25 มิ.ย. 2019 เวลา 16:14 • สุขภาพ
รู้หรือไม่ว่าหมากฝรั่งทำมาจากยางละมุด
“ละมุด” “ละมุดฝรั่ง “ลูกสวา อ่านว่า ลูกสะ-หวา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manilkara achras (Mill.) แต่ถ้าเป็น “ละมุดสีดา” จะชื่อว่า Manilkara kauki (L.) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sapodilla คนมาเลเซียเรียก Ciku (ซิ-กู) คนฟิลิปปินส์เรียกว่า Chico (ชิ-โค)
หมากฝรั่ง
ละมุดเป็นไม้ยืนต้นเขตร้อน เป็นไม้พื้นถิ่นของอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะแคริบเบียน นักเดินเรือชาวสเปนนำเข้าไปปลูกในฟิลิปปินส์ ละมุดถูกนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อไหร่ไม่มีบันทึกไว้ แต่น่าจะมีมานานกว่าร้อยปีแล้ว
ละมุดไทยหรือละมุดสีดา เป็นชนิดที่ปลูกในไทยมาแต่ดั้งเดิม แต่ไม่นิยมปลูก เพราะผลมีขนาดเล็ก รสชาติไม่อร่อยเท่าละมุดฝรั่งซึ่งเป็นชนิดที่ปลูกแพร่หลาย พันธุ์ที่นิยมปลูกและขายในบ้านเรา ได้แก่ พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์มะกอก และพันธุ์กระสวย
ละมุดเป็นผลไม้มีรสชาติค่อนข้างหวาน จึงเพิ่มน้ำตาลให้ร่างกายได้มาก จึงมักนำเอาไปใส่ไอศกรีม ทำน้ำปั่น ข้าวเหนียวละมุดน้ำกะทิ ส่วนผลแก่ที่ยังไม่สุกจะยังคงมีรสชาติเปรี้ยวเนื้อแข็งกรอบ จึงสามารถนำไปทำเป็นอาหารคาวอย่างแกงส้มหรือแกงเหลืองได้ หรือหากผลเริ่มสุกเมนูประยุกต์อย่างแกงเขียวหวานละมุดสีดาก็น่าลิ้มลอง
แกงส้มหมูละมุด
ยางจากต้นละมุดได้มาจากการกรีดยางคล้าย ๆ กับยางพาราในบ้านเรา แต่จะกรีดไม่บ่อยเหมือนยางพารา ต้นแต่ละต้นให้น้ำยางประมาณ 14-16 กิโลกรัมต่อปี น้ำยางสีขาวนี้จะมีสาร “ชิเคิล (Chicle)” อยู่ประมาณ 25-30% ซึ่งเป็นสารสำคัญในการทำหมากฝรั่ง
การกรีดยางจากต้นละมุด
ยางชิเคิลแห้งถูกนำมาเคี้ยวโดยชาวมายาโบราณ และเนื้อไม้ละมุดนั้นยังถูกนำไปใช้ทำเป็นไม้คานในการสร้างวัด หรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เพราะไม้ละมุดมีความทนทานแข็งแรงมาก
การทำให้ได้ชิเคิลทำโดยการนำน้ำยางที่ได้มาเคี่ยวจนแข็ง แล้วนำไปล้างและทิ้งไว้ให้แห้ง โดยจะมีสารเรซิน (resins) เป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 40% จากนั้นจึงค่อยเติมสารเพิ่มรสชาติและน้ำมันหอม รสชาติและกลิ่นของหมากฝรั่งที่คุ้นเคยกันมาก ๆ คือ น้ำตาล หรือสารทดแทนความหวาน น้ำมันหอมระเหยพวกมิ้นต์ และแต่งกลิ่นรสชาติลงไป
หมากฝรั่งยี่ห้อที่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากของโลกคือ “ชิเครทส์ (Chiclets)” ซึ่งต่อมาการเคี้ยวหมากฝรั่งได้กลายเป็นวัฒนธรรมของคนอเมริกันไปในที่สุด
หมากฝรั่งที่มีจำหน่ายกันในบ้านเราปัจจุบันมีอยู่หลากหลายยี่ห้อ หลายกลิ่นและรสชาติ แต่หมากฝรั่งชิเครทส์เองก็ได้รับความนิยมลดลง และรูปแบบของผลิตภัณฑ์และการบรรจุก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
หมากฝรั่งไม่ได้มีแค่เคี้ยวมันเคี้ยวเพลิน แก้เซ็ง หรือแก้ปากว่าง แต่มีผู้รวบรวมเอาไว้ได้ถึง 10 ข้อ คือ
(1) เสริมสร้างสมาธิและความจำ (2) เพิ่มความตื่นตัว (3) ลดความเครียดและความวิตกกังวล (4) ปกป้องฟัน (5) ลดกรดไหลย้อน (6) ช่วยเพิ่มลมหายใจที่ดี (7) ปรับปรุงนิสัยการกินเพราะลดอาการอยากอาหารบางอย่างทำให้กินอาหารได้น้อยลง (8) ช่วยเลิกสูบบุหรี่ (9) บรรเทาอาการปากแห้ง (10) บรรเทาอาการปวดหูระหว่างนั่งเครื่องบิน
กินหมากฝรั่งอาจจะไม่อิ่มท้อง แต่อิ่มสมองเพราะได้รู้ที่มาและประโยชน์อีกหลายประการ
โฆษณา