28 ก.พ. 2020 เวลา 15:54 • บันเทิง
คอหนังนั่งเล่า ๑๐๐ ภาพยนตร์ไทยที่คนไทย
ควรดู:
เงิน เงิน เงิน
เงิน เงิน เงิน (๒๕๐๘)
กำกับการแสดง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ/อำนวยการสร้าง: หม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา/นำแสดง: มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ฒ ชรินทร์ นันทนาคร, สุมาลี ทองหล่อ, สุเทพ วงศ์กำแหง. อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, ล้อต๊อก, ชูศรี มีสมมนต์, พูลสวัสดิ์ ธีมากร/พระนิพนธ์: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ/บทภาพยนตร์: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ/ดนตรีประกอบ: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์, คณะสามศักดิ์, ชรินทร์ นันทนาคร, เอื้อ สุนทรสนาน/กำกับภาพ: โสภณ จงเสถียร/ตัดต่อ: จุรัย เกษมสุวรรณ/จัดจำหน่าย: ละโว้ภาพยนตร์/ความยาว: ๑๙๖ นาที/วันฉาย: ๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๘
อรรคพลได้รับมอบหมายจากขุนหิรัญ นายทุนเงินกู้หน้าเลือด ให้ไปตามทวงเงินชาวบ้าน แต่กลายเป็นว่า อรรคพล ฉีกสัญญาทิ้งทั้งหมด ทำให้ขุนหิรัญโกรธแค้นจนประกาศตัดญาติ
อรรคพลและภารดี น้องสาวของเขา ได้กู้เงินจากคุณนายเม้าหน้าเลือดเพื่อมาเปิดไนท์คลับ โดยมีวงอารามบอย และเหล่าชาวบ้านที่เคยเป็นลูกหนี้ขุนหิรัญ พร้อมใจกันช่วยเหลือแต่ขุนหิรัญ
ผู้ใจแคบและเคียดแค้น ได้ว่าจ้างอันธพาลมาป่วนไนต์คลับของอรรคพลเพื่อพินาศล่มจม
เงิน เงิน เงิน เป็นภาพยนตร์ไทยที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยในฐานะเป็นหนังไทยรวมดารา และเพลงมากที่สุด (ในยุคนั้น) จนมีสโลแกนบทโปสเตอร์หนัง “เพลงพราว
ดาวพรู ดูเพลิน ๖๒ ดารา ๑๔ เพลงเอก”
ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๘ (ยังไม่เกิดเลยเรา...) โดยนำคู่ขวัญหนังไทย
มิตร - เพชรา มาประกบกัน และยังเป็นหนังที่รวมเอานักแสดงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมาผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าในหนังแบบดารารับเชิญกันเยอะมาก (ไม่แน่ใจว่าเยอะที่สุดรึเปล่า?)
แต่ถ้าวัดตามคนดูยุคนั้น ต้องเรียกว่าคุ้มมาก!
มิตร - เพชรา
ลำพังแค่คนดูได้เห็นคู่ขวัญของเขา มิตร ในบท อรรคพล และ เพชรา ในบท กิ่งแก้ว เท่านี้คนดูก็ชื่นใจแล้ว
อาชรินทร์ นันทนาคร
หนังยังขนเอาบรรดานักร้องเดี่ยว นักร้องวง มาประชันกันในจอ ชรินทร์ นันทนาคร ในบท รังสรรค์ ครูนักแต่งเพลงที่แอบหลงรักภารดี น้องสาวของอรรคพล คณะสามศักดิ์ (ทะนงศักดิ์ ภักดีเทวา, มีศักดิ์ นาครัตน์ และ อดุลย์ กรีน)
และนักร้องอีกคนที่ต้องพูดถึง และเป็นที่มาของโพสต์นี้ สุเทพ วงศ์กำแหง ผู้ล่วงลับ ในบท สัปเหร่อยุทธ ผู้พิศมัยในการร้องเพลงมากกว่าทำศพ
สามศักดิ์
อาสุเทพ วงศ์กำแหง
ในมุมมองของผม ที่ย้อนไปดูหนังตั้งแต่ตัวเอง
ยังไม่เกิด ผมพบว่าบทหนังไม่มีความต่อเนื่อง และเป็นสมเหตุสมผลในหลาย ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนแบบง่ายเกินไปรึเปล่า ยังไม่นับความไม่สมจริงในหลาย ๆ เรื่อง แม้กระทั่งคอสตูมตำรวจที่ดูแล้วนึกว่าภารโรง จนบางทีก็ให้ความรู้สึกถึงความ
ล้าสมัยอยู่ในที
แต่...ในความล้าสมัย มันมีเสน่ห์ในแบบของหนังไทยรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าเราดู เราได้เห็นภาพบ้านเมืองในยุคปี 2508 ได้เห็นสามล้อสมัยเครื่องนั้นไม่มีหลังคา! ได้เห็นวิถีชีวิต ตลอดจนวิธีคิดของคนในยุคสมัยนั้น
หากจะว่าไปน่าจะจัดให้ เงิน เงิน เงิน เป็นหนังมิวสิคัลกึ่งแฟนตาซีปนเมโลดราม่าก็คงจะอยู่ในกลุ่มนั้นได้เช่นกัน ทำให้เห็นว่าไม่ใช่มีแต่หนังอินเดียที่อยู่ดี ๆ ก็ร้องเพลงขึ้นมา แต่หนังไทยก็มีเช่นเดียวกัน
ดังนั้นเพลงที่โดดเด่นมาจนทุกวันนี้ เชื่อว่าคนในยุคนี้ก็ต้องเคยได้ยิน นั่นคือเพลง ‘หยาดเพชร’ ผลานการแต่งเนื้อร้องของครูชาลี อินทรวิจิตร และทำนองโดยครูสมาน กาญจนผลิน ขับร้องโดย อาชรินทร์ นันทนาคร
‘แค่คืบ’ ก็เป็นอีกหนึ่งเพลงที่คงจะเคยได้ยินกัน ผลงานการแต่งเนื้อร้องและทำนองโดยครูสง่า อารัมภีร์ และอาชรินทร์ก็ผูกขาดร้องอีกหนึ่งเพลง
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เงิน เงิน เงิน เป็นภาพยนตร์ไทยที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๘ ณ โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หนังไทย
เงิน เงิน เงิน ถ่ายทำในระบบ ๓๕ ม.ม. เป็นเรื่องแรกของ มิตร ชัยบัญชา และถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ ๒
เงิน เงิน เงิน ถูกนำมารีเมคอีกครั้งในปี ๒๕๒๖ กำกับการแสดงโดย ยุทธนา มุกดาสนิท นำแสดงโดย เกรียงไกร อุณหะนันท์ และ อภิรดี ภวภูตานนท์ หลังจากนั้นในปี ๒๕๔๐ ถูกนำมารีเมคในรูปแบบละคร ออกอากาศทางช่อง ๗ สี กำกับโดย วีระชัย รุ่งเรือง นำแสดงโดย เอกรัตน์ สารสุข และ ณัชฌา รุจิมานนท์ และถูกนำเสนอในรูปแบบละครเวที AF The Musical กำกับโดย สุวรรณดี จักราวรวุธ นำแสดงโดย บอย พิษณุ นิ่มสกุล และ พัดชา อเนกอายุวัฒน์ เมื่อปี 2550
ท่านสนใจลองสอบถามไปทางร้านมายาพานิชย์ของหอภาพยนตร์ ผมไม่แน่ใจว่ายังมี DVD เหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน
คุณค่าของภาพยนตร์ไทยที่กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นความเป็นอมตะของหนังไทยที่คนไทยควรได้ดูสักครั้งในชีวิต
ขอบคุณที่มาข้อมูล: Wikipedia, thaifilmrevies.com, thaibunterng.fancom.com, wikiwand.com, หอภาพยนตร์
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ: จาก DVD เงิน เงิน เงิน โดย Thai Film Foundation
โฆษณา