16 ก.ค. 2019 เวลา 05:29 • การศึกษา
"อายุความ สำคัญแค่ไหน?"
กฎหมายช่วยคนตื่น แต่ไม่ช่วยคนหลับ ⚖️
Cr. pixabay
ประโยคนี้นี้เป็นสุภาษิตกฎหมาย มีความหมายว่า...
กฎหมายจะช่วยเหลือคนที่กระตือรือล้น เรียกร้องสิทธิของตนเท่านั้น ส่วนคนที่ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง กฎหมายก็จะไม่ช่วยเหลือผู้นั้น
เป็นการตักเตือน ให้ใช้สิทธิของตนตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งระยะเวลาใช้สิทธิตามกฎหมายนั้น เราเรียกว่า "อายุความ"
หากไม่ใช้สิทธิตามระยะเวลาที่อายุความกำหนดไว้จะเป็นยังไง ?
กฎหมายบอกว่า "สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้าไม่ได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ"
สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมีผลให้ "ลูกหนี้มีสิทธิยกเหตุนี้ขึ้นมาปฏิเสธไม่ชำระหนี้ได้"
ตัวอย่าง นายร่ำรวย ให้นายยากจน ยืมเงินไป 1 ล้านบาท กำหนดคืนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 หากพ้นกำหนดไปแล้วนายยากจนไม่คืนเงิน นายร่ำรวยมีสิทธิฟ้องศาลให้นายยากจนใช้หนี้ตนได้
แต่ถ้านายร่ำรวยเพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิฟ้องศาลภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด (10 ปีสำหรับการกู้ยืมเงิน) ล่ะ
หากนายร่ำรวยนำเรื่องนี้มาฟ้องศาลในวันที่ 5 เมษายน 2574 ซึ่งเกินอายุความไปแล้ว นายยากจนมีสิทธิปฏิเสธการใช้หนี้โดยอ้างเหตุขาดอายุความได้
(ทั้งนี้ นายยากจนจะต้องยกเหตุขาดอายุความขึ้นอ้างต่อศาลเอง หากไม่ยกขึ้นอ้าง ศาลก็ไม่สามารถนำข้อกฎหมายนี้ขึ้นวินิฉัยเองได้)
แต่อายุความอาจหยุดลงได้ชั่วคราว (กฎหมายเรียก "อายุความสะดุดหยุดลง") ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งต่อไปนี้เกิดขึ้นภายในกำหนดอายุความ
1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ (ยอมรับว่าเป็นหนี้) โดยทำหนังสือรับสภาพหนี้ หรือ ชำระหนี้บางส่วน หรือ ชำระดอกเบี้ย หรือ ให้หลักประกัน หรือ ทำสิ่งใด ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าตนได้ยอมรับว่าเป็นหนี้นั้นจริง
2. เจ้าหนี้ฟ้องคดี
3. เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
4. เจ้าหนี้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
5. เจ้าหนี้ได้ทำสิ่งอื่นซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี
เมื่ออายุความสะดุดหยุดลง จะมีผลให้ระยะเวลาที่ล่วงเลยไปก่อนหน้านั้น ไม่นับรวมเป็นอายุความ และให้เริ่มนับอายุความใหม่
จากตัวอย่างด้านบน หากนายยากจนนำเงินมาชำระให้นายร่ำรวย 2 แสนบาทในวันที่ 5 เมษายน 2566 จะมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าว
ทำให้การนับอายุความ จะต้องเริ่มนับใหม่ นับแต่วันที่นายยากจนชำระหนี้นั้น
📌 ทั้งนี้ หนี้ที่ขาดอายุความไปแล้วนั้น หากลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ว่าขาดอายุความหรือไม่ก็ตาม จะไม่สามารถเรียกคืนได้
📌 📌 การขาดอายุความ เป็นเพียงเหตุที่ลูกหนี้สามารถยกขึ้นมาเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้เท่านั้น ไม่ได้มีผลให้หนี้ระงับแต่อย่างใด
"เพราะหนี้จะระงับไปก็ต่อเมื่อได้ใช้หนี้จนครบ หรือ มีการแปลงเป็นหนี้ใหม่ หรือ เจ้าหนี้ยอมปลดหนี้ให้ หรือ หักกลบลบหนี้กันเท่านั้น"
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา