16 ส.ค. 2019 เวลา 10:10 • การศึกษา
“ลูกจ้างลาออกก่อนกำหนด นายจ้างจะเรียกค่าเสียหายในการรับสมัครและการฝึกพนักงานใหม่ได้หรือไม่”
ช่วงนี้แอดมินอาจเขียนบทความเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานบ่อยเป็นพิเศษ เพราะสืบเนื่องมาจากการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี ทำให้งานบางประเภทหรืออาชีพบางอาชีพมีอันจะต้องล้มหายตายจากไป
Cr. pixabay
สำหรับมนุษย์เงินเดือน คนไหนที่ทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจซึ่งถูกผลกระทบจากเทคโนโลยีดังกล่าว หากนายจ้างเห็นว่าการยื้อต่อไปบาดแผลก็อาจจะรุกลามไปทั้งตัว จึงต้องตัดสินใจยอมตัดแขนขาทิ้งเพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอด การเลิกจ้างพนักงานก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่นายจ้างอาจนำมาใช้
และแม้ว่าบางครั้ง แวดวงธุรกิจที่ทำอยู่อาจไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเทคโนโลยีมากมายนัก แต่อาจเป็นเพราะการบริหารของนายจ้างเอง ที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถยืนหยัดแข่งขันต่อไปได้ การเลิกจ้างก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน
สำหรับลูกจ้างบางคนที่มองเห็นวิกฤติและโอกาส การสละเรือเพื่อเอาตัวรอดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งก็คงดีกว่ายอมจมไปพร้อมกับเรือ หรือถูกลอยคอในทะเลและรอให้ฝูงฉลามมากัดกิน
ซึ่งตามกฎหมาย การจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา หากลูกจ้างต้องการลาออกก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบอย่างน้อยหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง การลาออกจึงมีผลตามกฎหมาย
แต่สำหรับสัญญาจ้างซึ่งได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ หากลูกจ้างลาออกไปก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน อย่างนี้ นายจ้างจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่ เรามาดูตัวอย่างนี้กันครับ
ชบาแก้ว สาวสวยสู้ชีวิต ต้องจากบ้านนามาหางานทำที่บางกอก ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจนต้องจำทนทำงานหนัก เพียงหวังเลี้ยงปากท้องตัวเองและเก็บเงินส่งไปให้ครอบครัว
Cr. pixabay
มาวันหนึ่ง ขณะที่เดินผ่านร้านสปาของ
เจ๊ต๋อย ชบาแก้วเห็นประกาศเปิดรับสมัครงาน ตำแหน่งพนักงานแนะนำความงาม นวดสปาและดูแลผิวพรรณของทางร้าน จึงเกิดความสนใจและอยากมีทักษะด้านนี้ติดตัว จึงตรงเข้าไปสมัครทันที
เจ๊ต๋อยเห็นชบาแก้วเป็นสาวหน้าตาดี และท่าทางคล่องแคล่ว แม้จะไม่มีประสบการณ์มาก่อนแต่ของอย่างนี้มันเรียนรู้กันได้ จึงตกลงรับชบาแก้วเข้าทำงานที่ร้านสปา โดยจะฝึกสอนให้จนเป็นงานและชบาแก้วจะต้องทำงานที่ร้านของเจ๊ต๋อยไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา
ชบาแก้วเรียนรู้งานได้อย่างรวดเร็ว ไม่นานนักก็สามารถนวดและทำสปาได้อย่างคล่องแคล่ว จนฝีมือเป็นที่เลื่องลือ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มน้อย หนุ่มเหลือน้อย หรือแม้แต่สาว ๆ ด้วยกันเอง ต่างก็ติดใจฝีมือนวดสปาของชบาแก้วกันทุกคน
ในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนนับจากเข้าทำงานที่ร้านของเจ๊ต๋อย ชบาแก้วก็ถูกทาบทามให้ไปทำงานที่ร้านของเฮียกวง เจ้าของสปาขนาดใหญ่ โดยเฮียกวงตกลงจ่ายค่าจ้างมากกว่าเจ๊ต๋อยถึง 3 เท่า
Cr. pixabay
ชบาแก้วแทบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เงินมากกว่า ร้านใหญ่กว่า จึงตัดสินใจไปทำงานที่ร้านของเฮียกวงโดยไม่ได้บอกกล่าวเจ๊ต๋อยก่อน
เจ๊ต๋อยโมโหมาก จึงแต่งตั้งทนายความฟ้องชบาแก้วต่อศาลแรงงาน เพราะถือว่าชบาแก้วผิดสัญญา เนื่องจากสัญญาจ้างกำหนดเรื่องระยะเวลาทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปีแต่ชบาแก้วกลับทำงานกับตนเพียงแค่ 2 เดือน ทำให้ตนได้รับความเสียหาย
โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการต้องฝึกสอน และจ้างผู้เชี่ยวชาญมาฝึกสอน และใช้อุปกรณ์ฝึกสอนของทางร้าน และทำให้ต้องรับสมัครและฝึกสอนพนักงานคนใหม่ และค่าขาดรายได้อื่น ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท
Cr. pixabay
ซึ่งเรื่องนี้ศาลท่านก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาออกมาอย่างนี้ครับ
“ศาลแรงงานกลางเห็นว่า นอกจากพยานหลักฐานของโจทก์จะไม่ชัดเจนและน่าเชื่อได้ว่าได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาฝึกสอนจำเลยและให้จำเลยได้ใช้อุปกรณ์ฝึกสอนของทางร้านแล้ว...
นอกจากนี้หากพิจารณาหลักเกณฑ์ตามปกติทั่วไปของการบริหารงานบุคคลที่นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่พัฒนาศักยภาพของลูกจ้างให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ต่อไป
การฝึกสอนให้ลูกจ้างอันเกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นภาระของนายจ้าง หาใช่ของจำเลยไม่ การที่โจทก์ยอมรับว่าจำเลยได้รับการอบรมตามสัญญาสอนพนักงานแนะนำความงาม สปา ฯลฯ เพื่อให้สามารถทำงานตามหน้าที่ได้ ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิผลักภาระหนี้นี้ให้จำเลย
Cr. pixabay
ค่าเสียหายในการรับสมัครและฝึกพนักงานใหม่ทำให้เสียเวลา ก็เป็นเรื่องการบริหารกิจการของโจทก์ที่การดำเนินธุรกิจต้องมีการรับลูกจ้างใหม่และฝึกฝนให้ลูกจ้างปฏิบัติงานตามหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ จึงหาใช่เป็นเรื่องเสียเวลาและเป็นเรื่องความเสียหายอันเกิดจากจำเลยเลิกสัญญาก่อนกำหนดไม่
ค่าขาดรายได้จากการให้บริการลูกค้าก็เป็นเรื่องค่าเสียหายในอนาคตหลังจากเลิกสัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่อาจนำมากำหนดเป็นค่าเสียหายได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับรายละเอียดของการขาดรายได้ว่ามีเช่นใด จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่เรียกร้อง
พิพากษายกฟ้อง
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 534/2560)
📌 สรุป เรื่องนี้นายจ้างฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกจ้าง แต่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าได้รับความเสียหายจริงตามที่เรียกร้องมา
และศาลเห็นว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้างในการบริหารจัดการ และฝึกสอนให้ลูกจ้างของตนสามารถปฏิบัติงานได้ตลอดการประกอบธุรกิจ นายจ้างจึงไม่สามารถปัดความรับผิดชอบในส่วนนี้ให้แก่ลูกจ้างได้
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา