31 ก.ค. 2019 เวลา 12:40 • การศึกษา
“รู้หรือไม่ หลักฐานการกู้ยืมเงินอาจทำกันภายหลังการกู้ยืมก็ได้ !?”
เรื่องการกู้ยืมเงินถือว่าเป็นอีกเรื่องที่แอดมินได้เอามาเขียนบ่อย เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราแล้ว
1
Cr. pixabay
ในแง่ของข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว
แอดมินเชื่อว่า แม้ทุกวันนี้จะมีบทความเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการกู้ยืมเงินออกมาให้อ่านกันมากมาย
แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่กู้ยืมเงิน หรือยินยอมให้คนอื่นยืมเงิน โดยไม่ทำหลักฐานการกู้ยืมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
การกู้ยืมนั้น หากเจ้าหนี้ให้เงินลูกหนี้ครบ ส่วนลูกหนี้คืนเงินครบถ้วนตามกำหนด ก็คงไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าเกิดไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ล่ะ คราวนี้ปัญหาเกิดแน่นอน
บางคนก็กู้ยืมกันปากเปล่า บางคนคิดว่ามีหลักฐานการกู้ยืมครบ ที่ไหนได้ไม่มีการลงลายมือชื่อคนกู้ก็มี
ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ฟ้องคดีเรียกร้องให้ลูกหนี้คืนเงินต่อศาล ซึ่งเมื่อไม่มีหลักฐานหรือหลักฐานไม่ครบถ้วน ศาลก็ต้องยกฟ้องไปตามระเบียบ
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งกฎหมายก็ยังเมตตา แม้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เจ้าหนี้
จะลืมให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้
แต่หากภายหลังพบว่ามีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินปรากฏขึ้นมา ศาลก็อาจพิจาณาให้ลูกหนี้คืนเงินให้ได้
ลองมาดูตัวอย่างนี้กัน
นายไมค์ หนุ่มผู้โชคดี ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ฟาดเงินไปเหนาะ ๆ 6 ล้านบาท แต่เจ้าตัวแทนที่จะเงียบไว้ กลับร้อนรุ่มในหัวใจ ต้องประกาศให้โลกรู้ว่าข้าคือเศรษฐีใหม่
Cr. pixabay
สื่อต่าง ๆ ก็ให้ความสนใจ เพราะเรื่องอย่างนี้มันต่อยอดได้ ว่านายไมค์ได้เลขมาจากไหน ห้อยพระอะไร ฯลฯ
ซึ่งนอกจากจะเป็นที่สนใจของสื่อแล้ว นายไมค์ก็ยังเป็นที่สนใจของมิจฉาชีพด้วยเช่นเดียวกัน แต่มิจฉาชีพที่ว่าไม่ใช่ใครที่ไหน กลับเป็นคนใกล้ชิดนายไมค์อย่างนายภิรมย์ เพื่อนสนิท (คิดไม่ซื่อ)
นายภิรมย์ เห็นนายไมค์ได้ดี เป็นเศรษฐีรางวัลที่ 1 จึงเกิดอิจฉา ผสมกับตนกำลังร้อนเงินเพราะติดหนี้พนันบอล
จึงวางแผนจะยืมเงินนายไมค์แต่ไม่คิดจะคืน โดยวิธีขอยืมต่อหน้านายไมค์เพื่อจะได้ไม่มีหลักฐานมาฟ้องร้องตนได้ในภายหลัง
ในขณะนั้น โลกของนายไมค์กำลังเป็นสีชมพู ใครพูดอะไรก็ดีไปหมด นายภิรมย์จึงถือโอกาสดังกล่าวมาขอยืมเงินนายไมค์ โดยอ้างว่าจะเอาจ่ายค่าเทอมน้องสาวที่กำลังเรียนอยู่ปี 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท
ซึ่งนายไมค์ได้เอาเงินสดให้นายภิรมย์ไปทันที โดยไม่ได้มีสัญญากู้ยืมหรือหลักฐานอะไรเลย
Cr. pixabay
สัปดาห์ต่อมา ขณะที่นายไมค์มาซื้อของที่ตลาด ได้พบกับนายพร เพื่อนสมัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นคนคุมบ่อนของเสี่ยใหญ่คนหนึ่งของจังหวัด
ทั้งสองคนไม่ได้เจอกันมานานจึงทักทายกันตามประสาเพื่อนฝูง จนกระทั่งนายพร ได้พูดถึงนายภิรมย์ว่า “เอ็งรู้มั้ยตอนนี้ไอ้รมย์มันติดการพนันมาก ตอนนี้ติดหนี้เสี่ยเป็นแสนแล้ว” “อ้อ...เอ็งจำน้องสาวมันได้มั้ย ตอนนี้ก็มาเป็นเมียน้อยเสี่ย อยู่ที่บ้านเสี่ยในตัวจังหวัดนั่นแหละ”
นายไมค์ประติดประต่อเรื่องราวได้ทันทีและรู้ว่าตนถูกนายภิรมย์หลอกเข้าให้แล้ว จึงได้จ้างทนายความฟ้องนายพิรมย์เป็นคดีแพ่งเพื่อให้คืนเงินและคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง
Cr. pixabay
ในคดีอาญา นายภิรมย์ได้ให้การต่อสู้ว่าตนไม่มีเจตนาจะฉ้อโกง แต่ยอมรับว่าได้ยืมเงินนายไมค์จริง ศาลพิพากษายกฟ้อง
ส่วนในคดีแพ่ง นายภิรมย์ได้ให้การต่อสู้ว่า ได้ใช้เงินนายไมค์ไปครบถ้วนแล้ว ขอให้ศาลยกฟ้อง
ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาดังนี้
“คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะนำสืบว่าได้ใช้เงินที่กู้ยืมแก่โจทก์แล้วได้หรือไม่
ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ขณะจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่ต่อมาจำเลยได้เบิกความเป็นพยานไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงิน 30,000 บาทไปจากโจทก์ และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยคำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีดังกล่าวมาเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม
สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง...
ศาลฎีกาเห็นว่า หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าว อาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กันดังที่จำเลยฎีกา
แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นจะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8175/2551)
📌 สรุป เรื่องนี้ทนายฝ่ายโจทก์ได้ยกคำให้การของจำเลยในคดีอาญาที่ได้ยอมรับว่าตนได้กู้ยืมเงินจริงขึ้นอ้างเป็นพยานในคดีแพ่ง ซึ่งสามารถรับฟังและถือว่าเป็นหลักฐานหนังสือกู้ยืมเงินได้
เมื่อการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบการใช้เงินก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงว่ามีการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
เมื่อจำเลยไม่มีเอกสารดังกล่าว ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยคืนเงินที่กู้คืนแก่โจทก์
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา