26 มิ.ย. 2019 เวลา 06:30 • การศึกษา
“จะซื้อบ้านแต่กู้เงินไม่ผ่าน จะขอเงินมัดจำคืนได้หรือไม่ ?”
เมื่อวานมีเพื่อนแอดมินมาปรึกษาว่าอยากได้ตึกแถวซักห้องเพื่อมาเปิดร้านซักอบรีด แต่เพื่อนแอดมินมีเงินไม่พอขาดอีกประมาณครึ่งหนึ่งของราคาตึกแถว (สมมติตึกแถวราคาประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อนแอดมินมีเงินเก็บอยู่ 1.5 ล้าน จึงขาดอีก 1.5 ล้านบาท)
เมื่อมีเงินไม่พอ เพื่อนแอดมินจึงคิดจะกู้ธนาคารเพื่อจะได้มีเงินมาซื้อตึกแถว
โดยตึกแถวดังกล่าวอยู่ในทำเลที่ดี
มีนักศึกษาอยู่เยอะ จึงทำให้มีคนอื่น ๆ
ให้ความสนใจจะซื้อตึกแถวนั้นเหมือนกัน
ด้วยความที่เพื่อนแอดมินอยากได้ตึกแถวนั้นมากเพราะเห็นโอกาสที่ดีในการลงทุน
จึงได้ติดต่อเจ้าของตึกแถวเพื่อขอทำสัญญาจะซื้อจะขาย พร้อมวางมัดจำไว้เป็นเงิน
1.5 ล้านบาท และจะขอกู้เงินธนาคารอีก 1.5 ล้านบาท
แต่ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นคือ เพื่อนแอดมินประกอบอาชีพค้าขาย และไม่ค่อยได้อัพเดทเงินหมุนเวียนในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้โอกาสจะกู้เงินผ่าน หรือได้ตามจำนวนที่ต้องการมีน้อยมาก
เนื่องจากสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ถ้าฝ่ายผู้จะซื้อ (เพื่อนแอดมิน) ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เช่น ผู้จะซื้อไม่สามารถชำระเงินค่าตึกแถวได้ ผู้จะขาย (เจ้าของตึกแถว) ก็มีสิทธิที่จะริบเงินมัดจำที่วางไว้ได้
หรือกรณีที่ผู้จะขายไม่ยอมโอนตึกแถวให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญา ผู้จะซื้ออาจฟ้องให้ศาลบังคับโอนตึกแถวให้ หรือคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เพื่อนแอดมินต้องเสียเงินมัดจำไปฟรี ๆ ในกรณีที่กู้เงินไม่ผ่าน หรือได้เงินน้อยกว่าที่ต้องการ จึงต้องระบุข้อความไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายว่า
📝 "หากธนาคารที่ผู้จะซื้อได้ติดต่อขอกู้เงิน ไม่อนุมัติเงินกู้ หรืออนุมัติเงินน้อยกว่าที่ขอกู้ ให้สัญญาเป็นอันเลิกกันและผู้จะขายยินยอมคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้จะซื้อ"
ซึ่งการระบุข้อความไว้ในสัญญาอย่างนี้ สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย (ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540) ☑️☑️☑️
สรุปคือ ถ้าในสัญญาได้ระบุข้อความไว้ว่า ให้คืนเงินมัดจำถ้าผู้จะซื้อกู้เงินไม่ผ่าน อย่างนี้ผู้จะขายก็ต้องคืนเงินมัดจำตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่ถ้าไม่ได้ระบุไว้ก็ต้องเป็นไปตามข้อกฎหมาย คือ ผู้จะขายสามารถริบเงินมัดจำได้
📌 TIP : สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาซื้อขายประเภทหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญาตกลงทำกันไว้ในวันทำสัญญาหรือในขณะทำสัญญา โดยตกลงกันว่าจะไปทำการซื้อขายให้ถูกต้องตามแบบของกฎหมายอีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า การทำสัญญาจะซื้อจะขายจึงยังไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อ
โดยผู้ที่ขอซื้อ เรียกว่า ผู้จะซื้อ ส่วนเจ้าของทรัพย์สินที่ต้องการขาย เรียกว่า ผู้จะขาย
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
Cr. pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา