Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
World's Fruit
•
ติดตาม
18 มิ.ย. 2019 เวลา 15:01 • สุขภาพ
มะม่วงเบา รสชาติไม่เบา
มะม่วง (Mangifera indica L.) ที่เรารู้จัก อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) มะม่วงรับประทานดิบ เป็นมะม่วงที่เก็บเกี่ยวมาในระยะผลแก่ (mature) แต่ยังไม่สุก (ripe) เป็นระยะที่เรียกเฉพาะสำหรับมะม่วงว่า ‘ระยะเข้าไคล’ (มีนวลปรากฏบนผิวเปลือก) บางพันธุ์รสชาติมัน จะเรียกว่า ‘มะม่วงมัน’ บางพันธุ์มีรสชาติอมเปรี้ยว ตัวอย่างพันธุ์ เช่น เขียวเสวย ฟ้าลั่น แรด พิมเสนมัน ทองดำ แก้วเกษตร แก้วขมิ้น เป็นต้น แต่เมื่อผลสุกยังคงมีรสชาติหวาน
2) มะม่วงรับประทานสุก เป็นมะม่วงที่เก็บเกี่ยวมาในระยะผลแก่จัดแล้วนำไปบ่มให้สุก ผลดิบมีรสชาติเปรี้ยวจัด ตัวอย่างพันธุ์ เช่น น้ำดอกไม้ อกร่อง หนังกลางวัน ทองดำ โชคอนันต์ เป็นต้น
3) มะม่วงใช้แปรรูป เป็นมะม่วงที่มีลักษณะให้ผลผลิตดก ไม่นิยมรับประทานทั้งดิบและสุก แต่นำมาแปรรูป ซึ่งรูปแบบของการแปรรูปขึ้นอยู่กับระยะผลที่เก็บเกี่ยว โดยหากผลในระยะแก่จัดจะนำมาดอง ผลในระยะสุกจะนำมากวนหรือทำเป็นมะม่วงแผ่น เช่น มะม่วงพันธุ์แก้ว มะม่วงบางพันธุ์มีการแปรรูปเป็นน้ำคั้น เช่น สามฤดู มหาชนก เป็นต้น
‘มะม่วงเบา’ เป็นผลไม้ที่มีเฉพาะพื้นถิ่นภาคใต้ พบมากในจังหวัดปัตตานีและสงขลา ผลขนาดเล็กประมาณไข่ไก่ น้ำหนักผล 1 กิโลกรัมมีประมาณ 10 ผล ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกมะม่วงใน 2 กลุ่มข้างต้น เพราะภาคใต้มีฝนตกชุก ไม่มีฤดูหนาวเพื่อชักนำตาดอกของมะม่วง แต่สภาพภูมิอากาศของภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ความชื้นสูง และไม่มีฤดูหนาว ประกอบกับการมีพื้นที่ดินเป็นดินทรายและระบายน้ำได้ดี กลับเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะม่วงเบา
1
ระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนผลสุกหล่นใช้เวลาประมาณ 90 วัน โดยหลังมะม่วงเบาแทงช่อประมาณ 10 วัน ผลจะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด และเมื่อผลโตขึ้นจนมีอายุประมาณ 60 วัน เปลือกหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกว่ากะลาจะเริ่มแข็ง หรือเข้าสู่ระยะผลแก่เต็มที่ซึ่งเป็นผลระยะรับประทานดิบ และเมื่อผลอายุ 70 วัน สีผิวจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และผลสุกเมื่ออายุได้ 90 วัน
ผลดิบมีรสเปรี้ยว กรอบ และไม่มีกลิ่นฉุน คนใต้จึงนิยมนำมาทำยำมะม่วง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม ใช้ใส่แกงส้มหรือทำแกงส้มมะม่วงเบา แต่ถ้าจะกินกับน้ำปลาหวาน กะปิหวาน หรือพริกเกลือ ก็ได้รสชาติอร่อยก็ไม่แพ้มะม่วงเปรี้ยวที่มีขายตามรสเข็นขายผลไม้ทั่วไป
ผลสุกมีรสชาติหอมหวาน โดยเฉพาะยิ่งปล่อยให้ผลสุกบนต้น นำมาปอกเปลือกแช่ใส่ไว้ในตู้เย็นจะมีรสชาติหวานหอมอร่อยมากขึ้น
ผลผลิตของมะม่วงเบาที่มีอายุต้น 5 ปี จะมีผลประมาณ 20 กิโลกรัมต่อต้น ราคาจากสวนตกกิโลกรัมละ 40-50 บาท นับว่าเป็นราคาที่น่าสนใจ เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่ต้องดูแลมากนัก และในการผลิตไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยหรือใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือใช้สารเคมีบังคับการออกดอกเหมือนกับมะม่วงพันธุ์การค้าทั่วไป
ปัจจุบันมะม่วงเบาที่ปลูกเพื่อนำผลผลิตมาแปรรูปด้วยการแช่อิ่ม มีแหล่งปลูกอยู่ในพื้นที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
มะม่วงเบาแช่อิ่มนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อและโด่งดังมากของจังหวัดสงขลา เพราะมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบอร่อย และที่เป็นเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ว่าเป็นมะม่วงเบาแช่อิ่มแท้ ๆ คือการหั่นเนื้อมะม่วงหลังปอกเปลือกจะหั่นแบบผ่าซีกครึ่งผล
แล้วมันมีมะม่วงเบาแช่อิ่มปลอมด้วยหรือ? คำตอบคือมะม่วงเบาแช่อิ่มปลอมที่ว่าหมายถึงการนำเอามะม่วงเบาอีกชนิดหนึ่งที่มีปลูกในภาคใต้เช่นกันมาแช่อิ่มทดแทนในเวลาที่ไม่มีผลผลิตมะม่วงเบา โดยมะม่วงชนิดนี้คือ ‘มะม่วงพิมเสนเบา’ เป็นมะม่วงที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื้อหนากว่า มีรสเปรี้ยวแต่ไม่หอมเหมือนกับมะม่วงเบา และเมื่อนำมาแช่อิ่มถึงแม้จะหวานอมเปรี้ยว กรอบอร่อย แต่จะไม่หอมเหมือนกับมะม่วงเบา และเพราะมีขนาดผลใหญ่กว่าและเนื้อหนากว่ามะม่วงเบา ก่อนนำมาแช่อิ่ม เนื้อมะม่วงจะถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ ไม่เหมือนกับมะม่วงเบาที่มักจะผ่าซีกทั้งลูก
คนที่เคยมาเที่ยวที่อำเภอหาดใหญ่ หากเคยได้ไปรับประทานอาหารโต๊ะจีนในภัตตาคารหลายแห่งของที่นี่ จะได้พบกับอาหารเรียกน้ำย่อย (appetizers) สไตล์หาดใหญ่ คือ มะม่วงเบาแช่อิ่มเย็นจัด ที่รับรองว่าหมดไปอย่างรวดเร็วก่อนที่อาหารจานหลักจะมาเสิร์ฟเลยทีเดียว
1
มะม่วงเบาแช่อิ่ม
cooking.kapook.com
มะม่วงเบาแช่อิ่ม ของดีโอทอปกรอบอร่อยลองทำเอง
สูตรขนม กินเล่นยามว่าง กรอบหวานอมเปรี้ยว สีสวยธรรมชาติ ยิ่งแช่เย็นยิ่งอร่อย
มะม่วงเบาแช่อิ่มจึงเป็นของฝากที่มีราคาไม่เบา สนนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 250-300 บาท ใครที่กำลังเดินทางจากสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ มักจะต้องซื้อจากที่นี่เพื่อนำไปฝากเพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพราะอาจหาซื้อไม่ทัน อีกทั้งของฝากนี้ไม่อาจจะหาซื้อได้ตามสนามบินหรือสถานีขนส่งที่อื่น ๆ หรือที่ไหนไม่ นอกจากที่สงขลาเท่านั้น
แหล่งข้อมูล: นพรัตน์ บำรุงรักษ์. 2535. พืชหลักปักษ์ใต้. ปิรามิด จัดพิมพ์. 184 หน้า.
6 บันทึก
47
16
13
6
47
16
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย