2 ก.ค. 2019 เวลา 13:00 • การศึกษา
“เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ลูกหนี้จะทำอะไรได้บ้าง ?”
วันนี้แอดมินมีเรื่องเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยกู้ยืมเงินมาฝาก เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านอยู่บ้าง
โดยก่อนทำสัญญากู้ยืมนั้น ลูกหนี้ควรจะรู้ว่าเจ้าหนี้ของเรานั้น เค้ามีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เท่าไหร่ ซึ่งก่อนจะถึงตรงนั้น เราจะต้องรู้จักประเภทของเจ้าหนี้ซะก่อน เพราะเจ้าหนี้แต่ละประเภทกฎหมายกำหนดให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้แตกต่างกัน
เราแบ่งประเภทของเจ้าหนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ เจ้าในระบบ กับเจ้าหนี้นอกระบบ
💰"เจ้าหนี้ในระบบ" คือ เจ้าหนี้สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เช่น ธนาคารพาณิชย์, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
โดยการคิดดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามที่
พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินกำหนดไว้ (ไม่ต้องคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
💰"ส่วนเจ้าหนี้นอกระบบ" ก็คือ เจ้าหนี้อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (เช่น บุคคลกู้เงินบุคคล) ซึ่งเจ้าหนี้ประเภทนี้จะไม่มีหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมดูแลการปล่อยเงินกู้
เราจึงได้ยินข่าวด้านลบเกี่ยวกับเจ้าหนี้ประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก และมีวิธีการทวงหนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง
ซึ่งปัญหาการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็มักจะเกิดขึ้นกับการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ
การคิดดอกเบี้ยกู้ยืมเงินนอกระบบนั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งกฎหมาย "ห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าคิดเกินกว่าที่กำหนด ดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวเป็นโมฆะ"
(โมฆะเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย แต่เงินต้นและดอกเบี้ยกรณีผิดนัด (ถ้ามี) ยังต้องใช้อยู่นะ)
เมื่อการกู้ยืมเงินนอกระบบ กฎหมายกำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี (1.25 ต่อเดือน) หากเจ้าหนี้ได้คิดดอกเบี้ยเกิน และลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว (ส่วนใหญ่จะเป็นการชำระดอกเบี้ย) ลูกหนี้จะมีวิธีดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากในส่วนของดอกเบี้ยกู้ยืมเป็นโมฆะไปแล้ว
ซึ่งเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ
1. เจ้าหนี้ให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.3 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี (ข้อเท็จจริงในคดีนั้น) ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ประกอบกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ
2. เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระไปแล้วนั้น ไม่ถือว่าลูกหนี้ชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันเป็นสาเหตุให้ลูกหนี้ไม่มีสิทธิได้รับเงิน
คืนได้
3. เมื่อดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เป็นโมฆะ เท่ากับว่าสัญญากู้ยืมไม่ได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่ลูกหนี้ชำระไปแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่ลูกหนี้ชำระหนี้ ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2131/2560)
สรุปคือ หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องถือว่าดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเป็นโมฆะทั้งหมด เงินที่ลูกหนี้ได้ชำระสำหรับดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะไปแล้ว สามารถนำมาชำระเป็นเงินต้นได้ทั้งหมด 😁👍
📌 ทั้งนี้ การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น นอกจากจะมีผลให้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดเป็นโมฆะทั้งหมดแล้ว ยังมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหนี้ที่ฝ่าฝืน
โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย 😫
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
Cr. pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา