22 ก.พ. 2019 เวลา 04:54 • บันเทิง
เรียนรู้ที่จะรักษ์โลกแบบติสตู นักปลูกต้นไม้
เรื่องของ ติสตู นักปลูกต้นไม้ ไม่ต่างจากเทพนิยายส่วนใหญ่ที่เปิดเรื่องด้วยตัวละครเอกเกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยความขัดแย้งบางอย่าง ทำให้เขาถูกขจัดออกไปจากความสมบูรณ์แบบนั้น
ในระหว่างผจญภัยเขาก็ได้เกิดการเรียนรู้ ช่วยขจัดความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ ก่อนที่เรื่องจะจบอย่างมีความสุข
เด็กชายติสตูเกิดมาในครอบครัวอันแสนอุดมสมบูรณ์ มีคุณพ่อหล่อเหลา คุณแม่แสนสวย อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ พร้อมกิจการโรงงานผลิตปืนของคุณพ่อ
แต่แล้วภายหลังจากที่เด็กน้อยติสตูมีปัญหากับการศึกษาในระบบ คุณพ่อก็ส่งเขาไปเรียนรู้จากชีวิตจริง โดยส่งไปหาคุณลุงมูสตาชคนสวน คุณตรูนาดิสผู้เคร่งระเบียบ คุณหมอโมดีแวร์สฺผู้เข้าใจชีวิต ฯลฯ
ระหว่างอยู่กับลุงมูสตาช เขาได้รู้ว่าตนเองมีนิ้วหัวแม่มือสีเขียว อันเป็นพรสวรรค์ที่ช่วยให้ดอกไม้งอกงามขึ้นหลังจากได้สัมผัสเมล็ดพันธุ์ของมันแม้เพียงครั้งเดียว
ด้วยความสามารถมหัศจรรย์นี้เองที่ทำให้ติสตูสามารถเปลี่ยนเมืองอันหดหู่เหี่ยวเฉาให้กลายเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา ประดับประดาด้วยดอกไม้นานาพันธุ์
ติสตูฯ มิใช่วรรณกรรมที่ว่าด้วยการรณรงค์ให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเสนอวิธีลดภาวะโลกร้อน แต่เราสามารถเรียนรู้อะไรได้มากมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยผ่านนิทานสำหรับเด็กเรื่องนี้
ในวรรณกรรมเยาวชนหรือเทพนิยายจำนวนไม่น้อย มักกล่าวถึงตัวละครเอกที่เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิง อาศัยอยู่ในพระราชวังอันโอ่อ่า
แม้ติสตูจะไม่ใช่เจ้าชายแต่ก็ไม่ต่างกันนัก คุณพ่อและคุณแม่ที่หล่อเหลาและงดงามประดุจพระราชาและพระราชินีแห่งอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่ง ส่วนคฤหาสน์อันใหญ่โตของเขาก็ไม่ต่างอะไรจากพระราชวัง
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ในเรื่องติสตูฯ กล่าวถึงเบื้องหลังของฐานะร่ำรวยของคุณพ่อว่ามาจากโรงงานอาวุธซึ่งเป็นรายได้หลักของเมือง และมันได้ถูกส่งไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อให้ผู้คนจากดินแดนเหล่านั้นประหัตประหารกัน โดยไม่เกี่ยงว่าดินแดนนั้นจะเป็นมิตรหรือศัตรูของพวกเขา
ขณะที่เทพนิยายทั่วไปพรรณนาถึงความโอ่อ่าของพระราชวัง แต่ไม่เคยระบุว่าพระราชวังอันใหญ่โตของพระราชา อีกทั้งความมั่งคั่งของพระองค์นั้นต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดของผู้คนมากน้อยเพียงใด และเพื่อที่จะให้พระราชาและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายนั้น เมืองต้องนำทรัพยากรมาเผาผลาญเท่าไร
เทพนิยายทั่วไปพูดถึงสงครามและการต่อสู้ แต่ไม่เคยบอกว่าอาวุธที่ใช้ทำสงครามกันนั้นมาจากไหน และส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้อื่นในวงกว้าง
เทพนิยายทั่วไปพูดถึงชาวบ้าน แต่ไม่เคยใส่ใจถึงความหวังหรือความสิ้นหวังของชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ไม่ใช่ผู้มีบทบาทสำคัญของเรื่อง
สิ่งต่างๆ ที่ขาดหายไปในเทพนิยายทั่วไป กลับปรากฏในเรื่อง ติสตูฯ
ในการรณรงค์เรื่องโลกร้อนหรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องรับกระบวนทัศน์เดียวกับวิธีคิดในเรื่องติสตูฯ มาใช้ นั่นคือกระบวนทัศน์ของมองทะลุความผิวเผินฉาบฉวยของสิ่งต่างๆ เข้าไปสู่แก่นกลาง และพิจารณาสิ่งต่างๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันในเชิงจิตใจ
ในการป่าวประกาศถึงสาเหตุของโลกร้อน อย่างเช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การทำลายป่า ฯลฯ หรือการรณรงค์ถึงวิธีการลดภาวะโลกร้อนอย่างเช่นการประหยัดพลังงาน ถือถุงผ้า ไม่ใช้พลาสติค ถอดปลั๊กไฟเมื่อไม่ใช้ ขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฯลฯ เป็นเพียงถ้อยคำฉาบฉวยที่เผยให้เห็นเพียงผิวหน้าของสิ่งต่างๆ โดยไม่เห็นส่วนลึกที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเราจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัญหาสำคัญอย่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือปัญหาโลกร้อนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนหลายมิติสัมพันธ์กันอยู่
ท่ามกลางกระแสความนิยมถือถุงผ้าลดภาวะโลกร้อน เราต้องกลับมาทบทวนว่ามันช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริง หรือว่าเป็นเพียงแฟชั่นที่ทำให้ใครสักคนได้สื่อสารกับผู้อื่นว่าตนเองมีความห่วงใยต่อโลก ทั้งที่ความเป็นจริงเขาอาจมีถุงผ้าลดโลกร้อนอยู่นับสิบๆ ใบก็ได้
เราต้องมองให้เห็นว่าถุงพลาสติคแต่ละใบที่เกิดขึ้นนั้นต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะ สุขภาพของผู้คน การสูญเสียที่ดินทำกิน และอื่นๆ
การที่เราจะมองสิ่งต่างๆ ได้อย่างรอบด้านและเห็นอะไรลึกกว่าชั้นผิวหน้าได้ เราจำเป็นต้องเชื่อว่าโลกเป็นส่วนประกอบระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์ใดๆ ล้วนย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และ/หรือธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สำหรับเรื่องติสตูฯ อาวุธและโรงงานผลิตอาวุธไม่ใช่เครื่องแสดงอำนาจของวีรบุรุษหรือของวิเศษประจำตัวที่มีไว้เพื่อปราบศัตรู หากแต่เป็นวัตถุที่เชื่อมโยงถึงมนุษย์คนอื่นๆ อีกมากมาย เช่นทหารผู้นำอาวุธนั้นไปใช้ คู่กรณีของสงคราม และชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ของความขัดแย้ง แต่ต้องพลอยได้รับเคราะห์จากสงคราม (ดังเช่นลุงมูสตาชที่ต้องสูญเสียสวนและดอกไม้ทันทีที่ระเบิดลง หรือกาโรลูสที่มาตุภูมิของตนถูกลบออกจากแผนที่ จนต้องกลายมาเป็นบ่าวรับใช้ในคฤหาสน์ของเจ้าของโรงงานผลิตอาวุธ)
หากเราให้ความสำคัญกับมิติเชิงจิตใจ เราจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นได้ลึกซึ้งมากกว่าสนใจเพียงว่าพายุลูกนี้ทำให้เกิดคนตายเท่าไร ทำให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่ากี่ล้านดอลลาร์
ปัญหาส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อสิ่งรอบตัวมนุษย์แสดงออกในรูปของการให้คำนิยามถึงสิ่งต่างๆ ปัญหาเรื่องการให้คำนิยามหรือคำจำกัดความอาทิเช่นคำว่า “ภัยพิบัติ” ซึ่งคุณตรูนาดิสอธิบายให้ติสตูฟังว่าหมายถึง “ความชั่วร้ายที่เข้าถึงฅนจำนวนมาก ความชั่วอันร้ายกาจอย่างยิ่ง” และ “ถิ่นชุมชนแออัดนี้ถือเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่ง” (หน้า 79) นี่เท่ากับเป็นการกวาดต้อนให้ “ความยากจน” หรือ “คนจน” (ซึ่งแสดงออกผ่านชุมชนแออัด) ให้มีค่าเสมอเป็น “ภัยพิบัติ”
อ่านแล้วชวนให้นึกถึงถ้อยปาฐกถาของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้ล่วงลับ ที่กล่าวไว้ในปาฐกถาของมูลนิธิโกมลคีมทอง ในปี พ.ศ. 2540 ว่า “ความยากจนไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ ถ้าเป็นเพียงความยากจนทางด้านวัตถุ” และ “ความยากจนเหล่านี้น่าจะเกิดจากความไม่เป็นธรรมมากกว่า และยังเกิดจากระบบที่เลือกปฏิบัติ...ระบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นระบบเลือกปฏิบัติกับผู้ที่อ่อนแอกว่า กับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่ากับผู้ที่รู้น้อยกว่า” (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2540 เรื่องทำไมต้องช่วยคนจน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง)
คำนิยามหรือคำจำกัดความนี้เองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และแสดงถึงทัศนคติที่แตกต่างกัน คำนิยามของ “ระเบียบ” ของติสตูก็เป็นคนละความหมายกับของคุณตรูนาดิส เมื่อคุณตรูนาดิสถามว่าระเบียบคืออะไร ติสตูก็ตอบว่า “ระเบียบหรือครับ ก็คือเมื่อเราพอใจครับ” (หน้า 59)
ในทัศนะของติสตู ระเบียบจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเมื่อทุกคนมีอิสระเสรี และไม่ถูกกดขี่ จำกัดอิสรภาพ เช่นเดียวกับที่ม้าแกลบยิมนาสติคของเขาพอใจที่ได้เช็ดตัวแปรงขน ถักเปีย เมื่อนั้นมันจะทำตัวอยู่ในระเบียบ
หรือลุงมูสตาชที่พอใจกับการยิ้มให้ต้นไม้ มีความสุขเมื่อเห็นว่าบรรดาต้นไม้ของเขาถูกตัดเล็มอย่างดี เมื่อนั้นเขาก็จะปฏิบัติตัวอยู่ในระบบระเบียบของสังคม ขณะที่ทัศนะของคุณตรูนาดิส ระเบียบคือการรักษาความสงบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย และการลงโทษเมื่อมีผู้พยายามฝ่าฝืน
ในการดูแลรักษาโลก คำยอดนิยมอย่าง “ก๊าซเรือนกระจก” หรือ “ภาวะโลกร้อน” อาจไม่มีปัญหาในเชิงการตีความ เนื่องจากเป็นการอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ซึ่งยากจะมีใครโต้แย้ง
แต่กับถ้อยคำอย่าง “ประหยัดพลังงาน” นั้นเล่า วิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะอธิบายความหมายได้ครบถ้วน และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่การกระทำของใครคนหนึ่งส่งผลกระทบต่อคนอื่นในวิถีต่างๆ กัน
กระบวนทัศน์และสำนึกเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนในการรักษาโลก แต่นอกเหนือไปจากนั้น เรื่องติสตูฯ ยังแสดงให้เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงโลกนั้นจำเป็นต้องอาศัยเด็กที่มีบุคลิกบางอย่าง
ติสตูนั้นถูกเนรเทศด้วยการส่งไปอยู่กับครูต่างๆ เพื่อจะได้เรียนรู้ชีวิตในแบบที่พ่อต้องการให้เป็น แต่โชคดีที่ติสตูเข้าใจชีวิตมากกว่าความคาดหวังของพ่อ แม้ว่าเขาต้องการจะเป็นเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง
ด้วยความกล้าหาญ กล้าที่จะเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนคิด เขายืนยันที่จะแสดงทัศนะที่ขัดแย้งกับคุณตรูนาดิส หรือแม้แต่การตัดสินใจออกจากบ้านตอนดึก เพื่อใช้นิ้วหัวแม่มือเขียวปลูกต้นไม้ที่คุก
จะว่าไปแล้วเขาไม่เพียงกล้าที่จะต่อสู้กับความกลัวของตนในการออกไปนอกบ้านยามค่ำคืน แต่ยังเป็นความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง เขาทำให้คุก สวนสัตว์ โรงพยาบาล หรือแม้แต่บรรดาอาวุธในโรงงานของพ่อเต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิด
ดอกไม้ของพ่อซึ่งอยู่ในความดูแลของลุงมูสตาชนั้น แม้จะงดงามแต่ก็อยู่เพียงในสวนกระจก ชาวเมืองไม่มีสิทธิ์ร่วมรื่นรมย์ ดอกไม้คือสิ่งที่มูสตาชครอบครอง เป็นของสิ่งเดียวที่เขาได้ประกาศตัวเป็นพระราชาแห่งอาณาจักรดอกไม้ (ถึงแม้ว่าเขาจะทะนุถนอมพวกมันเป็นอย่างดีก็ตาม)
แต่ติสตูกลับทำให้ดอกไม้เป็นของชาวเมืองทุกคน
และยิ่งไปกว่านั้นคือความกล้าหาญที่จะแสดงความรับผิดชอบในการตัดสินใจของตน หลังจากพบว่าการปลูกดอกไม้ลงในอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แม้จะช่วยหยุดยั้งสงครามระหว่างพวกวาสีกับวาตองได้สำเร็จ แต่ก็ทำให้โรงงานอาวุธของพ่อเขาประสบวิกฤตการณ์เช่นกัน ติสตูไม่ลังเลที่จะประกาศว่าทั้งหมดเป็นการกระทำของเขา
ผู้เขียนเรื่อง ติสตูฯ คือ โมรีส ดรูอง (Maurice Druon, 1918-2009) เขาเกิดที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1918
Maurice Druon (ภาพจาก www.discogs.com)
ดรูองเป็นนักเขียนที่น่าจับตามองตั้งแต่วัยหนุ่ม เคยได้รับรางวัลกงกูร์ท (Prix Goncourt) ที่มอบให้กับวรรณกรรมของฝรั่งเศสที่ดีที่สุดและเปี่ยมจินตนาการที่สุดแห่งปี จากเรื่อง Les Grandes Familles ในปี ค.ศ. 1948
หลังจากนั้นเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตแห่งราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศสและเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในเวลาต่อมา
ผลงานโดยส่วนใหญ่ของดรูองคือนวนิยายวิทยาศาสตร์และนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดยนวนิยายเรื่องสำคัญของเขาคือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชุด Les Rois Maudits (หรือ The Accursed Kings ในภาษาอังกฤษ) และนวนิยายสำหรับเด็กซึ่งเขาเขียนเพียงเรื่องเดียวอย่างเรื่อง ติสตู นักปลูกต้นไม้ (Tistou Les Pouces Verts)
แต่วรรณกรรมเด็กที่เขียนเพียงเรื่องเดียวนี้ก็มีเสน่ห์เพียงพอที่จะทำให้เป็นที่โจษขานต่อผู้อ่านจำนวนมาก ด้วยเหตุที่เป็นวรรณกรรมเด็กที่แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าโลกจะมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี โดยที่เขาได้มอบความหวังไว้บนบ่าของผู้อ่านที่เขาเรียกว่า “พวกผู้ใหญ่ในอนาคต และเด็กในอดีต”
ในการดูแลรักษาโลก มนุษยชาติจำเป็นต้องมีผู้กล้าหาญ กล้าที่จะเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองคิด กล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสรรค์โลกและสังคม นอกจากนี้ก็ยังต้องกล้าแสดงความรับผิดชอบ ดังเช่นที่ติสตูเป็น เพื่อที่ว่าโลกจะไม่ไม่เป็นเพียงโลกของใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนยุคใดยุคหนึ่ง แต่เป็นของคนทุกคน และรวมถึงลูกหลาน คนรุ่นหลังที่จะเกิดมาในอนาคตด้วย
หมายเหตุ ข้อความในหนังสือที่ยกมาประกอบบทความทั้งหมด อ้างจาก ติสตู นักปลูกต้นไม้ โดย โมรีส ดรูอง แปลจากภาษาฝรั่งเศส โดย อำพรรณ โอตระกูล ฉบบพิมพ์ครั้งแรก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ​
#blockdit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา