1 ก.ค. 2019 เวลา 14:20 • สุขภาพ
โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขไทยและทั่วโลก มีอุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ในภาวะเฉียบพลันจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหลอดเลือดหัวใจตีบที่รุนแรง (Acute Coronary Syndrome) และในรายที่เป็นเรื้อรัง (Stable Angina และ Chronic Ischemic Heart Disease) ซึ่งปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดโรคคือ #พฤติกรรมในการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะทำให้หัวใจคุณแข็งแรงมีง่ายๆ 7 ขั้นตอนดังนี้
1.เลิกบุหรี่ พบว่าการเลิกบุหรี่จะช่วยป้องกันการเสียชีวิต และภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจขาดเลือดได้
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยแนะนำอยู่อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไป
3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารหวานมันเค็มจัด และอาหารฟาสฟู้ด
4.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยในคนไทยแนะนำให้ค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.0-23.0 kg./sq.m
5.ควบคุมระดับน้ำตาลได้อยู่ในเป้าหมาย โดยปกติน้ำตาลหลังจากอดอาหารควรมีค่าไม่เกิน 100 มก/ดล.
6.ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ คือไขมันโดยรวมไม่เกิน 200 มก/ดล. และไขมันตัวร้าย (LDL-C) ไม่เกิน 130 มก/ดล.
7.ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเป้าหมาย คือประมาณ 120/80 mmHg หรืออาจสูงกว่านั้นได้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
ดังนั้นอย่าลืมหันกลับมาดูแลหัวใจตัวเองให้ดีกันนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้าจะได้อยู่กับคนที่เรารักไปนานๆ
เอกสารอ้างอิง
Johannah Sakimura. Step Up to Heart Attack and Stroke Prevention . 2013.
โฆษณา