24 ก.ค. 2019 เวลา 00:09 • ธุรกิจ
Digital Music War ตอนที่ 10 : Design Philosophy
ในเทศกาล คริสต์มาส ปี 2006 ถือเป็น เทศกาลวันหยุดแรก ที่ Zune ผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นเพลงดิจิตอลตัวใหม่ของ Microsoft หลังจากวางตลาดได้เพียงไม่นาน ซึ่งมันเป็นการเริ่มต้นเทศกาลที่ดีมากของ Zune เมื่อสามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับ 2 ในการขายในสัปดาห์แรกในตลาดค้าปลีกของอเมริกา
Digital Music War ตอนที่ 10 : Design Philosophy
แต่ตลาดค้าปลีกที่มีทั้ง Walmart รวมถึงร้านค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Best-Buy ได้ช่วยผลักดันให้ Zune สามารถทำยอดขายได้สูงมาก แต่หากมองตลาดทั้งหมดจริง ๆ แล้วนั้น ไม่ได้รวมถึง ร้าน Apple Store ของ Apple ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าขายแต่เพียงสินค้าของ Apple ซึ่งก็คือ iPod รวมถึงตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon.com
นั่นเมื่อสำรวจจากตลาดรวมทั้งหมดของเครื่องเล่นเพลงแบบดิจิตอลจริง ๆ แล้วนั้น Zune ได้ส่วนแบ่งเพียงแค่ 13% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับ iPod นั้นสามารถครองส่วนแบ่งตลาดไปได้ถึง 63% หากนับตามจำนวนเครื่องที่ขาย แต่หากนับเป็นยอดขายจริง ๆ นั้น iPod ได้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 72.5% เลยทีเดียว
โดยในต้นเดือนธันวาคม Microsoft นั้นหวังว่าจะขาย Zune ได้ 1 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ Zune สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้ 10-15% ของตลาดเครื่องเพลงแบบดิจิตอลเลยทีเดียว
แนวความคิดแรกของผู้บริหาร Microsoft ที่จะส่ง Zune ออกมาแก้ขัดในตลาด ก่อนที่จะนำไปสู่งระบบคลังเพลงบนระบบ Cloud ดูเหมือนหนทางจะมืดมน เพราะ ตอนนั้นยังไม่มีบริการเชื่อมต่อใด ๆ ให้กับ Zune และในฐานะ Hardware ตัวหนึ่งนั้น Zune เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่คุ้มทุนเลย คล้าย ๆ กับ Xbox ที่ Microsoft ยอมขายเครื่องขาดทุนเพื่อไปเอากำไรจากบริการด้าน Software ที่เป็นเกมส์มากกว่า รวมถึงบริการในการเล่นออนไลน์นั่นเอง
ซึ่ง Microsoft นั้นก็ได้มอง Zune ในรูปแบบธุรกิจเดียวกัน ยอมขายเครื่องขาดทุน แล้วค่อยไปหาทางสร้างรายได้กับ Software กับการฟังเพลงบน Cloud ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นของถนัดของ Microsoft มากกว่า
จอห์น สกัลลีย์ อดีด CEO ของ Apple ที่เป็นคนมาแทนสตีฟ จ๊อบส์ ให้ความเห็นในเรื่องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดูเหมือนจ๊อบส์นั้นทำให้ลูกค้าอยากได้ผลิตภัณฑ์ของ Apple ในแบบที่แบรนด์อื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ที่อยู่เหนือเหตุผลในการซื้อสินค้าของ Apple
ซึ่งแน่นอนว่า Apple นั้นสามารถทำกำไรได้ทั้งในส่วน Hardware คือ iPod และส่วนของ Software & Service อย่าง iTunes นี่คือจุดแตกต่างระหว่างบริษัททั้งสอง ในตอนที่ Zune ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการนั้น มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อที่สุดจนแทบจะไม่มีใครอยากดูการ present เลยด้วยซ้ำ
Zune ที่เหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาขัดตาทัพเพียงเท่านั้น
มันเป็นความแตกต่างตั้งแต่ปรัชญาของสองบริษัทที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ทีมงานของ Microsoft นั้น ฉลาดเป็นกรด มีแต่วิศวกรเก่ง ๆ อัจฉริยะทั้งนั้น ที่มาช่วยกันสร้าง Zune แต่ปรัชญาของ Microsoft นั้นจะต้องทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามแก้ปัญหาในภายหลัง ส่วน Apple ของ สตีฟ จ๊อบส์ ไม่เคยทำอย่างนั้น เขาจะไม่ปล่อยอะไรออกมาจนกว่าทุกอย่างจะดูสมบูรณ์แบบ
2
ซึ่งหลังจาก Zune นั้นออกวางขายด้วย สเปคทางเทคนิคที่ดีกว่า iPod แทบจะทุกอย่าง แต่ Apple นั้นไม่ได้สนใจ Zune เลยด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีอะไรให้กังวลนั่นเอง มีตัวเลขของสำนักวิจัยชื่อดังอย่าง NPD ที่แสดงให้เห็นว่า
Zune จะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศอเมริกาไปเพียงแค่ 2% และไม่ต้องคิดถึงตลาดโลก เพราะ Zune แทบจะไม่มีที่ยืนในตลาดโลกเลยเสียด้วยซ้ำ ส่วนร้านดนตรีออนไลน์ของ Zune นั้น ไม่ได้มีผลงานอะไรที่โดดเด่นเลย ต่างจาก iTunes ที่กลายเป็นที่ยอมรับของนักฟังเพลงทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขายเพลงไปแล้วกว่า 1.15 พันล้านเพลง และสามารถสร้างรายได้ให้กับ Apple ราว ๆ 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006
รวมถึง Ecosystem ที่อยู่รายรอบผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ Apple นั้นดูเหมือนจะบริหารสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่า Microsoft อย่างชัดเจน เพราะ Microsoft นั้นไม่ได้สนใจองค์รวมของ Ecosystem ของทั้งธุรกิจที่จะไปด้วยกันอย่างที่เราเห็นกับ Apple ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้ iPod กลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดตลาดไปในที่สุดนั่นเอง
2
ดูเหมือนว่า Microsoft นั้นจะมีผลิตภัณฑ์มากมายเต็มไปหมด และ Zune ก็เป็นหนึ่งในนั้น แถมยังโดนผู้บริหารมองเป็นสินค้าขัดตาทัพเพียงเท่านั้น เหมือนเป็นการทดลองตลาดของ Microsoft ในศึกเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลแบบพกพา ที่ Apple นั้นนำห่างออกไปเรื่อย ๆ
ความแตกต่างตั้งแต่ ปรัชญา ความปราณีตของผลิตภัณฑ์ ที่ Apple ดูจะเหนือกว่าอย่างชัดเจน และสามารถสร้างสิ่งที่เข้าใจผู้บริโภคจริง ๆ รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร Apple ก็จะบรรจงสร้างมาให้ User ใช้งานได้ทันทีโดยแทบจะไม่ต้องมีการเรียนรู้ด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ในตลาด Consumer Product ที่มีขนาดของตลาดใหญ๋มหาศาลเช่นนี้ และ Microsoft ดูเหมือนจะพลาดในเกมนี้แล้ว
แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อหลังจากนี้ กับ ผลิตภัณฑ์ทั้งสอง Zune จะล้มเหลวอีกครั้งเหมือนเกิดขึ้นกับ PlayForSure หรือไม่ ตอนหน้าจะเป็นบทสรุปของ Series ชุดนี้แล้วนะครับ โปรดอย่าพลาดติดตามกันน้า
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา