16 ก.ค. 2019 เวลา 15:08 • บันเทิง
คอหนังนั่งเล่า ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู: ชุมแพ
ชุมแพ (๒๕๑๙) กำกับการแสดง: จรัล พรหมรังสี/อำนวยการสร้าง: วิสันต์ สันติสุชา/นำแสดง: สมบัติ เมทะนี, นาท ภูวนัย, ปิยะมาศ โมนยะกุล, ธัญญรัตน์ โลหะนันท์, เกชา เปลี่ยนวิถี, ดามพ์ ดัสกร, มานพ อัศวเทพ, ไกร ครรชิต, ลักษณ์ อภิชาต/บทประพันธ์: ศักดิ์ สุริยา/บทภาพยนตร์: จรัล พรหมรังสี/กำกับภาพ: นิยม ศรีสุวรรณ
เพิก ชุมแพ เดินทางกลับมายังเมืองบ้านเกิด ‘ชุมแพ’ อีกครั้ง ทันทีที่มาถึงก็ได้รับการต้อนรับจากบรรดาอันธพาลท้องถิ่น ลูกสมุนของจ่าถม นิยมไถ ผู้มากบารมีแห่งชุมแพ ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิด และใช้อิทธิพลข่มเหงบรรดาชาวบ้านตาดำ ๆ ที่สำคัญจ่าถมอยู่เบื้องหลังการตายพ่อของเพิก การกลับมาของเพิก ก่อแรงสั่นสะเทือนต่อฐานอำนาจเถื่อนของจ่าถม และกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้กองไชโย ผู้มาติดพันกับดวงพร ลูกสาวของจ่าถม และแววดาว คนรักของจ่าถม ชุมแพจะไม่เหมือนที่เคยเป็นอีกต่อไป เพราะ เพิก ลูกผู้ชายที่ท้าทายอำนาจชั่ว
สมบัติ เมทะนี เป็น เพิก ชุมแพ
สมบัติ เมทะนี หรือ น้าบัติของใครหลายคน รับบทเป็น เพิก ชุมแพ ผู้ทำหน้าที่ต่อกรกับอิทธิพลเถื่อน น้าบัติคือพระเอกที่ได้รับการบันทึกลงในกินเนสบุ๊คในฐานะเป็นพระเอกหนังมากที่สุดในโลก 617 เรื่อง!
นาท ภูวนัย เป็น ผู้กองไชโย
นาท ภูวนัย ซึ่งในชีวิตจริงมีอาชีพเป็นปลัดอำเภอ รับบทเป็น ผู้กองไชโย ใครหลายคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าคงจดจำน้านาทได้ในฐานะโกโบริคนแรกบนจอเงินจากหนังเรื่อง คู่กรรม
1
ปิยะมาศ​ โมณยะกุล เป็น แววดาว
ข้างฝ่ายนางเอกที่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยในหนัง ได้แก่ ปิยะมาศ โมนยะกุล ในบท แววดาว และ ธัญญรัตน์ โลหะนันท์ ในบท ดวงพร รายของน้าปุ๊ ปิยะมาศ คนรุ่นปัจจุบันน่าจะมีภาพจำเธอในฐานะนักแสดงบทแม่เชื้อสายจีน
ครรชิต ขวัญ​ประชา​
ลักษณ์​ อภิชาต​ิ
ร่วมด้วยพระเอกระดับรอง ครรชิต ขวัญประชา, มานพ อัศวเทพ, ผู้ช่วยพระเอกในตำนาน ลักษณ์ อภิชาติ
ดามพ์​ ดัสกร​ เป็น ภู น้ำพอง, เกชา​ เปลี่ยน​วิถี​ เป็น จ่าถม นิยมไถ
ขาดไม่ได้เป็นสีสันของหนังบู๊ไทย คือบรรดาตัวร้าย เรียกว่ามากันครบ เริ่มที่ เกชา เปลี่ยนวิถี ในบท จ่าถม นิยมไถ หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าสมัยหนุ่ม ๆ ลุงเกชาเคยอยู่ฝ่ายธรรมะเป็นพระเอกมาแล้วนะครับ เช่น หนังไทยเรื่อง ป้อมปืนตาพระยา, รายถัดมา ดามพ์ ดัสกร เป็น ภู น้ำพอง สมุนเอกมือขวาของจ่าถม ใครทันคงรู้ว่าลุงดามพ์คือเครื่องหมายการค้าตัวโกง แต่มีหนังไทยเรื่อง “มัน” ที่ลุงดามพ์ได้เป็นฝ่ายธรรมะนะครับ ทำเป็นเล่นไป
พิภพ​ ภู่​ภิญโญ​
ตัวร้ายระดับที่คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายรู้จักมากันครบ อนันต์ สัมมาทรัพย์, ไกร ครรชิต หรือ ลุงพิภพ ภู่ภิญโญ ดาวร้ายหัวล้านไว้หนวดที่คนดูมีภาพจำเวลาที่แกลูบหัวล้าน เลียริมฝีปากและพูดประโยคทอง “พี่จะยัดเยียดความเป็นผัวให้น้องเอง...” แต่ไม่เคยมีเรื่องไหนที่ลุงพิภพทำสำเร็จ เพราะพระเอกมาช่วยทัน และลุงสลบคากองTeenพระเอกทุกทีสิน่า
สมัยนั้นฉากบู๊เสี่ยงตายเป็นเรื่องที่นักแสดงต้องเข้าฉากกด้วยตนเอง โอกาสเจ็บตัวมากน้อยย่อมมีเกิดขึ้น และฉากบู๊ของชุมแพก็ถูกบันทึกไว้ในฉากการต่อสู้บนหลังคารถทัวร์ของ ลักษณ์ อภิชาตกับดามพ์ ดัสกร คือไฮไลท์ทั้งหมดของหนังที่ต้องดูครับ จา พนมก็เถอะนะ เจอรุ่นน้ารุ่นลุงก่อน
ชุมแพ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อครั้งที่ออกฉายในปี ๒๕๑๙ ภายใต้การกำกับการแสดงของ จรัล พรหมรังสี ที่นำเอาบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารบางกอกมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยแนวบู๊ภูธร หนังได้รับความนิยมมากจนมีการสร้างภาคสองออกมาในชื่อ “ทุ่งลุยลาย” ในปี ๒๕๒๑
ในฐานะภาพยนตร์ไทย “ชุมแพ” จัดอยู่ในทำเนียบ “๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู” นั่นเพราะชุมแพเปรียบเสมือนจดหมายเหตุทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย ในฐานะหัวหอกของ “หนังบู๊ภูธร” หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ระเบิดภูเขาเผากระท่อม” ถึงแม้ว่าในหนังชุมแพเราจะไม่ได้เห็นการระเบิดภูเขา หรือเผากระท่อมเลยก็ตาม แต่การที่ให้ตัวพระเอกเป็นคนนิรนามพลัดถิ่นเข้าไปในแดนอิทธิพล ต่อกรกับพ่อเลี้ยงผู้ชั่วร้าย ก่อนที่ตอนจบจะเผยตัวเองเป็น...ปลอมตัวมา
ซึ่งมันกลายเป็นพล็อตยอดฮิตของหนังไทยเรื่องต่อ ๆ มา และมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน จะเปลี่ยนแปลงบ้างก็คงเป็นพระเอกนางเอกเท่านั้น และที่เห็นบ่อยที่สุดก็คือ “ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา” น่าจะเป็นมุกร้อยล้านมากที่สุดแล้ว
ชุมแพ ยังสะท้อนภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น ที่บรรดาผู้มีอิทธิพลส่วนใหญ่คุมพื้นที่ทางภาคอีสาน บ้างก็มีตำแหน่งในแวดวงราชการ หรืออดีตเคยรับราชการ ชาวบ้านชาวช่องมองเห็นข้าราชการในฐานะเจ้าคนนายคนจนแทบจะต้องกราบไหว้บูชา หรือก้มหน้ารับกรรมถ้าไปเจอประเภทที่เหี้ยมจนม.ม้าวิ่งตามไม่ทันก็เยอะ
ชุมแพยังสะท้อนให้เห็นการผลิตหนังบู๊ไทยในยุคสมัยนั้น วัตถุดิบชั้นดีก็คือ นิตยสารบางกอก โดยเฉพาะนวนิยายบู๊เรื่องไหนที่ฮิตในหมู่คนอ่าน เป็นต้องถูกซื้อมาทำเป็นหนังอย่างแน่นอน ส่วนมันจะดีหรือแย่ก็ว่ากันไปตามคุณภาพ
พิจารณาจากมุมมองของคนดูหนังในยุคนี้ จะเห็นถึงความเชย และบทหนังที่หลวมยิ่งกว่ากางเกงยางยืด ขาดความต่อเนื่อง และคิวแอ็คชั่นที่ดูแบบหนังไท๊ย..หนังไทย ประเภทที่จะต่อยกันฝ่ายหนึ่งจะต้องกระโจนเข้าใส่ ก่อนที่จะถูกอีกฝ่ายยันด้วยฝ่าเท้า หรือยกเท้าเตะยอดหน้า กระทั่งมุกประเภททันทีที่ลงจากรถ เข้าร้านกาแฟพระเอกก็โดนกวนTeen จากลูกสมุนนายใหญ่ทันที
แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมามันคือ “เสน่ห์แบบหนังบู๊ไทย” ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันฝังลึกอยู่ในรากเหง้าของศิลปและวัฒนธรรมไทย ที่ในความเชย โบราณ แฝงไว้ด้วยความอมตะ คลาสิก และเป็นอารมณ์ถวิลหาของคนที่เคยได้ดูทั้งในโรงหนังประเภท Stand Alone หรือ นั่งดูหนังกลางแปลงในงานวัด ที่ในยุคดู Netflix เราคงยากจะได้สัมผัสบรรยากาศ​แบบนั้นแล้ว
ชุมแพ กลับมาอีกสองครั้งในรูปแบบละครทีวี ในปี ๒๕๕๐ ทางช่อง ๗ สี และ ปี ๒๕๖๒ ทางช่อง ๓ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยดูครับ!
นับจากปี ๒๕๑๙ ที่ออกฉาย มาถึงวันนี้ เวลาผ่านไป ๔๓ ปี กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า ชุมแพ เป็นหนังไทยที่คนไทยควรได้ดูอย่างแท้จริง สำหรับท่านที่สนใจมีให้ดูทาง Youtube ครับ ส่วนถ้าอยากตามหาแผ่นหนัง เห็นทีจะยากถึงยากที่สุด
ที่มาข้อมูล: Wikipedia, thaifilmrevies.com, พิพิธภัณฑ์หนังไทย
ที่มาภาพประกอบ: thaifilmrevies.com, จากหนังไทยเรื่อง ชุมแพ
โฆษณา