Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
15 ส.ค. 2019 เวลา 10:55 • การศึกษา
“สัญญาจ้างแรงงานที่ระบุห้ามไม่ให้ลูกจ้างทำงาน หรือประกอบกิจการแข่งกับนายจ้าง เมื่อลูกจ้างลาออกไว้ ข้อตกลงอย่างนี้ใช้บังคับได้หรือไม่ ?”
สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น สิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องตำแหน่ง เงินเดือน สวัสดิการ ระยะเวลาทำงาน (กรณีจ้างโดยระบุระยะเวลา)
Cr. pixabay
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานให้ชัดเจนว่านายจ้างตกลงว่าจ้างและลูกจ้างตกลงรับจ้างทำอะไร ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละเท่าไหร่ ภายในวันที่เท่าไร มีค่าตอบแทนอะไรบ้าง...
จึงเป็นหน้าที่ของลูกจ้างที่ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ และทำความเข้าใจก่อนที่จะจรดปากกาเซ็นสัญญา
แต่สำหรับลูกจ้างบางคนที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ หรือโดยตำแหน่งหน้าที่ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ๆ ของนายจ้างได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการผลิตสินค้า ราคา ต้นทุน วัตถุดิบ ฯลฯ
ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้ อาจจะต้องใช้ความรอบคอบในการอ่านสัญญาเป็นพิเศษหน่อย เพราะนายจ้างอาจจะเพิ่มเติมเงื่อนไขบางอย่างมาด้วย เช่น...
1
“หากลาออก ห้ามไม่ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่อย่างเดียวกัน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกันกับบริษัทอื่น เป็นระยะเวลา...ปี” หรือ
“หากลาออก ห้ามมิให้ประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับบริษัทนายจ้าง เป็นระยะเวลา...ปี”
โดยข้อความในสัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีในบริษัทที่ต้องใช้เทคโนโลยี หรือเทคนิคพิเศษในการผลิต หรือดำเนินงาน หรืออาจมีความพิเศษในเรื่องต้นทุนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ว่ามา ตกลงเซ็นสัญญาว่าจะไม่ละเมิดข้อตกลงหากภายหลังได้ลาออกจากบริษัทไป
Cr. pixabay
ทีนี้ ในทางกฎหมาย ข้อสัญญาที่มีข้อความห้ามเหล่านี้จะสามารถใช้บังคับได้แค่ไหน เพียงใด แอดมินจะสรุปให้ฟังจากคำพิพากษาเรื่องนี้ครับ
คดีนี้ โจทก์ (นายจ้าง) ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 (ลูกจ้าง) และจำเลยที่ 2 (คนค้ำประกัน) ว่าได้รับจำเลยที่ 1 เข้าทำงานตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ประสานงานพิเศษแผนกค้าปลีก ค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 25,000 บาท
1
โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างว่า “ภายในระยะเวลา 36 เดือน หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุด ลูกจ้างจะไม่นำข้อมูลในการผลิต การค้นคว้า การทดสอบผลิตภัณฑ์ การตัดจำหน่ายหรือความลับทางการค้าใด ๆ ที่ลูกจ้างล่วงรู้ไปใช้เปิดเผย อันอาจเป็นการแข่งขันทางการค้าใด ๆ กับกิจการของนายจ้างหรือบริษัทใด ๆ” และ
“ภายในระยะเวลา 12 เดือน หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลง ลูกจ้างจะไม่ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในกิจการอันเป็นการแข่งขันกัน...ในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธรและมุกดาหาร”
ต่อมา จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปทำงานกับนายจ้างใหม่ที่มีลักษณะงานเดียวกันกับโจทก์ ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหาย 200,000 บาท
1
จำเลยให้การว่าระยะเวลาที่ทำงานกับโจทก์เพียง 8 เดือนไม่ทำให้จำเลยมีความรู้ความชำนาญได้ เดิมจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวถึง 11 ปีเศษ จึงได้เรียนรู้ศึกษาและฝึกอบรมวิธีการทำงานของบริษัทจนมีทักษะความรู้ความสามารถ อีกทั้งบริษัทดังกล่าวอยู่จังหวัดปทุมธานี ไม่ได้อยู่ตามท้องที่ห้ามในสัญญา
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 90,000 บาท จำเลยที่ 2 รับผิด 60,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
1
Cr. pixabay
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานเห็นว่า จำเลยที่ 1 ลาออกไปทำงานกับบริษัท อ. ยังอยู่ในระยะเวลาห้ามตามสัญญา ที่ทำงานใหม่ของจำเลยที่ 1 ต่างมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยประกอบกิจการขายวัสดุและอุปกรณ์การก่อสร้างและเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นเดียวกับโจทก์
ส่วนสัญญาจ้างทั้งสองข้อดังกล่าวนั้น ศาลเห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในการประกอบธุรกิจโดยชอบ ไม่เป็นการห้ามเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้และเป็นการห้ามเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันกับงานโจทก์และเฉพาะส่วนงานที่จำเลยที่ 1 เคยทำกับโจทก์
ลักษณะข้อสัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ในการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดทีเดียว
เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างบางพื้นที่ ที่เป็นการแข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
และไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 314/2560)
1
สรุป เรื่องนี้ศาลท่านมองว่าข้อตกลงในสัญญาที่ใช้บังคับภายหลังจากลาออกตามเงื่อนไขของคดีนี้ สามารถใช้บังคับได้ และไม่เป็นการจำกัดสิทธิของลูกจ้าง
สำหรับแอดมินเห็นว่า ควรดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไปจะดีกว่า เพราะว่าหากเงื่อนไขในสัญญาแตกต่างไปจากคดีนี้ ผลของคดีก็น่าจะเปลี่ยนไปได้เช่นกัน
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
15 บันทึก
101
39
32
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแรงงาน
15
101
39
32
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย