10 มิ.ย. 2019 เวลา 04:37 • บันเทิง
นกสีฟ้า กับการแสวงหาในโลกแห่งสัญลักษณ์
The Blue Bird จัดเป็นบทละครแนวสัญลักษณ์นิยมเรื่องแรกๆ ของโลกตะวันตก และเป็นบทละครแนวนี้ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนคือ โมริซ เมเตอร์ลิงก์ (Maurice Maeterlinck, 1862-1949) นักเขียนรางวัลโนเบลปี ค.ศ. 1911 และเป็นนักเขียนบทละครแนวสัญลักษณ์นิยมที่มีชื่อเสียงที่สุด
นกสีฟ้า
เมเตอร์ลิงก์เกิดที่เมืองเกนท์ ประเทศเบลเยี่ยม ในครอบครัวที่พูดภาษาฝรั่งเศส เขาศึกษาวิชากฎหมาย และเขียนนวนิยายกับบทกวีในช่วงเวลานี้
Maurice Maeterlinck
ภายหลังเรียนจบ เมเตอร์ลิงก์ก็เดินทางไปกรุงปารีส ที่นั่นเขาได้รู้จักกวีแนวสัญลักษณ์หลายคน และยังได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อศิลปะแนวสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ส่งอิทธิพลต่องานเขียนของเขา
เมื่อกลับเบลเยี่ยม เมเตอร์ลิงก์ทำงานเป็นนักกฎหมาย แต่ก็ยังไม่เลิกล้มความฝันที่จะเป็นนักเขียน เขาเขียนทั้งบทกวี บทความ แต่ผลงานที่ทำให้เขาได้รับการจดจำมากที่สุดกลับเป็นบทละครแนวสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง Pelleas and Melisande หรือ The Blue Bird ก็ตาม
ที่น่าสนใจก็คือ แม้ The Blue Bird จะเป็นบทละครแนวสัญลกัษณ์นิยมและเต็มไปด้วยอนุภาคแบบแฟนตาซี แต่ในโอกาสที่บทละครเรื่องนี้ได้รับการจัดแสดงครั้งแรกที่โรงละครศิลปะแห่งมอสโคว์ ในปี ค.ศ. 1908 ผู้สร้างละครเรื่องนี้กลับเป็นคอนสแตนติน สตานิลาฟสกี้ (Konstantin Stanilavsky) นักการละครชาวรัสเซียซึ่งเป็นบิดาแห่งทฤษฎีการละครแนวสัจนิยม อันเป็นแนวละครที่สวนทางโดยสิ้นเชิงกับละครแนวสัญลักษณ์ซึ่งจัดเป็นพวกต่อต้านสัจนิยม
เรื่อง The Blue Bird ถูกนำมาดัดแปลงเป็นนวนิยายในเวลาต่อมา โดยจอร์เจ็ต เลบรอง (Georgette Leblanc,1869-1941) นักแสดงสาวผู้เป็นภรรยาของเมเตอร์ลิงก์เอง (แต่ว่าต่อมาเขาก็เลิกรากับเธอไปแต่งงานกับนักแสดงสาวที่ชื่อเรอเน เดอ็อน) โดยในฉบับนวนิยายใช้ชื่อว่า The Children’s Blue Bird หรือ นกสีฟ้า ในฉบับภาษาไทย
เนื้อเรื่องกล่าวถึง ทิลทิล เด็กชายอายุสิบขวบกับ มิททิล น้องสาวอายุหกขวบ ทั้งสองเป็นลูกคนตัดไม้ยากจน ในคืนก่อนวันคริสต์มาส ทั้งคู่ต้องออกผจญภัยตามหานกสีฟ้าเพื่อนำมาช่วยชีวิตเด็กหญิงใกล้บ้าน โดยมีผู้ร่วมขบวนคือ น้ำ ไฟ แสงสว่าง หมาทิลโล แมวทิลเล็ต นม ขนมปัง และ น้ำตาล ซึ่งล้วนได้รับชีวิตจากหมวกวิเศษที่นางฟ้าเบรีลุนมอบให้
ทิลทิล กับ มิททิล พร้อมพลพรรคต้องเดินทางผจญภัยในดินแดนต่างๆ อาทิเช่น ดินแดนแห่งความทรงจำ ซึ่งทำให้พวกเขาได้พบปู่ย่าและพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว อาณาจักรแห่งอนาคตซึ่งพวกเขาได้พบหมู่เด็กสีฟ้าที่รอวันไปเกิด หรือป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้และสิงสาราสัตว์ที่ต้องการแก้แค้นมนุษย์
ระหว่างการผจญภัย ทิลทิลและมิททิล ได้พบนกสีฟ้าอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง บางครั้งนกสีฟ้ากลายเป็นนกสีอื่น บางครั้งกลายเป็นนกตาย และบางครั้งมันก็บินหนีไป กระทั่งในที่สุด เมื่อครบหนึ่งปี เด็กๆ ก็ได้กลับบ้านอีกครั้ง
นกสีฟ้า ฉบับนวนิยายแตกต่างจากฉบับบทละครตรงที่สลับเนื้อหาบางตอน และตัดฉากปราสาทแห่งความสุขทิ้งไป ทั้งที่เป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งของละคร ในฉากนั้นด็กๆ ได้พบกับตัวละครนามธรรมอย่างเช่น ความสุขหลายประเภท (เช่น ความสุขจากความเป็นอยู่ที่ดี ความสุขจากการได้ย่ำเท้าเปล่าลงบนน้ำค้าง) กลุ่มความปิติ (เช่น ความปิติจากความรักของแม่ ความปิติจากความเข้าใจ ความปิติจากการได้เห็นสิ่งสวยงาม ฯลฯ) เป็นต้น
ตัวละครเหล่านี้พยายามบอกเล่าความลับของชีวิต ชี้แนะให้ทิลทิลและมิททิลตระหนักในความมีอยู่ของพวกตนซึ่งรอคอยเด็กๆ มาโดยตลอด อาจเพราะเป็นเรื่องนามธรรมเกินไป ยากที่จะสื่อสารกับเด็กโดยปราศจากการแสดงประกอบ ทำให้เลบรองตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไป
ความแตกต่างที่สำคัญประการอีกหนึ่งระหว่าง นกสีฟ้า ฉบับบทละครกับฉบับนวนิยายอยู่ตรงที่ฉบับบทละครนั้นอธิบายเรื่องโดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวนำ และละทิ้งเหตุผลในการอธิบายเรื่อง ขณะที่ฉบับนวนิยายนั้นมีเสียงเล่าของผู้เขียน (ผู้ดัดแปลง) แสดงทัศนคติเรื่องการแสวงหาความสุข ทำให้พลังของการใช้สัญลักษณ์ลดน้อยลง ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งถือเป็นสิ่งเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสื่อแต่ละประเภทต่างมี ‘ไวยากรณ์’ ที่แตกต่างกัน บทละครถูกเขียนขึ้นมาสำหรับการจัดแสดง ขณะที่นวนิยายถูกเขียนเพื่อให้ผู้อ่านใช้จินตนาการ นี่เป็นเรื่องปกติของการแปลงสื่อ
เพียงแต่ใน นกสีฟ้า ฉบับนวนิยาย เลบรองออกจะถือวิสาสะอธิบายสิ่งต่างๆ มากไปสักหน่อย ราวกับต้องการสื่อสารให้เด็กเข้าใจเนื้อหาของเรื่องอย่างกระจ่าง แทนที่จะปล่อยให้ตัวละครได้โลดแล่น และผู้อ่านได้ตีความสารเอาเอง
กระนั้นแล้วก็มิอาจประเมินว่า นกสีฟ้า ฉบับนวนิยายด้อยคุณค่าด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ความโดดเด่นของบทละครและนวนิยายเรื่องนี้ไม่เพียงอยู่ที่การเป็นเรื่องแนวสัญลักษณ์เรื่องแรกๆ เท่านั้น หาก นกสีฟ้า ยังน่าจะเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กและเทพนิยายเรื่องแรกๆ ของยุโรปที่เสนอแนวคิดเรื่อง “เป้าหมายไม่สำคัญเท่ากระบวนการ” ขณะที่เทพนิยายอื่นๆ ล้วนกล่าวถึงความสุขสมหวังจากการแสวงหาวัตถุหรือการประกอบวีรกรรม (เช่น ทำความดี หรือไม่ก็ช่วยเจ้าหญิง) แต่ นกสีฟ้า กลับเสนอแนวคิดเรื่องความสุขภายในซึ่งสามารถพบได้ทุกอณูแห่งชีวิต
เวลาใดที่ตั้งใจคิดว่าจะหาความสุข เมื่อนั้นเราจะไม่พบความสุข แต่เมื่อใดที่ใช้ชีวิตอย่างตระหนักในความสุข เมื่อนั้นความสุขก็จะอบอวลอยู่รอบกาย
ในระหว่างที่ทิลทิลกับมิททิลอยู่กับปู่ย่าและพี่น้องในดินแดนแห่งความทรงจำ ทั้งคู่ต่างมีความสุขที่ได้กลับมาพบญาติพี่น้องที่จากไปแล้ว เวลานั้นเองที่พวกเขาได้พบนกสีฟ้า แต่ครั้นเมื่อตั้งใจจะเอานกสีฟ้าติดตัวกลับไป นกสีฟ้าก็กลายเป็นนกสีดำ และหมดคุณค่าสำหรับเด็กๆ ไปในทันที
ในครั้งต่อมา เด็กทั้งสองเผชิญหน้ากับราตรีในปราสาทราตรี ทิลทิลได้แสดงความกล้าหาญ เขาจึงได้พบนกสีฟ้าเป็นล้านๆ ตัว แต่เมื่อเกิดความต้องการครอบครอง (เพื่อนำกลับไปรักษาโรคเด็กหญิงใกล้บ้าน) นกสีฟ้าจึงกลายเป็นนกตาย
นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้พบนกสวยๆ ในสุสาน เพียงแต่มันไม่ใช่นกสีฟ้าอย่างที่เขาและเธอกำลังตามหากัน จะเห็นได้ว่าเด็กๆ พลาดโอกาสการได้นกมา เนื่องจากพยายามเจาะจงว่าจะต้องเป็นนกสีฟ้าเท่านั้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ทั้งคู่ละเลยความสำคัญของนกอื่นๆ ไป เมื่อนั้นทั้งสองจึงได้รับคำชี้แนะว่า
“ยามที่เจ้าตามหานกสีฟ้า เด็กน้อยเอ๋ย จงฝึกตนให้คุ้นเคยต่อการรักบรรดานกสีเทาที่เจอระหว่างทางด้วย” (หน้า 71)
การแสวงหานกสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ถึงการแสวงหาความสุข แต่ความสุขในทัศนะของผู้เขียนนั้น นอกจากเป็นสิ่งที่พบได้ทุกขณะชีวิตแล้ว มนุษย์ยังสามารถรื่นรมย์กับความสุขได้จากการผจญภัยและแสดงความกล้าหาญ การเรียนรู้ทั้งโดยการเชื่อฟังผู้อื่นและเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง นอกจากนี้ความสุขยังมาจากการแบ่งปันและไม่ต้องการครอบครอง
นกสีฟ้า แสดงนัยถึงการอยู่ร่วมกันของสรรพชีวิตที่แตกต่าง ในการเดินทางของทิลทิลและมิททิล จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ช่วยเหลืออย่างสุนัขทิลโล เสบียงกรังที่จำเป็นอย่างขนมปัง น้ำตาล และนม ธาตุที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างน้ำ ไฟ และแสงสว่าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ทรยศอย่างแมวทิลเล็ตร่วมอยู่ในขบวนการ
ตัวละครตัวหนึ่งที่สำคัญต่อเรื่องคือแสงสว่าง เธอมีบทบาทเป็นเสมือนทูตหรือผู้นำสาส์นของนางฟ้าเบรีลุน เธอรู้ความลับของการเดินทางครั้งนี้ทุกอย่างแต่ไม่บอกเด็กๆ ปล่อยให้เด็กๆ เรียนรู้ด้วยตัวเอง แสงสว่างยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการมองเห็น การตระหนักรู้ และรู้แจ้งในทุกสิ่ง และเป็นผู้กุมความลับแห่งการแสวงหาความสุข
ในช่วงเวลาแห่งการล่ำลา เด็กทั้งสองต้องกลับบ้าน ขณะที่สรรพสิ่งที่ร่วมเดินทางต้องสูญชีวิตไป น้ำได้บอกว่า “จงรักบ่อน้ำ ฟังเสียงของสายธาร...ข้าจะอยู่ในนั้นเสมอ และตอนเย็นๆ เมื่อเจ้านั่งลงข้างน้ำพุ จงพยายามเข้าใจว่ามันกำลังพูดอะไร...จงนึกถึงข้านะเวลาที่เจ้าเห็นขวดน้ำ...เจ้าจะเจอข้าเสมอในคนโท ในกระป๋องน้ำ ในถังเก็บน้ำ แล้วก็ก๊อกน้ำ...” (หน้า 169)
ขณะที่แสงสว่างก็บอกว่า “อย่าลืมว่าเรากำลังพูดกับเจ้าอยู่ในแสงจันทร์ที่ส่องฉายในแสงกระพริบของดวงดาว ในแสงอรุณรุ่งของทุกวัน ในตะเกียงทุกดวงที่มีคนจุด และในทุกความคิดอันดีงามใสสว่างในจิตใจของพวกเจ้า...” (หน้า 174)
ในทัศนะของผู้เขียน อาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด มีแต่สิ่งที่อยู่ “ระหว่างทาง” ความสุขมิได้เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นแสวงหา หรือการแสวงหาสำเร็จ หากอยู่ที่การมีสติตั้งมั่น และเสพสุขที่อยู่ในปัจจุบันขณะ ตระหนักรู้ถึงจิตวิญญาณของธาตุและสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว
การเข้าถึงความสุขที่เป็น “ความจริงแท้” นั้นไม่อาจไปถึงได้ด้วยเหตุผลหรือประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่ต้องได้มาจากความรู้สึกหรือสหัสฌาน (intuition) เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้นางฟ้าเบรีลุนจึงมิได้บอกเล่าวิธีการแสวงหาความสุขแก่เด็กทั้งสอง แต่ปล่อยให้พวกเขาได้เผชิญหน้ากับโลกแห่งสัญลักษณ์ ซึ่งกระตุ้นพวกเขาให้บังเกิดสหัสฌานหรือรู้ด้วยตนเอง ทิลทิลสามารถไขความลับของการแสวงหาความสุขได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อนกสีฟ้าบินหนีไปตอนจบเรื่อง พ่อหนูน้อยจึงกล่าวอย่างไม่สะทกสะท้านใจว่า “มันยังอยู่ในบ้าน เดี๋ยวเราก็หาเจอ” และย้ำอีกครั้งว่า “ตอนนี้พี่รู้แล้วว่ามันอยู่ที่ไหน” (หน้า 186)
วรรณกรรมแนวสัญลักษณ์เรื่องนี้อาจมิได้ใช้สัญลักษณ์ซับซ้อนดังวรรณกรรมยุคปัจจุบัน ซึ่งมักมีค่านิยมในการสร้างสัญลักษณ์ที่ผู้อ่านไม่สามารถตีความได้ ราวกับว่าหากผู้อ่านตีความไม่ได้ก็ยิ่งเป็นการอวดความสามารถของผู้เขียน
นกสีฟ้าที่โบยบินอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ราวกับเป็นวัจนะของเมเตอร์ลิงก์ที่บอกเรามาร้อยปีแล้วว่า ความสุขมิได้ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมหรือเศรษฐกิจ แท้ที่จริงแล้วพวกเราล้วนใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งสัญลักษณ์
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรกับ ‘นกสีฟ้า’ ที่พบเห็นตามรายทางของชีวิต ความลับของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขล้วนมีเพียงเท่านี้เอง
หมายเหตุ
ปรัชญาแบบสัญลักษณ์นิยมเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่าโลกมีอำนาจเร้นลับมหัศจรรย์บางอย่าง ซึ่งมนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยหลักเหตุผลทั่วไป ศิลปะแนวนี้โดยเฉพาะวรรณกรรมและการละครต้องการนำคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์แบบสมัยโบราณมาใช้ ด้วยเหตุนี้เรื่องราวในสกุลสัญลักษณ์นิยมแต่เริ่มแรกจึงเดินเรื่องในท่วงทำนองเดียวกับเทพนิยาย เรื่องเล่าเชิงจินตนาการ รวมทั้งนำสัญลักษณ์มาใช้เพื่อถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ โดยผ่านทางฉาก ชื่อสถานที่ เครื่องแต่งกาย คำพูดของตัวละคร เป็นต้น
ข้อความในหนังสือที่ยกมาประกอบบทความทั้งหมด อ้างจาก นกสีฟ้า โดย โมริซ เมเตอร์ลิงก์ แปลงเป็นนวนิยายโดย มาดาม โมริซ เมเตอร์ลิงก์ แปลโดย “น้ำค้าง” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เรือนปัญญา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา