5 ส.ค. 2019 เวลา 09:15 • การศึกษา
"จดทะเบียนหย่าโดยยกบ้านให้ภรรยากับลูกไปแล้ว หากเข้าไปในบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นการบุกรุกหรือไม่ ?"
สามี ภรรยา เมื่ออยู่ด้วยกันไปนาน ๆ การมีปากเสียงกันบ้างก็คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาพอให้ชีวิตคู่มีสีสรร
Cr. pixabay
แต่ถ้าวันนึงทุกอย่างเปลี่ยนไป จนแต่ละฝ่ายคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องอดทนกันอีกต่อไป การหย่าก็คงเป็นทางออกที่ทั้งสองฝ่ายต้องไปถึงในที่สุด
Cr. pixabay
ทีนี้ เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว กฎหมายก็ได้กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายทำความตกลงเกี่ยวกับสิทธิเลี้ยงดูบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดู รวมถึงเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน
ซึ่งการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ว่าในขณะที่จดทะเบียนหย่า ให้สามีและภรรยาตกลงแบ่งทรัพย์สินที่มีอยู่ในเวลาที่จดทะเบียนหย่าให้เรียบร้อย
กลับมาที่เรื่องของวันนี้.....
เรื่องมีอยู่ว่า ฝ่ายชาย (อดีตสามี) ได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินในขณะจดทะเบียนหย่า โดยตกลงยกบ้านให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุตร และให้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรเป็นของฝ่ายหญิง (อดีตภรรยา)
Cr. pixabay
ภายหลังจดทะเบียนหย่าแล้วประมาณ 8 วันฝ่ายหญิงก็ได้ไปคัดชื่อของฝ่ายชายออกจากทะเบียนบ้าน
วันดีคืนดี ฝ่ายชายคงอยากกลับมานอนบ้านแต่ดันเลือกเวลาผิดไปหน่อย เพราะเล่นมาตอนตี 1 ในขณะที่ฝ่ายหญิงและลูกต่างก็เข้านอนกันไปหมดแล้ว จึงไม่มีใครมาเปิดประตูให้เข้ามาในบ้าน
เมื่อเรียกให้เปิดประตูแล้วไม่มีใครเปิดให้ ฝ่ายชายคงเริ่มหัวร้อน จึงได้ปีนรั้วเพื่อที่จะเข้าไปในบ้าน และได้งัดแงะประตูบ้านจนบิดงอ
Cr. pixabay
ฝ่ายหญิงเห็นท่าจะไม่ดี จึงได้แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจับกุมอดีตสามี
ฝ่ายชายถูกจับและแจ้งข้อกล่าวว่ากระทำความผิดในข้อหาบุกรุก
(การบุกรุก เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา เมื่อผู้กระทำผิดไม่มีเหตุอันสมควร ได้เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถานหรือสำนักงานของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปเมื่อผู้ที่มีสิทธิห้ามไม่ให้เข้าได้ไล่ให้ออก)
ซึ่งคดีนี้ ศาลท่านได้พิจารณาและพิพากษาออกมาดังนี้ครับ
"โจทก์ร่วม (อดีตภรรยา) กับจำเลย (อดีตสามี) ตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม
อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า 8 วัน ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว
Cr. pixabay
จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด
2
เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุก"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553)
📌 สรุป เรื่องนี้แม้ฝ่ายชายจะเป็นคนซื้อบ้านและเคยมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม
แต่เมื่อได้ทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินในขณะจดทะเบียนหย่าโดยยกให้แก่บุตรแล้ว ฝ่ายชายจึงไม่ใช่เจ้าของบ้านอีกต่อไป
ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายหญิงได้ไปคัดชื่อของฝ่ายชายออกจากทะเบียนบ้านภายหลังการจดทะเบียนหย่า สิทธิครอบครองบ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของฝ่ายหญิงซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร
เมื่อฝ่ายชายได้เข้าไปในบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร (เข้าไปตอนตี 1 โดยใช้วิธีปีนและงัดแงะ) จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกแล้ว
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา