16 ส.ค. 2019 เวลา 07:30
ขงจื่อ
ตอนที่ 21
ภายนอกสอนกาพย์กวี ภายในคือสอนเต้า
หลายคนคงจะรู้จักขงจื่อแต่เพียงว่าสอนวิชาที่ว่าด้วยการเมืองการปกครอง สอนเรื่องจริยธรรม สอนเรื่องความเมตตา สอนเรื่องความกตัญญู แต่คงมีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าขงจื่อยังมีการสอนเรื่องของการบำเพ็ญจิตอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการกล่าวถึงขงจื่อว่า “ภายนอกสอนกาพย์กวี ภายในคือสอนเต้า” (明傳詩書暗傳道)
เต้า (道) ที่พูดถึงนี้คือสัจธรรม สัจธรรมนั้นคือความจริงแห่งโลกอย่างหนึ่ง ความจริงคือสิ่งที่ไม่เสื่อมสลาย เหตุที่ไม่เสื่อมสลาย ก็ด้วยเพราะสัจธรรมนี้ไม่เคยเกิด เมื่อไม่เคยเกิด แน่นอนว่าย่อมต้องไม่มีวันที่จะดับสูญ ดังนั้นพระอริยเจ้าแต่อดีตจึงพยายามค้นหาความจริงนี้ ทั้งนี้เพื่อจะได้พาตนให้บรรลุสู่ความเป็นอมตะอันนิรันดร์
อันสัจธรรมความจริงนี้ พระอริยเจ้าแต่ละท่านอาจจะเรียกขานกันไปอย่างแตกต่าง แม้จะมีชื่อเรียกขานที่แตกต่าง แต่แท้แล้วล้วนหมายถึงสิ่ง ๆ เดียว เหมือนดังเช่นที่เราเรียกของเหลวใสที่เราดื่มว่า “น้ำ” ภาษาจีนเรียกว่า “สุ่ย” คนแต้จิ๋วเรียกว่า “จุ้ย” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “วอเตอร์” ไม่ว่าจะกี่เชื้อชาติกี่ภาษา ไม่ว่าจะเรียกคำว่า “น้ำ” อีกกี่มากน้อยนานา แต่เนื้อแท้ของมันก็คือสิ่งเดียวกัน การเรียกน้ำเป็นฉันใด อันสัจธรรมที่ขงจื่อหมายถึงก็คือฉันนั้น สำหรับสัจธรรมที่ว่านี้ ขงจื่อและเหลาจื่อต่างเรียกว่า “เต้า” แต่หากจะเรียกกันแบบที่คนไทยคุ้นเคยกันดีแล้ว ก็ควรจะออกเสียงว่า “เต๋า”
เต้านี้คือสัจธรรม สัจธรรมคือความเที่ยงแท้ ความเที่ยงแท้คือความไม่ผันแปร ความไม่ผันแปรนั้นคือหนึ่ง หนึ่งนั้นคือสงบนิ่ง คือความเที่ยงแท้ คือความนิรัยดร์ แต่จากความสงบนิ่งที่เที่ยงแท้นิรันดร์ก็สามารถแบ่งออกเป็นสอง สองนั้นคืออินและหยาง อินหยางหมายถึงดีชั่ว บนล่าง สั้นยาว ชายหญิง กุศลอกุศล บุญบาป ฯลฯ จากอินหยางอินหยางที่เป็นสองก็ผสมผสานกันจนเกิดเป็นความหลากหลาย ความหลากหลายนั้นเราเรียกว่าสรรพสิ่ง ดังนั้นสรรพสิ่งภายนอกถูกสร้างขึ้นโดยหนึ่ง หรือก็คือถูกสร้างขึ้นโดยเต้า
ภายนอกมีสรรพสิ่งที่มีความหลากหลาย ส่วนสรรพสิ่งภายในจิตใจนั้นเล่าคืออะไร? สรรพสิ่งภายในจิตใจก็คือความคิดอันหลากหลายนั่นเอง สำหรับปุถุชนคนทั่วไปก็คือจิตอันฟุ้งซ่าน จิตที่ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นหากเก็บความฟุ้งซ่านให้เหลือน้อยที่สุดก็จะเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง ความเป็นหนึ่งก็คือเต้า ดังนั้นเต้าจึงเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่ง เป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง ผู้ใดที่รู้หนึ่ง ผู้นั้นย่อมรู้สรรพสิ่ง รู้ซึ่งความเป็นไปแห่งสากล แลนี่ก็คือสัจธรรมที่ขงจื่อท่านรู้แจ้งมา
การสนทนาของบุคคลทั่ว ๆ ไปมักจะต้องพูดยืดเยื้อเพื่ออธิบายความหมายอย่างหนึ่งให้เข้าใจ แต่การสนทนาระหว่างมหาบุรุษนั้นกลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะท่านจะสนทนาเพียงไม่กี่คำก็จะล่วงรู้ซึ่งใจความได้ ดังเช่นครั้งหนึ่ง ท่านได้เคยสนทนาเรื่องเต้ากับศิษย์รักอีกท่านหนึ่งที่มีนามว่าเจิงจื่อ เนื้อความมีอยู่ว่า “เจิงจื่อเอ๋ย อันเต้าของข้านั้นครอบคลุมทั้งหมดด้วยเพียงหนึ่ง” เจิงจื่อกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ใช่ครับ” ครั้นขงจื่อเดินจากไป ศิษย์ที่เหลือต่างถามเจิงจื่อด้วยความงุนงงว่า “ท่านอาจารย์หมายความว่าอย่างไรฤๅ ?” เจิงจื่อไม่รู้จะอธิบายความแยบยลที่อยู่เหนือการสื่อสารด้วยภาษาอย่างไรดี จึงได้แต่อธิบายอย่างใกล้เคียงที่สุดว่า “อันเต้าของท่านอาจารย์นั้น ก็เพียงภักดีอภัย (忠恕) เท่านั้นแล”
คำว่าภักดีอภัยที่เจิงจื่อหมายถึง หากวิเคราะห์โดยโยนิโสมนสิการแล้วก็จะทราบว่า ภักดีคือส่วนภายใน อภัยคือการแสดงออกแห่งความภักดีที่ภายนอก ภักดีที่อยู่ภายในคือหลักของภายนอก อภัยที่อยู่ภายนอกคือพลานุภาพแห่งภายใน ข้อนี้จึงเสมือนดังสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนว่า “สมาธิคือความสงบภายใน ส่วนปัญญาคือการแสดงออกเป็นศักยภาพแห่งสมาธิที่ภายนอกนั่นเอง” และนั่นก็หมายความว่า การจะคิดหรือทำสิ่งใด ๆ ทั้งปวง ล้วนต้องมีแก่นอันเที่ยงแท้ที่ภายในเป็นหลักยึด เช่นนี้แล้วจึงจะเกิดความคิดการกระทำอันเที่ยงตรงที่ภายนอกได้ หากผู้ใดไม่ทราบซึ่งหลักยึดที่เป็นแก่นที่ภายใน เขาผู้นั้นย่อมต้องมีความคิดการกระทำที่ผิดเพี้ยนด้วยเพราะไร้หลักยึดนั่นเอง
เต้าเป็นสิ่งที่ต้องนำมาปฏิบัติกันตลอดชีวิต ต้องประคองไว้ทุกเสี้ยววินาที ท่านจึงเคยกล่าวว่า “อันเต้านี้ จะห่างแม้เพียงชั่วครู่เดียวนั้นไม่ได้เลย สิ่งที่สามารถห่างได้ สิ่งนั้นไม่ใช่เต้า” ดังนั้นขงจื่อจึงเคยกล่าวว่า “หากให้เวลาข้าสักหลาย ๆ ปี เพื่อห้าสิบเรียนอี้จิงแล้ว ข้าก็จะไร้ความผิดฉกรรจ์อีกต่อไป” ประโยคนี้ หลายๆ คนอธิบายว่า “อายุห้าสิบแล้วค่อยเรียนอี้จืง” ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนที่มีความวิริยะใฝ่ศึกษาเช่นขงจื่อ ไฉนต้องรอให้อายุครบห้าสิบแล้วจึงค่อยเรียนอี้จิงด้วยเล่า?
คัมภีร์อี้จิง (易經) ที่ท่านกล่าวถึงนั้น หมายถึงคัมภีร์รพีจันทร์ เป็นชื่อหนังสือปรัชญาในสมัยโบราณ เหตุที่แปลคัมภีร์อี้จิงเป็นคำว่า “คัมภีร์รพีจันทร์” เพราะคำว่า易จะประกอบด้วยอักษรจีนสองตัวคือ 日(สุริยัน) และ 月(จันทรา) นั่นเอง ดังนั้นคัมภีร์อี้จิงหรือคัมภีร์รพีจันทร์จึงหมายถึงคัมภีร์ที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งอินหยาง เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งฟ้าดิน ในคัมภีร์ได้อธิบายถึงความหมายของปากั้ว (八卦) อันเป็นขันธ์ทั้งแปด (อัฏฐขันธ์) ที่ประกอบกันเป็นรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งประกอบด้วย นภาขันธ์ ธาราขันธ์ อัคคีขันธ์ อสนีขันธ์ วายุขันธ์ วารีขันธ์ คีรีขันธ์ ธรณีขันธ์ และขันธ์ทั้ง 8 ยังสามารถผสมเป็นกลุ่มขันธ์อีก 64 ขันธ์ได้อย่างหลากหลาย
ย้อนกลับมาดูคำว่า 50 เรียนอี้จิงที่ท่านขงจื่อได้กล่าวถึง คำว่า 50 จะมีนัยที่พิเศษแฝงเร้นอยู่ หากเราดูที่อัฏฐขันธ์ (八卦) ในคัมภีร์อี้จิงก็จะพบว่า ขันธ์ลำดับที่ 5 ในอัฏฐขันธ์คือวายุขันธ์ ส่วนขันธ์ลำดับที่สิบในอัฏฐขันธ์คือธาราขันธ์ เมื่อนำทั้งสองขันธ์มารวมกัน ก็จะหมายถึงจงฝู (中孚) ซึ่งคำว่าจงฝูจะมีนัยที่หมายถึงความซื่อสัตย์ และก็มีเพียงความซื่อสัตย์เท่านั้นที่จะทำให้ไร้ความผิดฉกรรจ์ตามที่ท่านขงจื่อได้กล่าวถึง อนึ่ง ขันธ์ที่ 5 เป็นตัวแทนของความเมตตา ส่วนขันธ์ที่ 10 เป็นตัวแทนของปัญญา ความฉลาด ความปรารถนา ดังนั้นคำว่า 50 จึงมีนัยว่า ใช้ความเมตตาข่มความใคร่ความปรารถนานั่นเอง
รหัสนัยที่แฝงอยู่ในความหมายของคัมภีร์อี้จิงยังเผยให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า สติปัญญาหรือความคิดที่แสดงออกที่ภายนอก ก็ต้องเป็นการแสดงออกที่มิให้ห่างออกจากแก่นภายในที่เป็นความเมตตา มันจึงไม่แปลกเลยที่ครั้นขงจื่อได้ถามเจิงจื่อว่า “อันเต้าของของข้านั้นครอบคลุมทั้งหมดด้วยเพียงหนึ่ง” เจิงจื่อตอบว่า “ใช่ครับ” แต่ศิษย์คนอื่นยัง ๆ ไม่เข้าใจ เจิงจื่อจึงได้แต่อธิบายว่าคือ “ภักดีอภัย” ซึ่งความหมายของคำว่าภักดีอภัยที่ส่วนภักดีจะอยู่ภายในและอภัยจะอยู่ที่ภายนอกนั้น แท้แล้วก็มิได้ต่างจากความหมายของคำว่า 50 ในคัมภีร์อี้จิง ที่ใช้ความเมตตาที่ภายใน ข่มหรือควบคุมความคิดความใคร่ที่ภายนอก และไม่ต่างจากสมาธิที่เป็นความสงบนิ่งที่ภายใน เป็นหลักให้ปัญญาที่เป็นพลานุภาพที่ภายนอกเลย
ดังนั้น ความหมายของเมตตาที่อยู่ภายใน ควบคุมความคิดความใคร่ที่อยู่ภายนอกในคำว่า “50 เรียนอี้จิง” ก็ดี หรือความหมายของสมาธิที่เป็นหลักให้กับปัญญาที่แสดงออกที่ภายนอกในพุทธศาสนาก็ดี หรือเต้าที่เป็นหลักและเป็นต้นกำเนิดของสรรพความคิดภายในจิตใจก็ดี โดยแท้แล้วล้วนหมายถึงสัจธรรมที่เป็นหนึ่ง สัจธรรมที่เป็นหนึ่งนี้คือความนิรันดร์ คือความอมตะ หนึ่งคือต้นกำเนิดของสอง เป็นต้นกำเนิดของสาม เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ดังนั้นเมื่อรู้หนึ่งซึ่งเป็นส่วนต้นแล้ว ก็ย่อมต้องรู้สรรพสิ่งซึ่งเป็นส่วนปลายได้อย่างแน่นอน
ขงจื่อเป็นผู้ที่รู้หนึ่งซึ่งก็คือเต้า ด้วยเพราะรู้หนึ่ง ดังนั้นท่านจึงมีความรอบรู้ในทุกสิ่ง และความรอบรู้ในทุกสิ่งของท่านนี้นี่เอง ที่ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า เหตุใดท่านจึงมีความรอบรู้มากมายถึงเพียงนี้
อย่างเช่นจื่อก้งก็เคยมีความสงสัยเช่นนี้อยู่เหมือนกัน จึงทำให้ขงจื่อถามจื่อก้งในครั้งหนึ่งว่า “จื่อก้ง เจ้าคงเข้าใจว่าความรู้ของข้าได้จากการหมั่นเรียนรู้และท่องจำเอาไว้กระมัง ?” จื่อก้งตอบในทันทีว่า “ครับ หรือว่าไม่ใช่ ?” ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่ใช่เลย หากแต่ข้าจะใช้เพียงหนึ่งมาครอบคลุมทุกสิ่งต่างหาก”
หนึ่งหรือเต้าเป็นสิ่งที่สุดวิเศษ เป็นต้นสายแห่งสติปัญญา เป็นต้นธารแห่งมวลชีวิต เป็นสิ่งที่เหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายล้วนใฝ่ฝันแสวงให้ได้มา ดังนั้นขงจื่อจึงเคยกล่าวว่า “เช้าได้สดับรู้ซึ่งเต้า แม้นเย็นตายก็ไม่เสียดาย”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา