13 ก.ค. 2019 เวลา 03:58 • การศึกษา
“ตีกันได้รับบาดเจ็บ จะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ ?”
1
นักเลงตีกัน, มีเรื่องกันเพื่อแย่งผู้หญิง (หรือผู้ชาย), ชกกันเพื่อแย่งสิ่งของ ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้เป็นบางส่วนของเหตุทะเลาะวิวาทที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นของผู้ที่ทะเลาะวิวาท หรือผู้อื่นซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงครอบครัวของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยปกติแล้วบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเหตุดังกล่าว สมควรจะได้รับการเยียวยาจากผู้ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทไม่ว่าจะในทางทรัพย์สินหรือจิตใจ โดยผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ที่ก่อความเดือดร้อนเสียหายได้ตามความเสียหายที่ได้รับ
ส่วนคนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือสมัครใจทะเลาะวิวาทนั้น เมื่อได้รับความเสียหายจากเหตุดังกล่าว เช่น ทรัพย์สินเสียหาย ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากคนที่ทะเลาะด้วยกันได้หรือไม่ ลองอ่านเรื่องนี้ดูครับ 🤜🤛
นาย A กับนาย B เป็นเพื่อนบ้านกัน แต่มักจะมีปากเสียงกันอยู่เป็นประจำ เนื่องจากนาย B ใช้ที่บ้านเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ จึงมีเสียงทดสอบเครื่องยนต์และควันรถรบกวนบ้านของนาย A เป็นประจำ
ส่วนนาย A ก็ใช่ย่อย ตอนกลางคืนชอบพาเพื่อนมากินเหล้าที่บ้านและเปิดเพลง พูดคุยกันเสียงดัง ทำให้นาย B นอนไม่ค่อยหลับ
ทั้งคู่จึงสะสมความไม่พอใจกันเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้งคู่เริ่มทนพฤติกรรมของแต่ละฝ่ายไม่ไหว จึงตะโกนด่ากันไปมา และท้าทายชกต่อยกัน
นาย A และนาย B จึงออกมาชกต่อยกันที่หน้าบ้าน ต่างฝ่ายต่างทำร้ายกันได้รับบาดเจ็บ โดยนาย A ฟันหักไป 2 ซี่ ส่วนนาย B เจ็บหนัก แขนหักและหัวแตกกระโหลกร้าว ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลายสัปดาห์ เสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 บาท
เมื่อนาย B ออกจากโรงพยาบาลจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องสินไหมทดแทนจากนาย A
ซึ่งผลการพิจารณาของศาลจะเป็นยังไงลองอ่านกันดูครับ ⚖️
"เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนจากการทะเลาะวิวาทนั้น แม้โจทก์ได้รับบาดเจ็บก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย"
(อ้าว เฮ้ย 😂😂😂)
2
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 10294/2546)
บทสรุปของเรื่องนี้ ก็คือ การสมัครใจทะเลาะวิวาทกันนั้น แม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายที่ได้รับความเสียหาย "ไม่มีสิทธิ" เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับคู่กรณีอีกฝ่ายครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
Cr. pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา