8 ก.ค. 2019 เวลา 05:00 • ปรัชญา
คัมภีร์สูตรเรือนชะตา
โดย อ.ประยูร พลอารีย์
ควรอ่านเล่มนี้ก่อน สำหรับการปูพื้นเรื่องเรือนชะตาของโหราศาสตร์ยูเรเนียน
เกือบสองร้อยหน้าแรกปูพื้นฐานความเป็นมาของระบบเรือนชะตาและความหมาย ก่อนจะพัฒนามาเป็นเรือนชะตาตามแบบของ Witte ที่ใช้ Equal Mc แต่ปรับตำแหน่งเรือนสะท้อนไปตามจุดเจ้าชะตาทั้ง 6 อันได้แก่ จุดเมษ ลัคนา เมอริเดียน อาทิตย์ จันทร์ และราหู
เนื้อหาส่วนที่เหลืออีกราวสามร้อยหน้า เป็นการแปลความหมายเรือนชะตาแบบต่างๆ รวมถึงปัจจัยฟากฟ้า เมื่อเข้าไปอยู่เรือนชะตาตามตำแหน่งต่างๆ ความน่าสนใจอยู่ที่การสะท้อนของเรือน ช่วยขยายความหมายแต่ละปัจจัยออกไปได้อีกมากมาย
เคยสงสัยอยู่ว่า ความหมายที่อยู่ในระบบเรือนชะตา จะเหมือนหรือแตกต่างไปจากความหมายตามสูตรพระเคราะห์สนธิอย่างไร
กล่าวคือถ้าสูตรพระเคราะห์สนธิไม่ครอบคลุมเนื้อหาของเจ้าชะตา ทำไมนักโหราศาสตร์ยูเรเนียนแทบไม่ได้ใช้กัน แต่ถ้าสูตรพระเคราะห์สนธิมีความสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว ทำไมถึงมีการสร้างระบบเรือนชะตาเพิ่มขึ้นมาอีกให้นักศึกษาบางคนงง
เคยได้คำตอบแบบตั้งสมมติฐานในใจแบบไม่ตกผลึกว่า ระบบเรือนชะตาบอกถึงขอบเขตที่เกี่ยวกับทางเลือก (choices) ที่เจ้าชะตามีอยู่ แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงเงื่อนไข (conditions/situation) และเงื่อนเวลา (timing) ที่จะทำให้ทางเลือกนั้นเป็นจริงกับเจ้าชะตา
ลองสมมติว่าแต่ละคนเป็นนักท่องเที่ยว แต่ละคนก็พกแผนที่มาคนละใบ คนที่เกิดวันเดือนปีเกิดและเวลาเกิดใกล้กัน ก็เปรียบเสมือนพกแผนที่ฉบับเดียวกัน ที่จะบ่งบอกว่า หากขึ้นเหนือ ลงใต้ ไปซ้าย ไปขวาจะเจออะไร แต่ทุกคนจะไปสถานที่ๆแตกต่างกัน สืบเนื่องเพราะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดทางเลือกที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง
การใช้แค่สูตรพระเคราะห์สนธิจึงช่วยร่นระยะเวลาพิจารณา เนื่องจากได้พิจารณาเฉพาะเงื่อนไขที่ตรงกับสิ่งที่เกิดกับเจ้าชะตาอยู่ ณ ขณะนั้นนั่นเอง เช่น เด็กคนหนึ่งที่เป็นลูกส.ส.หลายสมัย ได้ตัดสินใจมาอยู่แวดวงการเมืองแล้วตามพ่อแม่ ถึงที่จิตใจและความปราถนาอาจจะเป็นนักดนตรีก็ตาม จึงต้องพิจารณาวิถีชีวิตในฐานะที่เป็นนักการเมือง ไม่ใช่นักดนตรี เสน่ห์ของโหราศาสตร์ยูเรเนียนคือการพิจารณาเฉพาะปัจจัยที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของเจ้าชะตาจริงๆ ไม่ใช่ตีความแบบกว้างๆที่จะได้เฉพาะคำพยากรณ์ที่สอดคล้องกับคนที่เกิดวัน เดือน ปี เวลา และสถานที่เดียวกันกับเจ้าชะตา ที่ไม่ใช่ตัวเจ้าชะตาโดยตรง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา