11 ส.ค. 2020 เวลา 03:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปัญหาจากการเล่น Social Media ที่คุณพบเจออยู่ทุกวัน - คุณเป็นกี่ข้อ มาคุยกับครับ 😸
9 สิ่งแย่ ๆ ในโลกของ Social Media
ในโลกปัจจุบันนี้ Social Media เป็นดั่งสายน้ำเกลือของใครหลาย ๆ คน ด้วยความย่อยง่าย บวกกับความน่าสนใจของมัน ทำให้มีคนเลือกใช้บริการกันอย่างอุ่นหนาฝาคลั่ง พอรู้ตัวอีกทีก็ติดงอมแงมจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว
จึงเป็นที่มาของโพสต์นี้ว่าอยากบอกถึงผลเสียของ Social Media แก่ชาวบล็อกดิตทุกคน เพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ ว่าควรเลิก หรือเล่นต่อ?
1. Information Overload
เป็นปัญหาสุดคลาสสิกอันดับ 1 ของผู้ใช้งาน Social Media เพราะแม้ว่าข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ผู้ใช้งานสามารถรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันท่วงที มีการปรับแต่งระบบ ป้อนข้อมูล ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และวิถีชีวิตของผู้ใช้
แต่อีกมุมหนึ่ง การต้องอ่านโพสต์บนโซเชียลที่มีมากมายต่อวัน
“1 คน 1 โพสต์ 1000 คน 1000 โพสต์”
ซึ่งการพยายามจะเสพข้อมูลทั้งหมด 1000 ชุดเหล่านี้ เป็นการกระทำที่เสมือนจิบน้ำชาจากสายดับเพลิง
ไม่มีทางเลยครับ ที่จะรับมาได้ทั้งหมดโดยไม่ให้ตัวเปียก
ดูสิ! น้ำแรงขนาดนี้ ใครจะดื่มทัน
2. เสียเวลา
จากสถิติการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกโดย We Are Social บอกว่า คนไทยเล่นอินเตอร์เน็ตโดยเฉลี่ยคนละ 9 ชั่วโมง 11 นาทีต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเตอร์เน็ตของคนทั้งโลก คืออยู่ที่คนละ 6 ชั่วโมง 42 นาทีต่อวันเท่านั้น
เวลา 9 ชั่วโมง ไม่ใช่อะไรที่น้อย ๆ เลยครับ ผมเชื่ออย่างหมดใจว่า หากเราสามารถเจียดเวลาซักนิด แล้วเอามาใช้พัฒนาความสามารถ เพิ่มพูนความรู้ ฝึกฝนทักษะ ประสบการณ์ หรือทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้คน มันจะดีสุด ๆ ไปเลย
ยกตัวอย่างเช่น ทำงาน อ่านหนังสือ เข้าคอร์สฝึกอบรม ยกเวท เล่นฟิตเนส ฝึกว่ายน้ำ ดำน้ำ ปลูกปะการัง ฯลฯ
3.ความหม่นเศร้าจากการเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับผู้อื่น
คงมีคนโต้แย้งกลับมาว่า ก็หาคนที่ชีวิตแย่ ๆ สิ จะได้รู้สึกดี 555+
มันก็ได้แหละครับที่คุณจะทำเช่นนั้น แต่ก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่เลย เพราะผมเชื่อว่าบรรดาลิสต์รายชื่อเพื่อนบน Social Media ของคุณ คงจะมีเพื่อนในชีวิตจริงไม่ใช่น้อย
คุณจะต้องไล่ลบเพื่อนทุกคนที่โพสต์รูปดี ๆ ชีวิตแลดูมีสีสันออกไปให้หมด
หากทำเช่นนั้น คุณมีโอกาสสูงมากที่หน้าฟีดจะเหลือแค่โพสต์ของตัวเอง
เพราะอะไรน่ะเหรอ?
ต้องเท้าความถึงธรรมชาติของมนุษย์กันก่อนครับ มนุษย์มีสัญชาติญาณของการดำรงเผ่าพันธุ์ การนำเสนอให้ตัวเองออกมาดูดีเสมอเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม (หรือเพศเดียวกัน) เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ใน DNA ของมนุษยชาติ
เพราะไม่อย่างนั้นมนุษย์เราคงจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ได้ ก็จะไม่รู้สึกต่ำต้อยเวลาเห็นใครมีชีวิตดี ผ่าน Social Media เหตุเพราะพวกเขาแค่กำลังพยายามทำให้ตัวเองดูดีเฉย ๆ
ในความเป็นจริง ทุกคนมีเรื่องแย่ เรื่องลำบากให้ต้องทนทุกข์กันหมดอยู่แล้ว ดังในนิยายปรัชญาก้องดิด ตัวละครหนึ่งได้กล่าวกับเจ้านายของตนว่า
“หากคิดว่าคุณมีชีวิตแย่ เลวร้าย หรือน่าสงสารที่สุดแล้ว ลองถามคนบนโลก 100 คน หากใครซักคนในนั้นเล่าว่าตนมีชีวิตที่เลวร้ายน้อยกว่าคุณ ให้เอาตีนมาเหยียบหน้าฉันได้เลย"
แนะนำครับเรื่องนี้
4. สมาธิสั้น
“สมาธิสั้น คืออาการของคนที่ไม่สามารถทำอะไรนาน ๆ ได้ วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง นั่งฟังการบรรยายได้ไม่ทน งานที่ต้องใช้การฝึกฝน ทำซ้ำ จะเป็นยาขมของคนสมาธิสั้นแบบสุด ๆ”
เมื่อได้อ่านดังนั้น หลายคนก็คิดว่า เฮ้ย! เราเล่น Social Media ได้นานเป็นชั่วโมงเลยนะ แบบนี้ไม่เรียกว่าสมาธิสั้นแล้วมั้ง
ครับ คุณผู้อ่านอาจคิดเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงคือ แม้ตัวจะนิ่ง หากการเล่น Social Media มีอวัยวะส่วนหนึ่งที่มีการขยับอยู่ตลอดเวลา นั้นก็คือ “ดวงตา” นั่นเอง
อีกทั้งหน้าจอก็มีการสลับปรับเปลี่ยนภาพแสดงผลอยู่ตลอด ทำให้สมองเรารู้สึกว่ามีการ Activity ตื่นตัวอยู่อย่างเสมอเหมือน
ผมเคยอ่านบนความหนึ่งว่าด้วยเรื่องของเทรนด์โซเชียลมีเดียปัจจุบัน สื่อที่คนเลือกเสพมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้
วีดีโอ > รูปภาพ > Infographic > ตัวอักษร
เห็นอะไรไหมครับ การเรียงลำดับนี้มีความน่าสนใจอย่างคือ มันเรียงตามอรรถรสที่จะได้จากการเสพ
สื่อตัวอักษรที่มีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด ชัดเจนว่ามีคนเลือกเสพน้อยที่สุดเป็นเงาตามตัว
คนสมาธิสั้นจะไม่สามารถทนอ่านเรื่องราวยาว ๆ ได้เท่าการเสพวีดีโอสตรีมมิ่ง ที่มีคนคอยเอนเตอร์เทนเราอย่างสนุกสนาน
5. เสียสายตา
ข้อนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนเด่นชัดโดยแทบไม่ต้องอธิบายเลย สายตา เมื่อใช้เยอะ ๆ แล้ว จะไม่ให้เสียได้อย่างไร เรียกได้ว่าเป็นเรื่องเมคเซนส์ที่ยิ่งกว่าเมคเซนส์
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 มติชนออนไลน์ ได้พาดหัวข่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “อีก 30 ปีเศษ คนครึ่งโลกจะสายตาสั้น” อ่านต่อได้ที่ลิ้งค์นี้เลยครับ
ทีมแพทย์นานาชาติใช้วิธีการตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการศึกษาวิจัย 145 ชิ้นจากหลายประเทศ ผลวิเคราะห์ระบุว่า ในปี 2050 ประชากรราวครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด (เกือบ 5,000 ล้านคน) จะมีสายตาสั้น
นายแพทย์โควิน ไนดู หนึ่งในทีมแพทย์วิจัยนานาชาติ กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำอันทรงพลังว่า
“เราสามารถใช้เวลาอ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนนาน ๆ ได้ โดยที่ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็ยังสามารถป้องกันภาวะสายตาสั้นได้”
6.หงุดหงิดง่าย
อาการหงุดหงิดง่าย สืบทอดต่อมาจากอาการสมาธิสั้น ด้วยความที่โลก Social Media เป็นโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เราชินกับความเร็วนี้
เมื่อใดก็ตามที่เกิดปัญหาแล้วแก้ไม่ทันท่วงที ก็จะเกิดอาการ “หงุดหงิดฉุนเฉียว” หรือภาษาวัยรุ่นก็คือ “หัวร้อนโว้ย!”
อย่างล่าสุดผมหัวร้อนกับปัญหาอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร มันเซ็ง มันเครียด มันน่าเบื่อ ทั้ง ๆ ที่ก็จ่ายเงินให้ตั้งแพง แต่ก็ยังหลุดบ่อยได้อีกเนี่ยนะ TOT (อิโมจิร้องไห้)
ชั่วขณะนั้นเอง ก็มีคนโทรเข้ามาคุยเรื่องงาน ผมรู้สึกว่าตัวเองพูดด้วยน้ำเสียงแฝงความโกรธออกไปนิดหน่อยด้วย แต่ก็อ้างกับตัวเองว่า “ใครใช้ให้โทรมาตอนนี้เล่า!” นั่น ไปโทษเขาเฉย
ผมคิดว่าอาการหงุดหงิดง่ายเนี่ย เป็นอาการที่ไม่ดีเอาซะเลย พยายามจะลดให้ได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งผมก็อยากให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ
เพราะเราต้องอยู่กับคนอีกมากมาย การรักษาบรรยากาศในความสัมพันธ์ มันจะทำให้เรารู้สึกดีด้วยกันทุกฝ่าย
7. ลืมผู้คนบนโลก
การเล่น Social Media สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือน Achieve ของใครหลาย ๆ คน คงเป็นการโพสต์สื่อลงไปแล้วมียอดไลค์ ยอดฟอลโล่ว ยอดวิว ชนิดถล่มทลาย จึงมักพยายามลงเรื่องราวให้มีความน่าสนใจอยู่เสมอ
“มัวแต่จะโพสต์ให้คนชอบ จนลืมมองคนรอบกาย”
มันก็ไม่ได้แย่เสมอไปหรอกครับ แต่การรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลที่เราเห็นหน้ากันด้วย น่าจะดีกว่านะครับ
เพราะอย่าลืมว่าคนเหล่านี้เราสามารถมีประสบการณ์ร่วมกันได้เยอะ และง่ายกว่าคนบนโลกออนไลน์เป็นไหน ๆ ยามมีปัญหาก็สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้
8. เครียดกับความคิดที่ขัดแย้งกัน
คนเราไม่มีทางมีความคิดเดียวกัน โดยไม่ขัดแย้งกันเลย ประธานาธิปดี หรือนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีคนติฉินนินทากันตั้งมากมาย แม้พวกเขาจะเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประเทศชาติขนาดนั้น
โลก Social Media ทำให้ความคิดที่สวนทางกันมาเจอกันได้มากขึ้น มองแง่ดีก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดีเบทกัน
แต่หากมองอีกแง่คือ คนเรายากที่จะยอมจำนนให้กับหลักการของอีกฝ่าย ดังนั้นเราที่เป็นผู้เสพก็จะได้อ่านความคิดมากมายเหล่านั้น
ทั้งเยอะ ทั้งดราม่า ตาย ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เครียดตาย
9. ต้องแยกแยะอยู่ตลอดเวลา
ข้อสุดท้ายนี้ผมคิดว่ามันเป็นข้อที่สำคัญมาก ไม่ใช่กับเฉพาะ Social Media เท่านั้น แต่แทบทุกสื่อเลยหล่ะ ที่เราต้องแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ อันเรียกว่า
“การประกอบสร้าง”
ผมมีแพลนอยากเขียนเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งบทความ แต่ในตอนนี้ขออธิบายคร่าว ๆ ไอ้การประกอบสร้างที่ว่าเนี่ย
มันคือการที่ผู้ผลิตสื่อทั้งหลาย (เจ้าของสื่อ เพจที่เราติดตาม) พยายามสร้างสถานการณ์ให้ออกมาดู “เรียล” ที่สุด
ยกตัวอย่างเรื่องราวหนึ่งบน Social Media แชร์เรื่องราวว่าตนทำดีงู้นงี้ ไปเก็บขยะ ช่วยเหลือคนยากไร้ บริจาคเงินกับมูลนิธิ และอีกมากมาย
เหมือนจะดีใช่ไหมครับ แต่! ปรากฏว่า ภายหลังได้มียูสเซอร์ส่วนหนึ่งเข้าไปจับผิดมากมาย ว่าเอ๊ะ ตรงนั้นมันแปลก ๆ นะ ตรงนี้ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ภาพตัดต่อหรือเปล่า
ดูไม่ “Make Sense” เอาซะเลย
เมื่อสืบสาวเรื่องราวไปเรื่อย ๆ เข้า สรุปได้ว่า เรื่องราวที่ว่านี้เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ หลอกลวง ใช้ความสามารถในการตัดต่อภาพเพื่อสร้างภาพลักษณ์แก่ตนเอง
(ตัวอย่างนี้ไม่มีอยู่จริงนะครับ ผมแค่สมมติขึ้นมาเฉย ๆ เพื่อให้เห็นภาพ)
ลองคิดดูว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายใน Social Media ที่เรากำลังเสพอยู่ เราไม่สามารถดูแล้วรู้ได้ทันทีว่าเรื่องไหนจริงเท็จประการใด เพราะบางทีเราก็ขาดทักษะในการจับผิดเหล่านั้น
ประเด็นที่ผมต้องการสื่อก็คือ แล้วเรื่องราวดี ๆ ที่ทุกอย่างดู Make Sense ไม่มีที่ติเลย เป็นเรื่องราวที่เป็นมิตรกับผู้อ่าน จะเป็นความจริงทุกประการเลยใช่หรือไม่?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เรื่องราวนั้น ก็แค่เนียนมาก ๆ จนไม่มีใครจับได้
อืมมมมมมมมมม์
อ่านเสร็จแล้วเครียดกันไหมครับ ผมเขียนเองยังเครียดเลย (555+)
1
ซึ่งผมก็อยากจะให้ทุกคนได้เข้าใจถึงข้อเสียที่ผมลิสต์มาให้ 9 ข้อ ในโพสต์นี้นะครับ
เพราะเป็นข้อเสียที่น่ากลัวและควรตระหนักไว้
ความจริงแล้ว Social Media ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องแย่ ๆ ไปเสียอย่างเดียว มันก็มีข้อดีที่ดีมาก ๆ อยู่เหมือนกัน
ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า เราควรใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์ สกัดเอาข้อดีของมันมา และคัดกรองส่วนแย่ ๆ ออกไป
หากทำได้ มันจะกลายเป็นการติดปีกให้กับชีวิตของคุณเลยล่ะครับ
โฆษณา