17 ก.ค. 2019 เวลา 04:58 • การศึกษา
“อยู่ดี ๆ เธอก็ให้มา ?”
พอเห็นหัวข้อของบทความในวันนี้แล้ว เพื่อน ๆ หลายคนที่เป็นวัยรุ่นยุค 90 น่าจะนึกออกนะครับ ว่าเป็นท่อนฮุคของเพลงฮิตในสมัยนั้น ชื่อว่าเพลง “ส้มหล่น” ของวงไมโคร
Cr. Pixabay
คำว่า ส้มหล่น มีความหมายว่า “ได้รับมาโดยไม่คาดคิดมาก่อน” เช่น วันนี้ส้มหล่นเก็บเงินได้ 20 บาท หรืออยู่ดี ๆ เพื่อนก็ซื้อขนมมาฝาก ส้มหล่นจริง ๆ เลย อย่างนี้เป็นต้น
ส่วนคำว่าส้มหล่น ที่เกี่ยวกับบทความกฎหมายซึ่งแอดมินจะนำเสนอในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการได้รับมรดกในฐานะ “ทายาทโดยธรรม”
ก่อนอื่นต้องเข้าเข้าใจก่อนว่า การรับมรดกนั้นกฎหมายได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งจะนำมาใช้ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินไว้ หรือพินัยกรรมนั้นใช้ไม่ได้ และ
ในฐานะผู้มีสิทธิตามพินัยกรรม โดยเจ้ามรดกตั้งใจยกทรัพย์สินให้ใคร ก็ต้องเป็นไปตามความตั้งใจนั้น ซึ่งผู้รับมรดกตามพินัยกรรมอาจไม่ใช่ทายาทของเจ้ามรดกก็ได้
ซึ่งในบทความนี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม
ผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม จะต้องเป็นบุคคลที่กฎหมายกำหนดและเป็นไปตามลำดับชั้น เช่น ลำดับที่ 1. ผู้สืบสันดาน 2. บิดา มารดา 3. พี่น้องร่วมบิดา มารดา เป็นต้น
2
(เรื่องลำดับทายาท แอดมินเคยนำเสนอไว้แล้ว หากสนใจสามารถย้อนดูตามลิงค์นี้ได้ครับ
โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดกับทายาทลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน (ลูกของผู้ตาย) แต่จะเป็นปัญหายังไง และเกี่ยวกับส้มหล่นยังไง ลองมาดูตัวอย่างนี้กันครับ
1
นายยิ่งยศกับนางสมหญิง เป็นสามีภรรยากัน ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยพ่อแม่ของทั้งสองคนต่างก็เสียชีวิตไปหมดแล้วและทั้งคู่ต่างก็เป็นลูกคนเดียวไม่มีพี่น้อง และมีบุตรชายคนเดียวคือ นาย A
วันหนึ่งเมื่อถึงคราวเคราะห์ นายยิ่งยศประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในขณะที่กำลังขับรถกลับจากการทำงาน โดยก่อนตายนายยิ่งยศ ไม่ได้ทำพินัยกรรมเรื่องทรัพย์สินไว้แต่อย่างใด
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว นางสมหญิงและนาย A จะเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายยิ่งยศ โดยมีสิทธิในส่วนของทรัพย์สินเท่า ๆ กัน
แต่ใครจะไปรู้ นายยิ่งยศที่ดูเหมือนจะรักครอบครัว กลับไปความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวไฉไล จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน คือ นาย B
แม้นางสาวไฉไลจะมารู้ในภายหลังว่านายยิ่งยศมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่ก็ยังตัดใจจากนายยิ่งยศไม่ได้ เนื่องจากนายยิ่งยศ ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูนาย B อย่างดี ทั้งให้การศึกษา เลี้ยงดูโดยเปิดเผย และให้ใช้นามสกุลเดียวกัน
เมื่อนางสาวไฉไล ทราบข่าวการเสียชีวิตของนายยิ่งยศ จึงได้พานาย B ไปเคารพศพนายยิ่งยศที่วัดและได้พบกับนางสมหญิง และนาย A เลยถือโอกาสบอกความจริงให้ทั้งคู่ได้รับรู้ถึงสถานะของตนกับนาย B (Grand opening มั้ยล่ะครับ)
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า นางสาวไฉไลกับนาย B จะมีสิทธิได้รับมรดกของนายยิ่งยศหรือไม่
สำหรับไฉไลนั้น ไม่ถือว่ามีความผูกพันตามกฎหมายใด ๆ กับนายยิ่งยศ จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก
ส่วนนาย B ถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว แม้จะโดยทางพฤตินัย เช่น การที่ไปแจ้งเกิด ให้การอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา หรือโดยเปิดเผยกับคนอื่น ๆ โดยทางกฎหมายถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว
โดยกฎหมายถือว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในเรื่องนี้ต้องถือว่า นาย B ส้มหล่นไปเต็ม ๆ ครับ เพราะมีสิทธิได้รับมรดกของนายยิ่งยศ เช่นเดียวกับนางสมหญิง และนาย A ตามส่วนเท่า ๆ กัน
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6896/2549)
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา