Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
"หุ้น" กันมั๊ย!
•
ติดตาม
24 ก.ค. 2019 เวลา 10:01 • การศึกษา
เงินปันผล vs หุ้นปันผล 🔥🤔
Credit : Pixabay
เมื่อนักตกปลาเหวี่ยงแหอย่างตั้งใจลงไปในน้ำแล้วนั้น...ทุกๆ การเหวี่ยงก็ต้องเกิดความคาดหวังว่าจะได้ปลาติดเบ็ดขึ้นมาเสมอ...
นักลงทุนก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าร้อยละร้อยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในอะไรก็แล้วแต่ที่ตนเองลงเงินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทรนด์การลงทุนที่เข้าถึงได้ง่ายและมีทางเลือกที่หลากหลายอย่างเช่นการลงทุนในหุ้น
ผลตอบแทนที่ได้รับไม่ว่าจะกลับมาในรูปแบบของมูลค่าของหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาทุน (Capital Gain) หรือจะเป็นการได้รับเงินปันผล (Dividend) ตอบแทนกลับมา ล้วนเป็นสิ่งที่เร้าใจและทำให้หัวใจของนักลงทุนพองโตทั้งนั้นครับ
ด้านตัวธุรกิจเอง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งที่ดำเนินงานมาได้อย่างมั่นคง จนมีรายได้ต่อเนื่อง และเกิดเป็นกำไรสะสม บริษัท (ส่วนใหญ่) จะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลตอบแทนกลับไปยังผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนเสมอ (บางบริษัทอาจจะมีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล หรือบางบริษัทจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้างในบางปี เพราะอาจจะงดจ่ายเนื่องจากมีนโยบายนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ หรือสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่ต้องใช้เงิน)
ซึ่งการปันผลนั้นบางท่านอาจจะเข้าใจว่าเราจะได้รับเป็นเงินกลับมาอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัทอาจจะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนด้วยการ “จ่ายเป็นหุ้น” ก็ได้...แล้วการจ่ายปันผลทั้ง 2 แบบ แตกต่างหรือมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร?? ลองมาดูกันครับ
2
🔹การจ่ายเป็นเงินปันผล
สำหรับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจได้ค่อนข้างมั่นคง มีเสถียรภาพทางด้านต่างๆ และไม่ได้มีโครงการ หรือการลงทุนขนาดใหญ่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หลายบริษัทก็มักจะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด
เช่น บริษัท A ประกาศอัตราการจ่ายปันผล 0.60 บาท/หุ้น ถ้าหากมีหุ้น A อยู่จำนวน 10,000 หุ้น ก็หมายความว่า เราจะได้รับเงินปันผล 6,000 บาท แต่ทั้งนี้เงินปันผลดังกล่าวจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือประมาณ 600 บาท เท่ากับว่าเราจะได้รับเงินเข้าบัญชี 5,400 บาท นั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินที่ถูกหักภาษีนั้นเราสามารถนำไปขอคืนภาษีได้ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในข้อดีของการถือหุ้นที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และเป็นนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สร้าง Cash Flow หรือกระแสเงินสดแบบให้เงินทำงานแทนเรา (Passive income) ได้อีกทางหนึ่ง
2
🔹การจ่ายปันผลเป็นหุ้น
สำหรับวิธีนี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนหุ้นในบริษัท โดยที่มูลค่ารวมของบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนว่าจะส่งผลให้มูลค่าต่อหุ้นลดลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “การเพิ่มทุน (Capital Increase) ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น และราคาหุ้นลดลง” หรือที่เรียกกันว่า Dilution effect
1
โดยในด้านของตัวผู้ถือหน่วยลงทุนก็อย่าเพิ่ง Panic อะไรไปครับ ถึงแม้ว่ามูลค่าต่อหุ้นจะลดลง แต่ก็ได้รับการชดเชยด้วยจำนวนหุ้นปันผลที่ได้รับเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่ารวมยังคงเท่าเดิม (ถอนหายใจเบาๆ แล้วยิ้มมุมปาก)
โดยหากมองถึงข้อดีในภาพรวมของการจ่ายปันผลเป็นหุ้นแล้ว จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นในตลาดก็จะเป็นตัวช่วยเสริมสภาพคล่องสำหรับบริษัทที่มีจำนวนหุ้นน้อยได้อีกทางหนึ่ง
1
โดยส่วนใหญ่แล้ว...การจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะจ่ายร่วมพ่วงไปกับเงินปันผล
ตัวอย่างเช่น...หุ้น B จ่ายหุ้นปันผลด้วยอัตราส่วน 8 หุ้น (เดิม) ต่อ 1 หุ้นที่ปันผล และจ่ายปันผลเป็นเงินสด 0.0125 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากเราถือหุ้น 10,000 หน่วย ก็จะได้รับหุ้นปันผลเพิ่ม 1,250 หน่วย รวมเป็น 11,250 หน่วย และได้รับเงินปันผล 125 บาท โดยการปันผลก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่นเดียวกัน
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า “ราคาตลาดหลังเพิ่มทุน” จะเป็นเท่าใด
ตัวอย่างเช่น…หุ้น C มีราคาตลาด 20 บาทต่อหุ้น ต่อมาหากบริษัทมีการเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ (2:1) โดยให้สิทธิซื้อหุ้นในราคา 10 บาทต่อหุ้น จะมีวิธีการคำนวณ ดังนี้ครับ
ราคาตลาดหลังเพิ่มทุน =
[(อัตราหุ้นเดิม x ราคาก่อนวัน XR) + (อัตราหุ้นเพิ่มทุน x ราคาสิทธิ)] / (จำนวนหุ้นเดิม + จำนวนหุ้นเพิ่มทุน)
= [(2 x 20) + (1 x 10)] / (2 + 1)
= 16.66 บาทต่อหุ้น
ซึ่งโดยปกติทั่วไปที่เรามักจะพบเจอกัน คือ หลังจากที่มีการจ่ายปันผลไปแล้วราคาหุ้นจะลดลงเนื่องจาก Dilution effect ที่พูดถึงก่อนหน้า แต่ก็มีหลายครั้งที่ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Fair value) เช่น หากราคาตลาดหลังการจ่ายปันผลสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงก็นับเป็นโอกาสทองที่จะขายทำกำไรได้
1
“การจ่ายปันผลเป็นหุ้น” จึงนับเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ถือหุ้น โดยที่ผู้ถือหุ้นสามารถเลือกได้ว่า จะเก็บหุ้นไว้เพื่อรอให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปตามธรรมชาติและการเติบโตของบริษัท หรือจะนำหุ้นปันผลดังกล่าวไปขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน
ด้านบริษัทเอง...การจ่ายปันผลเป็นหุ้นบางส่วนจะทำให้มูลค่าธุรกิจคงเหลือสูงกว่าการจ่ายปันผลเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียวทั้งหมด อีกทั้งธุรกิจยังมีเงินสดเหลือสำหรับการนำไปหมุนเวียนใช้ในกิจการต่างๆ หรือการลงทุนขยายกิจการได้อีกด้วย แล้วที่ดีไปอีกคือการปันผลด้วยหุ้นประหยัดเงินภาษีที่ต้องจ่ายกว่าการจ่ายปันผลทั้งหมดเป็นเงินสดด้วย
2
ในแง่มุมของราคาหุ้นในตลาดกับการจ่ายปันผล ไม่ว่าจะปันผลเป็นเงิน หรือเป็นหุ้น เมื่อใกล้เทศกาลงานประกาศจ่ายเงินปันผลจนก่อนถึงวันขึ้นเครื่องหมาย XD (Excluding Dividend) หรือวันที่ผู้ซื้อไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล ราคาหุ้นมักจะดีดตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะกระหน่ำซื้อเพื่อต้องการรับปันผล และหลังจากนั้นราคาหุ้นมักจะดิ่งลงตามมูลค่าของการปันผลหลังจากวัน XD สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นๆ (เนื่องจากผู้ถือหุ้นได้รับสิทธิในการรับเงินปันผลไปแล้ว) ผู้ถือหุ้นในบางรายจึงอาจจะขายหุ้นออกเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวอื่น หรือลงทุนวิธีการอื่นต่อไป
ท้ายที่สุดแล้ว...การที่บริษัทจะตัดสินใจว่าควรจ่ายปันผลเป็นเงิน หรือจ่ายเป็นหุ้น แบบไหนจะเวิร์คกว่ากันนั้น ก็อาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองและปัจจัยในหลายๆ ด้าน เช่น การเพิ่มสภาพคล่องของหุ้น, การประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัท เป็นต้น
โดยนักลงทุนระยะยาวที่ถือหุ้นชิวๆ ก็อาจจะชื่นชอบการปันผลเป็นหุ้น เพราะถือได้ยาวๆ ไป เพื่อรับทั้ง Dividend และ Capital Gain ตอบแทนจากการงอกเงยของธุรกิจ
ในทางกลับกันหุ้นที่จ่ายเป็นเงินปันผลจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้าง Cash Flow ให้กับตัวเองครับ แบบไหนจะดีกว่ากันก็คงตอบได้ยาก...หรือแบบไหนจะดีสำหรับใครก็คงต้องลองพิจารณาอย่างรอบคอบตามข้อมูลภายในและปัจจัยด้านต่างๆ ของบริษัทนั้นๆ กันดูครับ
ถ้าชอบบทความนี้รบกวนกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามให้กำลังใจกันด้วยนะครับ 🙏🏻😊
Ref : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, บล.กรุงศรี
77 บันทึก
84
9
38
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้เรื่อง “หุ้น” ไปด้วยกันมั๊ย!
77
84
9
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย