11 ก.ค. 2019 เวลา 11:50 • การศึกษา
“ใครมีกิ๊ก หรือเป็นกิ๊กระวังให้ดี อาจถูกฟ้อง เสียทั้งเงินและชื่อเสียง !!!”
การแต่งงาน (จดทะเบียนสมรส) ไม่ได้เป็นเรื่องของความผูกพันทางกาย หรือจิตใจระหว่างหญิง ชายเท่านั้น แต่ยังมีผลไปถึงความผูกพันตามกฎหมายทั้งในเรื่องของทรัพย์สิน หน้าที่ดูแลซึ่งกันและกัน รวมถึงขอบเขตที่กำหนดให้ชายหรือหญิงอื่นเข้ามาแทรกแซงระหว่างคู่สมรสอีกด้วย
ในกรณีที่ชายหรือหญิงที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย ได้ไปมีความสัมพันธ์กับชายหรือหญิงอื่นในลักษณะชู้สาว
ชาย (สามี) หรือหญิง (ภริยา) ฝ่ายที่ถูกกระทำจะเรียกร้องค่าทดแทนจากฝ่ายที่มีชู้ หรือคนที่เป็นชู้ได้หรือไม่ เพียงใดเราไปดูกันครับ
กรณีที่ 1
2
"เมื่อสามีหรือภริยาได้ฟ้องหย่ากันด้วยสาเหตุที่อีกฝ่ายอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันสามี ภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าแล้ว สามีหรือภริยาฝ่ายที่ถูกนอกใจมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากอีกฝ่าย และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการหย่า"
การเรียกค่าทดแทนในกรณีที่ 1 นี้ จะใช้เมื่อคู่สมรสฝ่ายที่เสียหายหายไม่ต้องการจะใช้ชีวิตสมรสร่วมกับอีกฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป จึงต้องยุติด้วยการฟ้องหย่าต่อศาล ซึ่งสามารถเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสฝ่ายที่นอกใจ (และนอกกาย) และจากคนที่เป็นชู้ โดยการฟ้องคู่สมรสเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องคนที่เป็นชู้เป็นจำเลยที่ 2 ได้ และเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หย่าแล้ว ก็จะวินิจฉัยเรื่องค่าทดแทนไปให้ในคราวเดียวกัน
กรณีที่ 2
"สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้"
การเรียกค่าทดแทนในกรณีที่ 2 นี้ จะนำมาใช้เมื่อคู่สมรสไม่ต้องการหย่าจากกัน แต่มีความต้องการเรียกค่าทดแทนจากชายหรือหญิงที่เป็นชู้ ซึ่งกรณีนี้จะไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสฝ่ายที่นอกใจได้
ซึ่งเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า กรณีที่ภริยาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงที่เป็นชู้กับสามีตนได้นั้น จะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าจะต้องมีการแสดงตน "โดยเปิดเผย" ว่ามีความสัมพันธ์กับสามีของตนในเชิงชู้สาว
หากข้อเท็จจริงพบว่าสามีของตนมีชู้กับหญิงอื่นโดยแอบลักลอบได้เสียกัน เช่น นัด (พบ) กันในโรงแรมชานเมืองซึ่งมีลักษณะไม่เปิดเผย อย่างนี้ก็ไม่อาจเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้
อย่างไรถึงเรียกว่าเปิดเผย ?
การเปิดเผยหรือไม่ต้องดูจากพฤติกรรมที่ชายกับหญิงที่เป็นชู้ได้แสดงออกมา เช่น เช่าบ้านอยู่ด้วยกันในที่ชุมชนและมีผู้พบเห็นมากมาย หรือการออกสังคมด้วยกัน หรือมีลูกด้วยกันโดยฝ่ายชายได้อุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุลของตน เป็นต้น
การเรียกค่าทดแทนจะพิจารณาอย่างไร ?
การพิจารณาค่าทดแทนนั้น จะนำความเสียหายที่ได้รับของฝ่ายที่เสียหาย พฤติการแห่งคดี สถานะของคู่สมรสและฝ่ายที่เป็นชู้มาพิจารณา เช่น ชื่อเสียงทางสังคม อาชีพของคู่สมรส หรือชู้, ระยะเวลาที่สมรส,
มีบุตรด้วยกันหรือไม่ เป็นต้น
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4130/2548)
📌 อันนี้สำคัญ!!
หากสามีหรือภริยาได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายกระทำการตามกรณีที่ 1 หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามกรณีที่ 2 สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
พฤติกรรมที่ถือว่า "ไม่ยินยอม" เช่น เคยเขียนจดหมายไปขอร้องให้อีกฝ่ายเลิกยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน หรือไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของสามีว่าคนที่ทำงานมีชู้กับสามีของตน จึงขอให้ช่วยตักเตือน
ส่วนพฤติกรรมที่ถือว่า"ยินยอม" เช่น ยอมอยู่กินร่วมกันสามคนอย่างสามีภรรยา หรือยินยอมให้สามีไปอยู่บ้านเมียน้อย เป็นต้น
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา