11 ส.ค. 2019 เวลา 18:17 • ธุรกิจ
ครั้งแรก "ที่อินเดีย"
เรื่องนี้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปทำงานที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่เคยออกนอกประเทศ ไม่นับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยไปบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นการไปทำงานด้านวิชาการการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจไม่รู้ลืม ครั้งนี้อาจจะไม่ได้สื่อสารเรื่องการตลาดโดยตรงนัก แต่หากลองอ่านดูจะเห็นว่ามีโอกาสทางการตลาดที่แฝงอยู่ จากการที่ผู้เขียนได้ติดต่อกับคนอินเดียในปัจจุบันก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับช่วงที่ผู้เขียนไปทำงานที่นั่นเท่าไรนัก จะเป็นอย่างไรลองมาติดตามกันดูนะครับ
ก้าวย่างแรกที่มาถึงอินเดีย ที่สถามบินเชนไน(Chennai) เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาดู ทางตอนใต้สุดของอินเดีย ระยะทางกว่า 3,500 กม.จากกรุงเทพฯ-เชนไน โดยลําพังในเวลาประมาณ 9.00 น.ของเมืองไทย ที่นี่ก็ประมาณ 7.30 น. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่มาถึงนั้นคือ ความรู้สึกว่านี่เราย้อนเวลากลับสู่อดีตเมื่อ 20 ปี ที่แล้วหรือนี่ ไม่ว่าจะเป็นวิวทิวทัศน์ การตกแต่งภายในสนามบิน สภาพภายนอกของสนามบิน หรือการบริการที่สนามบิน ดูแล้วย้อนยุคมาก
ลงเครื่องเสร็จแล้วผู้เขียนก็เดินเข้ามาที่ ตม. (Immigration) ความเสียวก็บังเกิด เพราะภาษาอันแข็งแรงนิดหน่อยของ เรากับสําเนียงที่แปร่งๆของเขาผนวกกันเข้า และแล้วเราก็ต้องสวมวิญญาณสิงห์ตีหน้านิ่งๆ หย่อนหนังสือเดินทางให้เขา โชคดีจริงๆที่เขาไม่ได้เข้มงวดมากนัก จึงผ่านมาได้ด้วยดี
หลังจากที่ผู้เขียนรอรับกระเป๋า ที่ทางออกสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนก็โดนเรียกตรวจเอกสารอีกแล้วครับท่านที่ทางออก เข้าใจว่าเขาคงตรวจหมายเลขที่กระเป๋าว่าตรงกับเอกสารที่แนบมากับตั๋วโดยสารหรือไม่เท่านั้นเอง จึงผ่านได้โดยสะดวก เฮ้อ!!โล่งไปที
การจราจรในเมือง
ด้วยความที่สนามบินนี้เป็นสนามบินขนาดกลาง-ใหญ่ของเขา แต่เรียกว่าเล็กกว่าสนามบินที่จังหวัดบ้านเกิด ที่เมืองไทยของผู้เขียนซะอีก จึงเดินออกมาได้อย่างรวดเร็ว มองหาพนักงานบริษัทที่ผู้เขียนจะมาทํางานที่ อินเดีย มารอรับ เห็นยืนถือป้ายพิมพ์ชื่อผู้เขียนหรา แน่นอนแล้วครับเขาแน่ๆ สอบถามได้ความว่าเขาเป็นพนักงานของบริษัทที่บริษัทที่ผู้เขียนจะไปทำงานจ้างมาอำนวยความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนอินเดีย ที่ประจําอยู่ที่นี่ ชื่อ "เชอราบาตรี" เป็นผู้อํานวยความสะดวกทุกอย่างที่นี่ แล้วก็พาผู้เขียนไปยังลานจอดรถของสนามบิน ที่ลานจอดรถของสนามบิน มากไปด้วยผู้คน รถที่รอรับบริการเป็นรถทรงโบราณสีขาวทั้งหมด อาจจะเรียกว่าเป็นรถแท็กซี่(Taxi) ก็ได้ แต่ที่นี่เขาพร้อมใจกันเรียกว่ารถแอมบาสเดอร์ (Ambassador) ผู้เขียนไม่ได้ขึ้นคันนี้หรอก ผู้เขียนขึ้นรถพิเศษที่เขาจัดหามาให้เป็นรถมารูติ ซูซูกิ คันเล็กๆน่ารักๆเป็นซิตี้คาร์ (City car) พาผู้เขียนไปยังไปที่โรงแรมที่พักรู้สึกจะชื่อโรงแรมเรสซิเดนซี่ ทราบว่าคนไทยหลายคนเมื่อมาถึงที่เมืองนี้เข้าพักที่นี่กัน
เงินรูปีส์
ระหว่างทางผู้เขียนก็เจอเลยครับ ผู้คนมากมายเบียดเสียดยัดเยียด ทั้งบนรถโดยสารบนถนน แต่ที่ชัดเจนคือรถแต่ละคันที่นี่ใช้สัญญาณแตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเมื่อเรานั่งรถเราจะได้ยินสัญญาณนี้ถี่มากๆ นอกจากนั้นแล้วการจราจรก็ติดขัด ถนนหนทางก็ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ที่สําคัญไปกว่านั้นคือการขับรถของคนอินเดีย นึกอยากจะจอดก็จอด อยากจะ เลี้ยวก็เลี้ยว หรือแม้แต่อยากจะกลับรถกลางถนนก็ทํา นี่ไม่ใช่แค่คนขับรถที่ผู้เขียนโดยสารมาด้วยนะครับ แต่สามารถมองเห็นได้ตลอดทาง แม้แต่รถของตํารวจเองก็เถอะก็ยังทําเหมือนๆกันเฉยเลย ซึ่งประหลาดมากที่ผู้เขียนไม่เห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลยระหว่างที่เดินทาง นี่ถ้าเป็นเมืองไทยผู้เขียนว่าควายเดินกันเผล่นพล่านเต็มถนนแล้ว อุบัติเหตุก็ต้องมีให้เจอหรืออาจจะเจอการฆาตกรรม ซะด้วยซ้ำไป น่าที่จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องของเมืองไทยมาดูงานที่นี่ ว่าเขาทําอย่างไรจึงไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายบนถนน
อีกมุมของการจราจรที่คับคั่ง
และแล้วผู้เขียนก็มาถึงโรงแรมอย่างสวัสดิภาพ ประมาณ 30 นาที จากสนามบิน ปรากฎการณ์ที่ผู้เขียนได้เห็นได้สัมผัสคือ คนอินเดียพูดภาษาอังกฤษได้แทบจะทุกคนก็ว่าได้ แม้แต่เด็กประถมเองก็เถอะ อายเขาไหมล่ะทั้งที่เราก็จบถึงขั้นปริญญา แต่ภาษาแพ้กระทั่งเด็กประถมที่นี่ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ใช่ว่าเพราะเขาเป็นเมืองขึ้นมาก่อนอย่างเดียวนะครับ ทางรัฐบาลเขาเล็งเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของประชาชนของเขามากกว่า จึงจัดให้มีการเรียนการสอนแก่ประชาชนของเขา ผู้เขียนว่าที่เมืองไทยที่พูด,อ่าน,เขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ น่าจะประมาณ 95%ได้ แต่ที่นี่ 95%ของคนที่เรียนหนังสือ พูด อ่าน เขียนได้ อนาคตของชาติเราน่ากลัวนะครับว่าจะตามไม่ทันโลกปัจจุบัน เพราะเรื่องภาษานี่แหล่ะถึงแม้ว่าที่นี่จะยังมีความเจริญทางวัตถุโดยรวมน้อยกว่าเราก็ตามที แต่ความที่แตกฉาน,แคล่วคล่องในเรื่องของภาษา น่าจะทําให้เขาพัฒนาได้ดีกว่าเราในอนาคต แน่นอนครับ
เมื่อผู้เขียนถึงโรงแรม ก็จัดแจงหาที่รับประทานอาหารเช้า เขามีคูปองให้ สามารถเข้าไปรับประทานได้ที่ห้องอาหารของโรงแรม เป็นบุฟเฟต์ นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนคาดไว้ก่อนที่จะมาถึงที่นี่คือความลําบากในการรับประทานอาหาร เมื่อรู้จักกับรสชาติของอาหารอินเดียแล้ว ก็สามารถทําให้ผู้เขียนหายหิวได้ในบัดดล ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเครื่องเทศ วัสดุที่ปรุงอุดมไปด้วยมันฝรั่ง ไข่ไก่ หัวหอม หรือซุปที่เจอ ผู้เขียนว่าขอน้ำปล่าวน่าจะดีกว่า คิดว่าเป็นสิ่งดีที่สําหรับผู้เขียน จะได้ทําให้ผู้เขียนลดความอ้วนได้ดี แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้แน่ใจอย่างที่ผู้เขียนได้เห็นที่นี่ เพราะคาดว่าที่อื่นที่ไปน่าจะดีกว่านี้(ปลอบ ใจตัวเอง) ลักษณะทั่วไปของการรับประทานอาหาร
เมื่อเสร็จธุระดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนก็ได้เดินมาขอเขาต่ออินเตอร์เน็ต ที่ชั้นใต้ดินของโรงแรม อ้อลืมบอกไปว่าผู้เขียนพักอยู่ที่ชั้น 4ของโรงแรม ซึ่งเป็นชั้น 5 ของบ้านเรา เพราะชั้นแรกเขาเริ่มต้นด้วยชั้น 0 เมื่อผู้เขียนเข้ามาต่ออินเตอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์มือถือ ที่บริษัทที่เมืองไทยให้ผู้เขียนยืมใช้เป็นที่เรียบร้อย อันแรกผู้เขียนก็เจอเลยครับ ปลั๊กไฟใช้กันไม่ได้แต่กระแสไฟตรงกัน เจ้านายผู้เขียนบอกไว้ว่าไม่ต้องห่วงหรอกปลั๊กไฟที่อินเดียกับที่บ้านเราเหมือนๆกัน ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากหรอก ผู้เขียนได้แต่นึกในใจว่าเขาบอกอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ไม่กล้าต่อว่าเพราะกลัวตกงาน แต่ก็พอมีแบตเตอรี่สํารองที่สามารถใช้งานได้ระยะหนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมง ความเร็วของอินเตอร์เน็ตสูงสุดที่นี่ อยู่ที่ 44.0 kbps. แต่ไม่เกิน 10 นาทีก็หลุด ความเร็วที่เหมาะสมต่อแล้วไม่ค่อยหลุดของอินเดียน่าจะอยู่ที่ 33.6 kbps.
ผู้เขียนต้องบอกก่อนครับว่าความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้เขียนนั้นดีในระดับเริ่มต้นเท่านั้นเองนะครับ เพราะฉะนั้นครั้งแรกที่ผู้เขียนเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตในอินเดียได้ ที่ MSN ผู้เขียนพบว่าน้องชายคนเดียวของผู้เขียนกําลัง Onlineอยู่ แต่ผู้เขียนก็จนปัญญาที่จะคลิกเข้ามาคุยกับน้องชาย เพราะตอนนั้นใช้ MSN ไม่เป็นจริงๆครับขอสารภาพ จนกระทั่งน้องชายผู้เขียนได้เขาได้ disconnectไปเรียบร้อย ก็เลยไม่รู้จะติดต่อใครได้ ลองส่ง msg. ทางอินเตอร์เน็ตที่เขาให้บริการฟรีดูู โอโหไม่ว่ากี่ Webต่อกี่ Web (ประมาณ 7-8 webได้) ไม่สามารถส่งข้อความได้เลย เหลือบไปดูInternet ของคนข้างๆซึ่งเป็นพนักงานของโรงแรม ปรากฎว่าเป็นภาษาอังกฤษ ปนภาษาที่นี่ ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเขาเรียกว่าภาษาอะไร ไม่กล้าถามด้วยเพราะอุปสรรค์เรื่องภาษา
มิเตอร์ตุ๊กๆที่มีแต่ไม่ได้ใช้
สิ่งที่พบอีกประการหนึ่งคือโปรแกรมที่เขาใช้ทั้งหมดจะเป็นWindow 98 เท่านั้น เครื่องที่ผู้เขียนนํามาใช้ Window XP ซึ่งของทันสมัยกว่ามาก สอบถามคนที่พอจะถามได้ภายหลังที่ภาษาของผู้เขียนเริ่มดีขึ้น เขาบอกว่าที่อินเดียใช้โปรมแกรมดังกล่าวเป็นหลัก แต่ก็เริ่มเห็นในโฆษณา TV บ้านเขาว่าเริ่มมีการเข้ามาของ Window XP บ้างแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อเครื่องใหม่
ก่อนผู้เขียนมาผู้เขียนทราบว่าที่ประเทศนี้มีเมืองไฮเทคกันหลายที่(กี่ที่ผู้เขียนก็จําไม่ได้)มีคนชํานาญเรื่อง IT กันมากแต่พอมาแล้วผู้เขียนแทบไม่เห็นใครใช้คอมพิวเตอร์เลย อาจจะเป็นเพราะประชากรที่มากมายของเขา เขาจึงมีตัวเลือกอย่างเหลือเฟือ คนส่วนมากยังไม่ได้รับการถ่ายทอดมา จึงไม่เห็นว่าเขาใช้กันมาก
แต่ผู้เขียนก็ได้รับรู้แล้วครับว่าอินเดีย เจริญทางเทคโนโลยีอย่างไร ผู้เขียนเจอะเข้าเต็มๆเลยครับ ม้าโทรจัน(Trojan Horse) ในวันแรกที่ใช้ เพียงแค่ Online ท่านก็สามารถพบไวรัสหลากสายพันธุ์ ที่สําคัญผู้เขียนซึ้งแล้วครับว่าดินแดนต้นกําเหนิดของม้าโทรจัน(Trojan Horse) เป็นอย่างไร เพราะหลังจากที่เครื่องที่ผู้เขียนใช้พานพบกับเขาเข้าไห้ ทั้งช้าทั้งอืดเปิดเครื่องเข้าใหม่ก็ยาก Spy ware เข้ามาทีเป็นสิบๆหน้า ไม่ต้องใช้กันเลยสําหรับWebsite ที่ต้องการ และที่สําคัญเครื่องที่ผู้เขียนใช้ไม่มีระบบปฏิบัติการป้องกัน กําจัดVirus, Spy ware ผู้เขียนแทบไม่มีเวลาทําอะไรเลยกับเครื่องก่อนมาเพราะผู้เขียนได้รับเครื่องก่อนออกเดินทางเพียง 1 วันและ 1 วันที่ผู้เขียนเหลืออยู่ในเมืองไทยผู้เขียนก็ต้องเตรียมการอย่างอื่นเพื่อที่จะมาทํางานที่อินเดียอย่างสะดวกเท่าที่จะทําได้ ผู้เขียนได้รับเครื่องก่อนเดินทางไม่ถึง 20 ชั่วโมงแล้วช่วงที่พี่เขาเอาคอมพิวเตอร์ให้ผู้เขียนเป็นเวลาช่วงบ่ายแก่ๆแล้ว ผู้เขียนจะไปทำอะไรได้กว่าจะเดินทางเข้าในเมืองกรุงเทพฯน่าจะร่วม 2 ชั่วโมงได้ น้ำหนักเครื่องรวมแบตเตอรี่ก็ประมาณ 4-5 กก. หนักน่าดู แต่ตอนนั้นก็ถือว่าทันสมัยพอควร
ผู้เขียนมีเวลาอยู่ในเมืองนี้ถึงเวลาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาของอินเดีย (เมืองไทย 21.30 น.) เพราะต้อง โดยสารทางรถไฟต่อไปที่เมืองคูเวอร(Kuvur) รัฐอันดระประเทศ(Andhra Pradesh State) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ สํานักงานที่ผู้เขียนจะไปทํางาน เป็นโรงงานอาหารกุ้ง,โรงงานแช่เยือกแข็งกุ้ง ซึ่งที่นั่นจะทําธุรกิจเกี่ยวกับกุ้งกุลาดําและกุ้งก้ามกรามเป็นหลัก ชื่อว่า บริษัท อวันติฟีด จํากัด(Avanti Feeds Limited) ซึ่งเป็นบริษัทเดียวทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอินเดีย
รถไฟโดยสารที่คนใช้บริการแน่นมาก
รถไฟที่ผู้เขียนโดยสารในครั้งนี้ผู้เขียนบอกได้เลยว่าเป็นรถหัวจักรไฟฟ้า ขอย้ำว่าเป็นรถไฟพลังงานไฟฟ้าครับท่านขบวนกว้างและยาวกว่าบ้านเรามาก เป็นทางรถไฟรางคู่จึงทําให้เดินทางได้สะดวกรวดเร็วกว่าพาหนะอย่างอื่น ระยะทางก็ประมาณ 700 กม.ได้ ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง ก็ถึงที่หมาย ซึ่งช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นก็ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มาถึงอินเดีย ครับ
อาหารที่รับประทาน
ในส่วนของเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในตอนต่อๆไปถึงเรื่องนิสัยใจคอ, ความคิด, การทํางาน, สภาพทั่วๆไปของคนอินเดีย, สิ่งแวดล้อมต่างๆที่แตกต่างจากบ้านเรา รวมถึงสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตช่วงนี้ของผู้เขียน ซึ่งก็แน่นอนครับว่าเขามีอะไรที่เหนือกว่าเราหลายอย่างและเราก็มีอะไรที่เหนือกว่าเขาหลายอย่างเช่นกัน ซึ่งน่าจะปรับเข้าหากันได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องการเข้ามาขุดทองในอินเดีย
ผู้เขียนบอกได้เลยว่ากําลังยืนอยู่บนขุมทองที่มีปริมาณอภิมหาสาร เพียงแต่ตอนนี้ขาดอุปกรณ์ในการขุดทองเหล่านั้นขึ้นมาเท่านั้นเอง สนใจขุดทองกันบ้างใหมครับ มีที่ให้ขุดทองมากมายที่จะให้ท่านได้ค้นหา สามารถรองรับคนทั้งประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ธุรกิจร้านอาหารไทยเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก ตลาดใหญ่มาก
FB Page: Thailand Modern Marketing
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง
อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
โหลดที่ http://www.blockdit.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา