10 ส.ค. 2019 เวลา 11:47 • ไลฟ์สไตล์
* 3 กลุยทธ์ทางจิตวิทยาที่ช่วยให้เก็บเงินได้มากขึ้น
TED talk : 3 psychological tricks to help you save money- Wendy De La Rosa >>
พวกเราทุกคนต่างรู้ว่าการเก็บเงินนั้นสำคัญ แต่ทำไมส่วนใหญ่ถึงเก็บเงินกันไม่ค่อยได้นะ?
“ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง วันนี้ฉันมีเคล็ดลับจะมาบอก”
Wendy De La Rosa จบการศึกษาระดับปริญญาเอกคณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Common Cents Lab นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมมาช่วยให้คำปรึกษาด้านการเงิน
Wendy บอกว่าเราจะเก็บได้มากหรือน้อยนั้น ไม่เกี่ยวกับความฉลาดหรือความสามารถในการบริหาร แต่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว
สมมติว่ามีคนอยู่ 2 กลุ่มคือ A กับ B เธอนำรายได้ของคนกลุ่ม A มาทำเป็นตารางรายสัปดาห์ ว่าในหนึ่งสัปดาห์มีเงินเข้ามาเท่าไหร่ เปรียบเทียบกับคนกลุ่ม B ที่นำรายได้ทั้งเดือนมารวมกัน แล้วใส่เป็นตารางให้ดู
Wendy พบว่าคนที่รู้รายได้ของตัวเองแบ่งย่อยเป็นรายสัปดาห์อย่างกลุ่ม A นั้น มีแนวโน้มจะมีเงินเหลือต่อเดือนมากกว่า
“คุณก็เห็นแล้วว่าฉันไม่ได้เปลี่ยนจำนวนรายได้ของพวกเขา ฉันแค่เปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้จากรายเดือนเป็นรายอาทิตย์เท่านั้น วันนี้ฉันคงจะไม่บอกเทคนิคที่คุณเองก็รู้กันอยู่แล้ว อย่างเปิดบัญชีเงินออมซะ หรือเตรียมเงินสำหรับการเกษียณยังไง สิ่งที่ฉันจะบอกคือ ‘ตัวเชื่อม’ ระหว่าง ‘ความตั้งใจ’ ที่จะเก็บเงิน ให้เป็น ‘พฤติกรรม’ ที่ทำให้คุณเก็บเงินได้จริงๆ”
1. ใช้ประโยชน์จากความคาดหวังของตัวเอง
Wendy แบ่งการทดลองออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้ช่วงเวลาที่คนมักจะออมเงินมากที่สุดนั่นคือเวลาที่ได้ภาษีเงินคืน เธอส่งข้อความไปถามว่า ‘จะแบ่งเงินไว้ออมกี่เปอร์เซนต์ของภาษีเงินคืนที่ได้มา’
กลุ่มที่ 1จะได้รับข้อความนี้ตั้งแต่เดือนก่อนที่จะมีการกรอกแบบฟอร์มของภาษีเงินคืน ก่อนที่พวกเขาจะรู้ว่าได้เงินจำนวนเท่าไหร่ คือเดือนกุมภาพันธ์
กลุ่มที่ 2 จะได้รับข้อความหลังจากที่ได้ภาษีเงินคืนแล้ว คือเดือนเมษายน
เธอพบว่ากลุ่มแรกที่ได้รับข้อความตั้งแต่ยังไม่กรอกแบบฟอร์มนั้น แจ้งว่าจะขอหักเงินเพื่อการออมโดยเฉลี่ยคิดเป็น 27% แต่กลุ่มที่สอง คือคนที่ได้ข้อความหลังจากรับเงินภาษีเงินคืนแล้ว ตอบว่าจะขอออมเงินโดยเฉลี่ยเพียง 17% เท่านั้น
จากการทดลองนี้เห็นว่าเรามักคาดหวังกับตัวเองในอนาคตไว้มากกว่าปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายที่คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้เอาไว้ แต่ถึงเวลาจริงๆเป้าหมายกลับเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นให้ใช้ประโยชน์จากความคาดหวังนี้และทำอย่างจริงจัง โดยใช้แอพลิเคชั่นหักเงินในมือถือเข้ามาช่วย หรือไม่ก็ตั้งเป็นสัญญาผูกมัดกับตัวเองว่าจะออมเงินเท่าไหร่ และตั้งบทลงโทษไว้ในกรณีที่ทำไม่ได้
2. ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน
Wendy ทำการทดลองในเว็บจัดหาบ้านเช่า โดยเว็บแรกเธอเขียนคำโฆษณาว่า “เฮ้ คุณเองก็แก่ลงทุกวันนะ เตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง? เรามีบ้านเช่าที่สะดวกสบายอยู่นะ”
เว็บที่สองเธอเปลี่ยนคำพูดโดยเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านมากขึ้น “เฮ้ คุณเองก็อายุ 64 ย่างเข้า 65 แล้วนะ เตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง เรามีบ้านเช้าที่สะดวกสบายอยู่นะ”
ผลการทดลองพบว่าจำนวนผู้เข้าชมบ้านในเว็บที่สองพุ่งสูงขึ้นทันที รวมถึงผู้ที่เข้ามาทำสัญญาเช่าบ้านก็มากขึ้นด้วย เรียกกลยุทธ์นี้ว่า ‘fresh start effect (การเริ่มต้นใหม่)’ เคยสังเกตไหมว่าเรามักจะชอบตั้งเป้าหมายเมื่อกำลังเปลี่ยนผ่านจากสิ่งเก่าไปสู่สิ่งใหม่ เช่น วันเกิด ปีใหม่ หรือ เดือนใหม่
“ดังนั้นตอนนี้ฉันอยากให้พวกคุณตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินของคุณ หนึ่งอย่างที่คุณอยากทำให้สำเร็จมากที่สุด แล้วกาลงปฏิทินว่าจะทำให้สำเร็จก่อนถึงวันเกิดของตัวเองให้ได้”
3. ควบคุมค่าใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ
Wendy ทำแบบสอบถามว่าค่าใช้จ่ายอะไรเมื่อจ่ายไปแล้วมักจะทำให้รู้สึกเสียดายมากที่สุด เธอพบว่าอันดับที่รองลงมาจากค่าธรรมเนียมธนาคารก็คือ การกินอาหารนอกบ้าน เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องจำเป็นและบ่อยครั้งเราไม่สามารถบังคับตัวเองได้
“กินข้าวร้านนี้เถอะ ต่อด้วยกาแฟอีกสักแก้ว ของหวานอีกถ้วยดีกว่า รู้ตัวอีกทีก็หมดไปแล้วหลายร้อย”
สำหรับวิธีนี้เธอแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้พยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายด้วยบัตรเครดิต แต่ให้ใช้บัตรเดบิตและใส่จำนวนเงินที่ต้องใช้อย่างจำกัดแทน เช่น ใส่ไว้หนึ่งพันบาทสำหรับหนึ่งอาทิตย์ เป็นต้น
ทั้งนี้วิธีที่เธอแนะนำ น่าจะใช้ได้ดีกับประเทศที่นิยมจ่ายผ่านบัตร แต่สำหรับประเทศไทยที่การใช้จ่ายส่วนมากยังเป็นเงิดสด ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นแบ่งเงินสดไว้เป็นกองๆสำหรับค่าอาหารในแต่ละวัน แล้วใช้ให้พอ แบบนั้นจะสะดวกและเห็นภาพกว่า
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราเป็นมนุษย์ที่มักจะมาพร้อมข้อผ่อนผันให้ตัวเองเสมอ ดังนั้นเราควรมีข้อกำหนดว่าสามารถผิดกฎที่ตัวเองตั้งไว้ได้กี่ครั้ง เช่น 2 ครั้งต่อเดือน เป็นต้นเพื่อไม่ให้หลุดเป้าหมายมากเกินไป
”เรามาเริ่มเก็บเงินกันตั้งแต่วันนี้โดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวเล็กๆน้อยๆที่มีผลต่อการใช้เงินของเรากันเถอะค่ะ ยิ่งเปลี่ยนให้ใช้เงินได้ยาก ก็จะเก็บเงินได้มากขึ้นด้วย”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา