31 ก.ค. 2019 เวลา 15:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
CRISPR ประเด็นที่ 5 - ใครเป็นผู้ค้นพบการแก้ไขพันธุกรรมด้วยวิธี CRISPR
CRISPR เป็นเทคนิคการแก้ไขพันธุกรรมที่ค้นพบในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันจากทั่วทุกมุมโลก ในช่วงต้นของการค้นพบไม่มีใครรู้และเข้าใจว่าอะไรคือ CRISPR จนกระทั่งกระบวนการดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน จึงพบว่าแต่ละที่แต่ละงานวิจัยที่ศึกษาบ่งชี้ว่ากระบวนการดังกล่าว คือ CRISPR
#Zone1
คำอธิบายแรกของสิ่งที่ภายหลังถูกเรียกว่า CRISPR เกิดขึ้นในปี 1987 เมื่อนักวิจัยชาวญี่ปุ่นนามว่า Yoshizumi Ishino และลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัย Osaka บังเอิญโคลน (Clone) ลำดับ DNA ส่วนหนึ่งของ CRISPR กับยีนส่วนหนึ่งของเอนไซม์ Alkaline Phosphatase (CRISPR นอกจากจะเป็นชื่อวิธีการ ระบบการแก้ไขจีโนมแล้ว ชื่อยังแทนตัว DNA/RNA ส่วนหนึ่งอีกด้วย)
แต่ผลการโคลนไม่ได้เป็นตามที่หวัง เนื่องจากผลที่เกิดขึ้นกลับได้ DNA ที่มีกลุ่มลำดับเบสเรียงสับหว่างอย่างสม่ำเสมอ เพราะทีมวิจัยต้องการลำดับเบสที่สลับลำดับแตกต่างคละกันไป
ลำดับเบสที่หวัง = A 1 B 3 C 5 F 7
(ผมใช้ตัวเลขแทนเบสเพื่อให้เห็นภาพเฉยๆนะครับ)
ลำดับที่ได้จากการทดลอง A 1 B 1 C 1 F 1
(กลับมีกลุ่มเบส 1 แทรกห่างกันอย่างสม่ำเสมอซะงั้น)
โดยไม่รู้ว่าการแทรกลำดับของกลุ่มเบสที่ห่างช่วงซ้ำ ๆ คือ CRISPR
#Zone2
ในปี 1993 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งศึกษาแบคทีเรียก่อโรคที่ชื่อว่า Mycobacterium tuberculosis ในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรค โดยได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับปัญหาที่พบ คือ
"การถูกขัดจังหวะอันเนื่องมาจากการทำซ้ำของกลุ่มเบสในแบคทีเรีย"
หรือประมาณว่า "ใครชอบมาแทรกขั้นตอนการศึกษา DNA ของข้า แถมมาช่วงห่างสม่ำเสมออีก!!!" ปี๊ด ๆ เลือดขึ้นหน้า
ถึงกระนั้นนักวิจัยก็ทราบว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ของ M.tuberculosis ก็ถูกขัดจังหวะในลักษณะที่ต่างกันออกไป และใช้คุณสมบัติตรงนี้ในการออกแบบวิธีที่เรียกว่า "Spoligotyping" ซึ่งเป็นเทคนิคในการระบุและวิเคราะห์ความหลากหลายในหน่วยซ้ำบางตำแหน่งใน DNA แบคทีเรียและวิธีนี้ก็ยังใช้มาถึงปัจจุบัน
#Zone3
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนักจุลชีววิทยานามว่า Francisco Mojica และ Ruud Jansen จากมหาวิทยาลัย Alicante ประเทศสเปนได้ศึกษากระบวนการใกล้เคียงกันในสิ่งมีชีวิตจำพวก Archael สปีชีส์ Haloferax และ Haloarcula
การศึกษาของ Mojica พบการรบกวนของการทำซ้ำ (Interrupted Repeats) อีกกันเช่นกัน และได้ศึกษาสถานการณ์นี้อย่างจริงจัง พร้อมกับบัญญัติชื่อสถานการณ์น่าเวียนหัวนี้ว่า
"CRISPR"
ในวารสาร Scientific Literature ปี 2002 ในหัวข้อ
"The discovery of CRISPR in archaea and bacteria"
ทำให้โลกเริ่มรู้จักวิธีการ CRISPR ที่ภายหลังสามารถช่วยให้เราเพิ่ม ลด แทนที่จีโนมได้ดั่งใจ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา