือ ศาลชั้นต้น และศาลฎีกา ดังนั้น การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยศาลฎีกา)
1
“ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติและวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ส่วนที่จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 100,000 บาท นับแต่เดือนกรกฎาคม 2545 เป็นต้นไปนั้น หากจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ครบ โจทก์น่าจะโต้แย้งต่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยหรือโต้แย้งไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลย
หากจำเลยยังเพิกเฉย โจทก์น่าจะร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือทวงถามหรือร้องทุกข์หรือร้องเรียนไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลย หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน
1
ประกอบกับจำเลยย้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งต่างๆ และปรับเปลี่ยนอัตราเงินเดือนโจทก์มาโดยตลอด จนกระทั่งครั้งสุดท้ายได้รับเงินเดือน 180,062.24 บาท โจทก์ก็รับเงินเดือนในอัตราที่ปรับเปลี่ยนโดยไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน
1
จึงรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้มีการตกลงปรับเปลี่ยนตำแหน่ง และกำหนดเงินเดือนกันใหม่ให้เหมาะสมตามที่จำเลยนำสืบ และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบตามข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว จำเลยจึงไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์
Cr . pixabay
ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ จำเลยไม่ได้จัดหาให้โจทก์ตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลย โดยโจทก์ใช้รถยนต์โจทก์เองตลอดเวลากว่า 10 ปี
พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างตกลงกันโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างในเรื่องการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับรถ
และตามสัญญาจ้าง ปรากฏเพียงโจทก์มีสิทธิใช้รถยนต์ของบริษัทเท่านั้น แต่โจทก์กลับใช้รถยนต์ส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าใช้สอยรถยนต์ส่วนตัวเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งและค่าจ้างคนขับรถได้
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ขณะอายุ 63 ปี ซึ่งโจทก์ทำงานจนถึงอายุ 74 ปี ปรากฏในทางนำสืบว่าโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในตำแหน่งรักษาการผู้จัดการทั่วไป
จำเลยจึงนำเสนอโครงการเกษียณอายุการทำงานให้โจทก์และเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร ไม่อาจถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”
Cr. pixabay
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3017/2561)
📌 สรุป เรื่องนี้ศาลฎีกาพิจารณาว่า การที่นายจ้างปรับลดค่าจ้างและโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างโดยพลการ รวมถึงการที่ไม่จัดหารถยนต์ให้แก่ลูกจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้
หากลูกจ้างไม่เห็นด้วยก็ควรจะรักษาสิทธิของตนด้วยการปฏิเสธ หรือโต้แย้งไปยังนายจ้าง หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
การที่ลูกจ้างยอมรับสิทธิที่ต่ำกว่าข้อตกลงสภาพการจ้างโดยไม่ได้โต้แย้งเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ถือว่าเป็นการยอมรับการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างแล้วโดยปริยาย
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา