3 ก.ค. 2019 เวลา 13:22 • การศึกษา
“ลูกจ้างทำผิด นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย
เหรอ ?”
วันนี้แอดมินอยากนำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อหนุนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านกฎหมายและจริยธรรม
นายจ้างในที่นี้ คือนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน ไม่รวมถึงผู้ว่าจ้างจากการจ้างทำของ หรือการจ้างงานของหน่วยงานราชการ (สรุปก็คือ ผู้ประกอบการภาคเอกชนนั่นเอง)
นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานให้กับนายจ้าง หากกิจการของนายจ้างไปได้ดีมีกำไร ลูกจ้างก็อาจจะได้ประโยชน์ไปด้วย เช่น ได้โบนัส, ได้รับสวัสดิการที่ดี แต่ถ้ากิจการของนายจ้างไปไม่รอด ลูกจ้างก็อาจต้องตกงาน ฯลฯ
ใครที่เป็นนายจ้าง หรือกำลังจะเป็นนายจ้าง แอดมินอยากให้อ่านบทความนี้และทำความเข้าใจให้ดี เพราะถ้าหากไม่เข้าใจในเรื่องนี้ อาจทำให้ต้องเสียเงินเสียทองโดยไม่รู้ตัว
เพราะนอกจากความผูกพันตามกฎหมายที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างในเรื่องของการจ่ายค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ แล้ว นายจ้างยังมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอก ในการที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขา หากเขาได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของลูกจ้างอีกด้วย
แต่จะมีกรณีใดบ้าง ที่นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้อย่างนี้ครับ
กฎหมายบอกว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น”
1
คำว่า “ร่วมรับผิด” ในที่นี้ คือ การร่วมรับผิดชอบชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกที่ลูกจ้างได้ไปทำให้เค้าเสียหาย โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกจ้าง
3
แต่ใช่ว่านายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในทุกกรณีที่ลูกจ้างไปทำความเสียหาย โดยกฎหมายให้นายจ้างร่วมรับผิดเฉพาะกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นระหว่าง “ทางการที่จ้าง” เท่านั้น
กรณีใดคือทางการที่จ้าง ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของ ในระหว่างขับรถเกิดหลับในไปชนคนข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ อย่างนี้ถือว่าความเสียหายของบุคคลภายนอกเกิดขึ้นระหว่างทางการที่จ้าง นายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย
แต่ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างเท่านั้น เราลองมาดูตัวอย่างกันครับ
1️⃣ เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุระส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4786/2558)
ส่วนกรณีใดบ้างที่ไม่ถือว่าเป็นกระทำในทางการที่จ้าง ลองมาดูตัวอย่างนี้ครับ
2️⃣ ลูกจ้างขับรถบรรทุกในทางการที่จ้าง บังเอิญไปพบคู่อริที่เคยมีเรื่องกันมาก่อน จึงขับรถบรรทุกชนคู่อริ อย่างนี้ถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับนายจ้าง
(ความเสียหายที่เกิดจากเหตุส่วนตัวไม่ถือว่าเกี่ยวข้องกับกิจการในทางการที่จ้าง)
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3750/2545)
3️⃣ ลูกจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถ แต่นำรถของนายจ้างออกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และไปชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ไม่ถือว่าเหตุเกิดในทางการที่จ้าง
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4044/2548)
📌 ทั้งนี้ เมื่อนายจ้างได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สามารถเรียกเงินที่เสียไปคืนจากลูกจ้างได้
📌📌 ยังมีคำพิพากษาที่วินิจฉัยในเรื่องนี้อีกมาก ซึ่งตัวอย่างที่แอดมินยกขึ้นมานี้เป็นเพียงบางส่วนเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเบื้องต้น ถ้าสนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ โดยใช้คำว่า “ทางการที่จ้าง” ในการค้นหาครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
Cr. pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา