3 ส.ค. 2019 เวลา 10:00 • การศึกษา
"ถ้าลูกหนี้เสียชีวิตก่อนหนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้จะต้องทำอย่างไร ?"
หากพูดถึงเรื่องหนี้สิน เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีประสบการณ์มาแล้วไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ที่ต้องชำระหนี้ให้ครบตามกำหนดเวลา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องคอยติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้
Cr. pixabay
อย่างไรก็ตามทั้งสองสถานะที่ว่าคงไม่น่าสนุกด้วยกันทั้งคู่
ฝั่งลูกหนี้คงไม่ต้องพูดอะไรมากมาย บางคนถึงขั้นกลุ้มใจ นอนไม่หลับ ต้องเอาเท้ามาก่ายหน้าผากทุกวันว่าจะวันนี้จะหาเงินมาใช้เขายังไง
ส่วนฝั่งเจ้าหนี้อย่าคิดว่าสบาย สมัยนี้หากไม่มีเงินเย็น (เจี๊ยบ) ให้คอยกอดไว้ ก็ต้องขยันทวงเช้าทวงเย็น เครียดไม่แพ้ลูกหนี้เช่นกัน
บางรายนั้นยิ่งหนัก เป็นหนี้กันตั้งแต่รุ่นพ่อ ผ่านมารุ่นลูกก็ยังใช้กันไม่หมด เรียกได้ว่าเป็นหนี้กันข้ามภพข้ามชาติกันเลยทีเดียว
ซึ่งกรณีที่ลูกหนี้ถึงแก่ความตายก่อนชำระหนี้ครบถ้วนนั้น พวกเราโปรดทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า "หนี้ไม่ได้ระงับไปพร้อมกับความตายของลูกหนี้"
เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ตกทอดแก่ทายาทของเขา โดยจะต้องฟ้องร้องทายาทภายใน 1 ปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก (เป็นอายุความ)
Cr. pixabay
ส่วนบรรดาทายาทของลูกหนี้ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณรับผิดชอบ "ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับ"
ตัวอย่าง พ่อเป็นหนี้ 5 ล้านบาท ต่อมาเสียชีวิต มีบ้านเป็นทรัพย์มรดกราคา 3 ล้านบาท เจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิบังคับเอากับบ้านหลังดังกล่าวได้ ส่วนหนี้ที่เหลือ 2 ล้านบาทถือว่าระงับไป
ทีนี้ปัญหามันมีอยู่ว่า หากหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ (คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่สามารถทวงถามหรือฟ้องร้องได้จนกว่าจะถึงกำหนด) แต่ลูกหนี้ตัวดีดันมาด่วนจากไปก่อน เจ้าหนี้จะทำอย่างไร อยู่ ๆ จะเดินไปทวงให้ทายาทของลูกหนี้ใช้หนี้แทนได้หรือไม่
1
เราลองมาดูเรื่องนี้กัน
1
คดีนี้ เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องทายาทของลูกหนี้เป็นจำเลย (จำเลยเสียชีวิต) ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งยังไม่ครบกำหนดชำระ
1
"โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2534 นาย ก. สามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,700,000 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา
ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2535 นาย ก. ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 6 (ผู้ค้ำประกัน) ต้องร่วมกันชำระต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์
ซึ่งโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งหกแล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย
Cr. pixabay
ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ทำหนังสือสัญญาค้ำ นาย ก. ไว้แก่โจทก์
แต่หนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 1 - 5 ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกของนาย ก. ที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ขณะหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้
ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย
Cr. pixabay
ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามที่นาย ก. ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่นาย ก. ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปีนับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของ นาย ก. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม
เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อนาย ก. ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระอายุความ 1 ปี อาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 3994/2540)
📌 สรุป หากลูกหนี้ตายก่อนหนี้ก็ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้สามารถฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้
โดยไม่ต้องรอให้หนี้ถึงกำหนดชำระก่อน เพราะสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย
2
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา