22 ก.ค. 2019 เวลา 13:00 • การศึกษา
หุ้น Laggard ?
ภาพ : medicalexpress.com
ในสภาวะปกติของตลาดการซื้อ-ขายหุ้นที่ดูมีทีท่าว่าดี หรือสภาวะหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ดูดีหรือแม้แต่สภาวะที่หุ้นหลายตัวๆ ก็มีราคาที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนหลายๆ ท่านไม่ค่อยจะได้มีเวลาในการตรวจสอบพอร์ตหุ้นของตัวเอง และราคาตลาดในช่วงเวลานั้น (ภาษาหุ้นเรียกว่า “ตกรถ”) โดยกว่าจะตื่นรู้สะดุ้งจากภวังค์ หุ้นหลายๆ ตัวราคาก็วิ่งไปไกลเกินฝันแล้ว...จะทำอย่างไรละทีนี้ ?
ในระหว่างที่ราคาหุ้นหลายตัวขยับราคาสูงขึ้นนั้น ก็จะมีหุ้นอยู่กลุ่มหนึ่งที่อินดี้ ไม่ยึดติดอยู่กับกลุ่มอุตสาหกรรมของตน ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่มีความแตกต่างกัน
ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่เชื่องช้า ซึมๆ หงอยๆ ไม่ค่อยจะตื่นตัวสักเท่าไร โดยเรามักจะได้ยินคำที่นักลงทุนเรียกหุ้นกลุ่มนี้กันว่า “หุ้น Laggard”
ทั้งนี้ เราสามารถวิเคราะห์ธรรมชาติของหุ้นกลุ่มนี้ได้ตามหลักจิตวิทยาการตลาด กล่าวคือนักลงทุนอาจมองว่าหุ้นกลุ่มนำตลาดจะได้รับผลประโยชน์ในการลงทุนมากกว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มี Market Cap. (มูลค่าตามราคาตลาด) สูง มีการซื้อขายกันใน Volume ที่อลังการดาวล้านดวง สามารถเข้าหรือออกได้ตามอัธยาศัย
ส่วนหุ้นลำดับรองลงมามักจะมีขนาดเล็กและราคาถูกกว่า และมักจะค่อยๆ ปรับตัวตามกลุ่มขนาดใหญ่ไปด้วยความนวยนาด
จะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้น Laggard คือตัวไหน ?
1. หากเปรียบเทียบกับหุ้นกลุ่มนำตลาดแล้ว จะมีขนาดเล็กกว่า และราคาถูกกว่า
2. ขยับขึ้นไม่มากเทียบเท่ากับกลุ่มนำตลาด
3. หรืออาจจะไม่ปรับตัวตามหุ้นกลุ่มนำตลาดเลย หรือกว่าจะปรับตัวตามก็หมดรอบไปเรียบร้อยแล้ว
หรืออาจจะนิยาม “หุ้น Laggard” ว่า...เป็นหุ้นอืด หุ้นเชื่องช้า หุ้นตื่นสาย ก็คงจะไม่ผิด...
ยกตัวอย่าง
หุ้น A หุ้น B หุ้น C และหุ้น D ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน ซื้อขายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 4 บริษัทมีคุณภาพด้านปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับการเติบโตของยอดขาย กำไรสุทธิ ความสามารถการแข่งขัน และนักวิเคราะห์ประเมินการดำเนินธุรกิจในเชิงบวก ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปพร้อมๆ กัน เมื่อประกาศงบไตรมาสแรกออกมาก็เป็นไปตามคาด ทั้ง 4 บริษัททำผลงานได้ดีในระดับใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ราคาหุ้น A ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยหุ้น B และ C ราคาก็ปรับขึ้นตาม แต่เมื่อมองหุ้น D พบว่าราคาแทบไม่ค่อยขยับเลย
“เมื่อเข้าไปดูคุณภาพปัจจัยพื้นฐานของหุ้น D พบว่าไม่ต่างจากธุรกิจ A B และ C เลย แต่ทำไมราคาหุ้นถึงไม่ปรับขึ้นตาม หากเป็นแบบนี้หุ้น D จะถูกเรียกว่าเป็น หุ้น Laggard คือ หุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นตามหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่มีความแตกต่างกัน”
อย่างไรก็ตาม การค้นหาหุ้นที่มีการขยับขึ้นของราคาไม่มากเมื่อเทียบกับทั้งตลาด (Laggard) ยังคงมีวิธีให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลาย เช่น นักลงทุนสามารถคัดกรองหุ้น Laggard ผ่านสัญญาณทางเทคนิค วิธีการคือเปรียบเทียบราคาหุ้นกับดัชนีตลาด (SET Index) หรือดัชนี SET100 หรือดัชนี sSET โดยหุ้นตัวไหนที่มีสัญญาณซื้อ เทคนิคสวย แต่ราคาขยับขึ้นต่ำกว่าดัชนีตลาดที่ใช้ในการเปรียบเทียบ แสดงว่าเข้าข่ายเป็นหุ้น Laggard จากนั้นก็ทำการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ต่อก่อนตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถออกแบบธีม (Theme) หุ้น Laggard หรือกำหนดขึ้นมาเองได้ด้วยตัวเอง เช่น เลือกหุ้น Lagagrd ด้วยธีมอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ หุ้นปันผล หุ้นโครงการเมกกะโปรเจค หรือเลือกหุ้น Laggard ผ่าน SET50 หรือ SET100
“เช่น คัดกรองหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET50 หรือ SET100 ที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา แต่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวต่ำกว่าตลาดอย่างน้อย 3% ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต้องดูว่าหุ้นตัวไหนได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของดอกเบี้ย เช่น บริษัทที่มีเงินสดมาก มีหนี้ต่ำบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปล่อยกู้ เมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นก็สามารถปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตามไปได้”
หลังจากทราบความหมายของหุ้น Laggard กันไปบ้างแล้ว ก็ได้เวลาที่จะมาวางแผนปรับพอร์ตหุ้นของเราให้มีประสิทธิภาพในการทำกำไรได้อย่างสูงสุดตามระยะเวลา หรือประเภทของหุ้นตัวนั้นๆ อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ก็ควรจะทำการศึกษาข้อมูลของหุ้นตัวนั้นๆ และทำการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยต่างๆ อย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขาย...เพื่อให้มีสุขภาพทางใจที่ดี และมีสุขภาพทางการเงินที่ดีตามไปด้วยนะครับ.
ถ้าชอบบทความนี้รบกวนกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามให้กำลังใจกันด้วยนะครับ 🙏🏻😊
Reference : บล.เอเซียพลัส
โฆษณา