25 มิ.ย. 2019 เวลา 15:10 • บันเทิง
คอหนังนั่งเล่า ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู: โรงแรมนรก
โรงแรมนรก (๒๕๐๐)
ถือเป็นโพสต์​ใหม่ที่ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอ ที่มาจากโครงการ ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ของ หอภาพยนตร์แห่งชาติที่ได้มีการรวบรวมภาพยนตร์ไทยที่เป็นเหมือนกับจดหมายเหตุ บันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทั้งในส่วนของเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ หรือส่งผลต่อวงการหนังไทยในเวลาต่อมา
ต้องออกตัวก่อนว่าโพสต์​นี้คงไม่ได้มาพบกับทุกท่านเป็นประจำ ด้วยข้อจำกัดด้านภาพยนตร์ที่ผู้เขียนไม่สามารถหามานำเสนอ หรือ ไม่มีเวลาดูก่อนนำมาเล่าสู่กันฟัง แต่ก็จะพยายามแวะเวียนมาให้ได้อ่าน หรือหากท่านใดสนใจก็จะได้หามาดูมาเก็บกันไว้ เพราะไม่ว่าอย่างไร คนไทยก็ควรต้องดูหนังไทย (กันบ้าง)
ประเดิมกันด้วย (ขอใช้คำว่า) หนังไทย ซึ่งได้มาเมื่อครั้งที่หอภาพยนตร์จัดฉายภาพยนตร์พิเศษที่โรงหนังสกาล่า และผู้เขียนก็ได้หนังเรื่องนี้ที่ตามหามานานแสนนาน หนังไทยเรื่องที่ว่าคือ....
โรงแรมนรก (๒๕๐๐) กำกับการแสดง: รัตน์ เปสตันยี/อำนวยการสร้าง: รัตน์ เปสตันยี/นำแสดง: ชนะ ศรีอุบล, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, ถนอม อัครเศรณี, ฑัต เอกฑัต/ดนตรีประกอบ: ปรีชา เมตไตรย์/กำกับภาพ: ประสาท สุขุม/ตัดต่อ: รัตน์ เปสตันยี/จัดจำหน่าย: หนุมานภาพยนตร์/ความยาว ๑๔๘ นาที
เหตุเกิดในโรงแรมเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดที่ชื่อ ‘โรงแรมสวรรค์’ ลุงเจ้าของร้าน และหลานที่ชื่อเล็ก ที่เป็นแชมป์โลกงัดข้อ โรงแรมที่มีห้องพักเพียงห้องเดียว โดยมีแขกประจำคือ คุณชนะ ชายหนุ่มหัวร้อนขี้หงุดหงิด โรงแรมที่มักมีแขกแปลกหน้าแวะเวียนมาแล้วก็ไปด้วยเหตุผลแตกต่างกัน หากแต่ครั้งนี้การมาเยือนของหญิงสาวลึกลับที่ชื่อ เรียม ที่อ้างว่าตัวเองอายุ ๖๕ ปี และมีอาชีพค้าฝิ่น เธอดึงดันที่จะพักที่นี่ และมีการปะทะคารมกับคุณชนะหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่แย่ยิ่งไปกว่าคือ ข่าวการปรากฏตัวของเสือดินในละแวกโรงแรม และแขกที่ไม่ได้รับเชิญ เสือสิทธิ์, เสือไกร และเชียร ลูกสมุนคนใหม่ เรื่องราวอันชุลมุนจึงเกิดขึ้นภายในโรงแรมสวรรค์ ที่คุณชนะเปลี่ยนชื่อให้เป็น “โรงแรมนรก”
ความน่าสนใจของ โรงแรมนรก คือ เมื่อพิจารณาว่าหนังไทยเรื่องนี้มีอายุ ๖๐ กว่าปี แต่กลวิธีการนำเสนอที่ไม่ต่างจากละครเวที มีฉากเพียงฉากเดียวคือ ภายในโรงแรม และตัวละครหลักเพียง ๔ ตัวที่ดำเนินเรื่อง ได้แก่ คุณชนะชายหัวร้อน, เรียม หญิงลึกลับ, เล็กบ๋อยประจำโรงแรม และลุง เจ้าของโรงแรม ส่วนตัวละครที่เหลือก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา ซึ่งแต่ละคนก็มีนัยยะแฝงในเชิงหยิกแกมหยอก ไม่ว่าจะเป็น ด๊อกเตอร์หัวนอกที่รังเกียจอะไรที่เป็นไทย, สามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่ล่ามโซ่ไว้ด้วยกัน ซึ่งถ้าใครเคยดูหนังไทย ชั่วฟ้าดินสลาย ก็จะเข้าใจกับมุกนี้ทันที, บรรดาโจรที่สมัยนั้นถูกเรียกว่า ‘เสือ’ และสะท้อนคำว่า ‘ไม่มีสัจจะในหมู่โจร’ อย่างเห็นภาพจะ ๆ สิ่งเหล่านี้คือความน่าสนใจของหนัง ที่ไม่น่าเชื่อว่าสามารถพาคนดูติดตามไปได้ตลอดเรื่อง นั่นสะท้อนให้เห็นภาษาหนังของคุณรัตน์ที่เป็นสากล และเป็นอมตะ แม้จะข้ามผ่านเวลามาเท่ากับอายุคนวัยเกษียณ หากแต่มุมมองการนำเสนอของหนังไม่ได้ล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย ถ้าจะมีอย่างเดียวที่อาจจะดูเชยแต่คลาสิกก็คือ หนังไทยขาวดำ!
นักแสดงหลักทั้ง ๔ ได้แก่
ชนะ ศรีอุบล เป็น คุณชนะชายหัวร้อน เจ้าอารมณ์
ศรินทิพย์ ศิริวรรณ เป็น เรียม สาวลึกลับที่พร่ำบอกว่าตนอายุ ๖๕ ปี และค้าฝิ่นเถื่อน
ประจวบ ฤกษ์ยามดี เป็น น้อย บ๋อยโรงแรมที่มีตำแหน่งแชมป์โลกงัดข้อ
ถนอม อัครเศรณี เป็น ลุง​เจ้าของโรงแรม
ส่วนนักแสดงที่ผลัดเปลี่ยนเข้าฉากได้แก่ สมพงษ์ พงษ์มิตร, ชูศรี โรจนประดิษฐ์ (หรือ ชูศรี มีสมมนต์), สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, ไกร ภูตโยธิน, วิเชียร ภู่โชติ และทัต เอกทัต
สมพงษ์ พงษ์มิตร
ชูศรี โรจนประดิษฐ์ (หรือ ชูศรี มีสมมนต์)
สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์
ทัต เอกทัต
โรงแรมนรก เป็นผลงานของคุณรัตน์ เปสตันยี ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลในวงการภาพยนตร์ไทย
คุณรัตน์ เปสตันยี
โดยโรงแรมนรกเป็นผลงานเรื่องที่ ๒ ของคุณรัตน์ (เรื่องแรกคือ ตุ๊กตาจ๋า) โดยเป็นหนังที่ทดลองถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ ๓๕ ม.ม. เซ็ทฉากเพียงฉากเดียวดำเนินตลอดทั้งเรื่อง และบันทึกเสียงในฟิล์ม ในขณะที่หนังไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีพากย์ทับภายหลัง การเลือกใช้ฟิล์มขาวดำ ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนกว่าฟิล์มสี นอกจากนี้ฟิล์มขาวดำยังสามารถล้างและอัดในแล็ปภายในประเทศไทยได้อีกด้วย ไม่ต้องเดินทางไปล้างอัดกันถึงเมืองนอก
โรงแรมนรก ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ ๓ ในสาขา ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม – รัตน์ เปสตันยี, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม – ปง อัศวินิกุล และ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม – ประสาท สุขุม
หนังไม่ค่อยได้รับความนิยมเมื่อครั้งออกฉายด้วยความที่พล็อตเรื่องแปลกแหวกแนวกว่าหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ในเวลานั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป โรงแรมนรก จัดเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ถูกกล่าวถึง รวมถึงการเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนที่เรียนด้านภาพยนตร์
หอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับบริจาคต้นฉบับฟิล์มมาจากบริษัท แรงค์ แลบอราทอรี่ส์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้มีการจัดทำในรูปแบบดีวดี ที่คมชัดทั้งภาพและเสียง สำหรับท่านที่สนใจสามารถหาซื้อได้ที่ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา ราคา ๒๕๐.- หรือที่ มูลนิธิหนังไทย (Thai Film Foundation)
ขอบคุณที่มาข้อมูล/ภาพประกอบ: Wikipedia, มูลนิธิหนังไทย, OKNation คนคอหนัง
โฆษณา