Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
30 ก.ค. 2019 เวลา 09:20 • การศึกษา
“รู้หรือไม่ สิทธิในการติดตามเอาทรัพย์คืน ไม่มีอายุความจำกัดระยะเวลา !?”
ตามที่แอดมินได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง
Cr. pixabay
โดยอายุความจะเป็นตัวกำหนดระยะเวลาให้ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิ จะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
หากไม่ใช้สิทธิภายในระยะดังกล่าว ในทางกฎหมายถือว่าคดีนั้น “คดีขาดอายุความ”
โดยคดีที่ขาดอายุความนั้น บรรดาลูกหนี้หรือผู้ที่ถูกฟ้องร้องสามารถยกเรื่องอายุความเป็นข้ออ้างขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อขอให้ศาลท่าน “ยกฟ้อง” ได้
(หากสนใจเรื่องอายุความสามารถอ่านได้ตามลิงค์นี้เลย
https://www.blockdit.com/articles/5d2d60d4f13cee2e82fd7493
)
แต่ทราบหรือไม่ ว่ายังมีสิทธิบางประเภทที่กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ "ไม่มีอายุความ"
ซึ่งสิทธินั้น ได้แก่ “สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินคืนของเจ้าของทรัพย์สิน”
ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องทรัพย์สิน ได้กำหนดสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินไว้
โดยเจ้าของทรัพย์สินย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตน และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์นั้น
กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1
สาระสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่สิทธิ “ติดตามและเอาคืน” ซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้
แต่สิทธิที่ว่า เค้ามีวิธีใช้กันอย่างไรและใช้กับเรื่องไหนบ้าง เรามาติดตามจากตัวอย่างนี้กัน
สำลี พนักงานหนุ่มรูปหล่อประจำบริษัทลิสซิ่งแห่งหนึ่ง ได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้มีหน้าที่เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกหนี้ของบริษัทฯ แล้วมีหน้าที่ต้องนำมาส่งมอบคืนให้แก่บริษัทฯ
Cr. pixabay
โดยมีนายสำโรงเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายสำลี
ทำงานมาได้ซักพักหนึ่งลายก็เริ่มออก นายสำลีเริ่มติดผู้หญิง จากที่เคยประหยัดก็เริ่มใช้เงินฟุ่มเฟือย รถยนต์ มือถือรุ่นใหม่ ของมันต้องมี สาว ๆ ไลน์มายืมเงินมีเหรอจะปฏิเสธ โอนไว โอนบ่อย ต้องพี่สำลีเค้า
ใช้จ่ายอย่างนี้มันจะไปเหลืออะไร เงินเดือนก็เริ่มไม่พอใช้ หนี้บัตรเครดิตก็เริ่มทวงถาม พอเริ่มหมุนเงินไม่ทันด้านมืดก็เริ่มเข้าแทรก
สำลีจึงใช้โอกาสจากหน้าที่การงานของตนเอาเงินค่าเช่าซื้อที่ลูกหนี้ของบริษัทฯ ได้ชำระไว้เอาไปใช้ส่วนตัว เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท
โดยเงินจำนวนดังกล่าวสำลีได้นำไปเล่นการพนันเพื่อหวังเอาเงินมาใช้หนี้บัตรเครดิตที่ค้างอยู่ (มันคิดได้ไง)
1
แต่อย่างที่เค้าว่ากันไว้ โจรขึ้นสิบครั้งไม่เท่าติดการพนันครั้งเดียว เงินค่าเช่าซื้อของ บริษัทฯ ที่แอบเอามาใช้ก็หมดไปกับการพนัน หนี้บัตรเครดิตก็ยังไม่ได้ใช้ เจ้าหนี้ก็เริ่มทวงหนักเข้า ซ้ำร้ายนายจ้างก็เริ่มจับได้เพราะไม่มีเงินเข้าบัญชี
1
Cr. pixabay
โชคดีของสำลีที่นายจ้างยังเมตตา ไม่อยากเอาเรื่องเป็นคดีอาญา เพียงแต่อยากให้สำลีคืนเงินที่ค่าเช่าซื้อที่เอาไปให้ครบถ้วน จึงได้ให้สำลีทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ว่าจะชำระหนี้ให้ครบถ้วนภายใน 1 เดือน
แทนที่จะสำนึกผิด สำลีกลับนิ่งเฉย ไม่ยอมหาเงินมาคืนให้แก่นายจ้าง จนเวลาล่วงเลยไปกว่า 1 ปี ทีมทนายของบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องร้องนายสำลี และนายสำโรงในฐานะผู้ค้ำประกัน เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่อศาลเพื่อให้ชำระหนี้ดังกล่าว
1
แม้จะชื่อสำลีแต่หน้ากลับหนายิ่งกว่าคอนกรีต สำลีและสำโรงได้ให้การต่อสู้ในชั้นศาลว่า ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์จริง จำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดสัญญาตามหนังสือรับสภาพหนี้ ฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดฐานละเมิดมีอายุความ 1 ปีและขาดอายุความแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ชัดแจ้งเป็นฟ้องเคลือบคลุม
1
Cr. pixabay
คดีนี้ต่อสู้กันจนถึงศาลฎีกา และในที่สุดศาลก็ได้มีคำพิพากษาออกมาดังนี้ครับ
1
“การรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนย่อมไม่นับเข้าเป็นอายุความแต่ให้นับอายุความขึ้นใหม่ ซึ่งต้องถืออายุความในมูลหนี้เดิม ถ้าเป็นมูลหนี้ละเมิดล้วน ๆ โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดภายใน 1 ปี ย่อมขาดอายุความ
แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานเร่งรัดติดตามหนี้สินจากลูกหนี้เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าเช่าซื้อรถ จำเลยที่ 1 รับเงินค่าเช่าซื้อรถจากลูกหนี้ของโจทก์ แล้วจงใจไม่นำเงินส่งมอบคืนให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1
ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ตามหน้าที่แล้วไม่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นทั้งละเมิดและปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนตามสัญญาจ้าง
1
โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในการละเมิด หรือติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยเอาไปได้
การฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้
โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้แม้จะเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2185/2533)
📌 เรื่องนี้ ศาลฎีกามองว่าการใช้สิทธิฟ้องคดีของบริษัทฯ (โจทก์) และการวางรูปคดีในคำฟ้อง เป็นได้ทั้งการฟ้องละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปีและการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน (เงินค่าเช่าซื้อที่สำลีเอาไป) ซึ่งไม่มีอายุความจำกัดเวลาไว้
ข้ออ้างของสำลีที่ว่าหนี้ขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ในกรณีนี้ได้
1
งานนี้ ฝ่ายน่าเจ็บใจที่สุดคงเป็นนายจ้างที่อุตส่าห์ให้โอกาส รู้อย่างนี้ดำเนินคดีอาญาให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยน่าจะดีกว่า 😠💢
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
22 บันทึก
141
31
27
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
22
141
31
27
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย