13 ส.ค. 2019 เวลา 10:43 • การศึกษา
“รับเงินลูกความมาแล้วแต่ไม่ยอมว่าความให้ ผิดยักยอกทรัพย์หรือไม่ ?”
เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่เคยว่าจ้างทนายความให้ว่าความในศาล หรือดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายได้เห็นภาพ จึงขอยกตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกันก่อน
Cr. pixabay
หลายคนในที่นี้คงเคยว่าจ้างซักรีดเสื้อผ้าใช่มั้ยครับ การว่าจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ได้ว่าจ้าง
สำหรับการจ้างซักรีดนั้น เป้าหมายก็คือ การที่ผู้รับจ้างดำเนินการซักและรีดชุดของเราให้สะอาด พร้อมที่จะสวมใส่ (แต่จะเรียบเนี๊ยบจนผู้ว่าจ้างพอใจหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง)
เราเรียกการจ้างประเภทนี้ว่า
“สัญญาจ้างทำของ”
การว่าจ้างทนายความเพื่อให้ว่าความหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นการจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องการผลสำเร็จของงานเช่นเดียวกัน คือ ต้องการให้ทนายความว่าความให้
ซึ่งแน่นอนว่าผู้ว่าจ้างก็ต้องการผลที่ดีที่สุดในแต่ละคดีนั้น (แต่ผลจะออกมาพอใจผู้ว่าจ้างหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) การว่าจ้างทนายความจึงเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน
สำหรับการเรียกค่าจ้างนั้นก็แล้วแต่ทนายความและลูกความจะตกลงกันว่าจะจ่ายกันอย่างไร จะแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ตามความคืบหน้าของคดี หรือจะเหมาจ่ายทั้งคดีโดยจ่ายทันที หรือเมื่อเสร็จงานก็สามารถทำได้
Cr. pixabay
ทีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ทนายความรับเงินค่าจ้างไปแล้วกลับไม่นำคดีไปฟ้องต่อศาลให้ลูกความ ถามแล้วถามอีกก็ยังนิ่งเฉย ลูกความจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งศาลจะตัดสินออกมายังไง เรามาดูจากตัวอย่างนี้กันครับ
“โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11, 23 มกราคม 2548 และวันที่ 6 มิถุนายน 2548 จำเลยซึ่งประกอบอาชีพทนายความได้รับเงินค่าว่าความในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดพังงา เรื่อง แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 5,000 บาท 5,000 บาท และ 25,000 บาท ตามลำดับไปจากผู้เสียหายไว้ในความครอบครองของจำเลยแล้ว
Cr. pixabay
แต่จำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องคดีให้แก่ผู้เสียหายตามหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 35,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
ศาลได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้ว่าความ เงินค่าว่าความจึงเป็นสินจ้างตอบแทนแก่จำเลยที่ตกลงรับจะว่าความให้
การที่จำเลยไม่ยื่นฟ้องคดีให้ผู้เสียหายเป็นกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง จึงไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกตามฟ้อง"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4399/2560)
📌 สรุป เรื่องนี้ศาลเห็นว่าเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ และพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์
ซึ่งแอดมินเห็นด้วยกับคำตัดสิน เนื่องจากความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์นั้น ผู้กระทำความผิดจะต้องครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต จึงจะเป็นความผิด
การที่ลูกความจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ทนายความไว้ก่อนเริ่มฟ้องคดี ก็ไม่ต่างอะไรกับการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างในกรณีอื่น ๆ ก่อนเสร็จงาน
1
เงินจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับจ้างไปแล้วจึงไม่ใช่ทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของผู้รับจ้าง ซึ่งจะทำให้เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
1
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา