16 ส.ค. 2019 เวลา 02:14
ขงจื่อ
ตอนที่ 20
สูญเสียศิษย์รัก
ขงจื่อได้ประสบกับอุปสรรคขวากหนามในชีวิตมามากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคใดก็หาอาจสั่นสะเทือนจิตใจของท่านไม่ หากแต่มีอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ทำให้ท่านโทมนัสเสียใจปานฟ้าจะถล่มทลาย นั่นก็คือเมื่อตอนที่ท่านอายุ 70 ปี เหยียนหุยซึ่งเป็นศิษย์รักของท่านได้เสียชีวิต ขณะนั้นเหยียนหุยมีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น
เหยียนหุยเป็นศิษย์ที่ขงจื่อรักและโปรดปรานมากเป็นที่สุด เพราะท่านวาดหวังที่จะให้เหยียนหุยทำหน้าที่สืบทอดสัจธรรมที่ท่านได้รู้แจ้งให้คงอยู่สืบต่อไป แต่น่าเสียดายที่เหยียนหุยกลับต้องมาด่วนจากท่านไปก่อนวัยอันควร เรื่องนี้ได้สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับขงจื่อจนถึงขนาดอุทานอย่างคนพร่ำเพ้อว่า “โอ ! สวรรค์ทำลายข้า ! สวรรค์ทำลายข้า !”
การจากไปของเหยียนหุยได้ทำให้ท่านเศร้าสลดจนไม่เป็นอันกินอันนอน ร่างกายท่านผ่ายผอมไร้ชีวิตชีวา ความทุกข์ระทมตรอมตรมยังคงฝังลึกอยู่ในหัวใจ จนเหล่าศิษย์ที่ปรนนิบัติอยู่เคียงข้างต่างรู้สึกเป็นห่วงท่านยิ่งนัก หลาย ๆ คนต่างพยายามเกลี้ยกล่อมให้ท่านระงับโศกว่า “ท่านอาจารย์ ท่านเศร้าโศกเกินไปเสียแล้ว !” แต่ขงจื่อก็กล่าวขึ้นพร้อมทั้งน้ำตาว่า “ข้าเศร้าโศกเกินไปอย่างนั้นหรือ ? หากข้าไม่เสียใจให้กับคน ๆ นี้ แล้วจะให้ข้าเสียใจให้กับใครได้อีก ?”
เหตุใดขงจื่อจึงเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของเหยียนหุยมากถึงเพียงนี้ นั่นก็เพราะเหยียนหุยเป็นศิษย์ที่มีความวิริยะพากเพียร รู้จักนำพาในทุกคำสอนของอาจารย์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ขงจื่อเคยกล่าวชมความวิริยาของเหยียนหุยดังนี้ว่า “ข้าเคยเห็นแต่เขารุดหน้า ไม่เคยเห็นเขาถอยหลังแต่อย่างใด”
ทั้งนี้ เหยียนหุยยังเป็นคนที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาอันชาญฉลาด มีคุณธรรมอันดีเลิศ แต่ความดีเลิศในจริยวัตรของเหยียนหุยอาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่สุดประเสริฐ สิ่งที่สุดประเสริฐและยากแก่การที่ใคร ๆ จะสามารถเอาอย่างได้นั้น ก็คือการเก็บงำความดีเลิศของท่านไว้จนกระทั่งคนทั่วไปมิอาจมองเห็นได้ต่างหาก
สำหรับจุดนี้ ขงจื่อได้เคยกล่าวพรรณนาเหยียนหุยว่าเป็นคนทึมทึบ แต่ภายหลังท่านก็ยังพูดแก้ไขอีกแบบหนึ่งว่า “ข้าเจรจาด้วยเหยียนหุยตลอดทั้งวัน เขาไม่เคยซักค้านจนเสมือนหนึ่งผู้โง่เขลา แต่เมื่อข้าเฝ้าสังเกตดูหลังจากเขาจากไป เขาล้วนสามารถปฏิบัติความรู้นั้นออกมาได้อย่างหมดสิ้น เหยียนหุยคนนี้ แท้ไม่โง่เลย” ดังนั้น ความวิเศษแห่งอริยะหาใช่ความเป็นอริยะไม่ หากแต่คือการซ่อนงำความเป็นอริยะจนไม่เป็นที่สังเกตต่างหากจึงจะเป็นอริยะที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
เหยียนหุยเป็นคนที่มีสติปัญญาความสามารถไม่ด้อยไปกว่าขงจื่อเลย ความจริงท่านมีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในวงราชการอยู่หลายครั้ง แต่ท่านก็ยังยินดีที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่ละโมบ ไม่เพ้อฝัน ประคับประคองจิตใจให้คงอยู่บนเส้นทางแห่งเมตตาธรรมตลอดเวลา ขงจื่อเคยกล่าวชมเหยียนหุยในจุดนี้ว่า “อันสุเมธชนนั้น เหยียนหุยท่านนี้เองแล เพียงหนึ่งถ้วยข้าว หนึ่งกระบวยน้ำ พำนักในตรอกโทรม คนอื่นมิอาจทนอยู่ได้ หากเหยียนหุยยังสุขสำราญมิเคยเปลี่ยน อันสุเมธชนนั้น เหยียนหุยท่านนี้เองแล”
ในตลอดชีวิตของขงจื่อ เราไม่ค่อยจะได้เห็นท่านชมใครง่าย ๆ ว่ามีเมตตาธรรมเลย แต่สำหรับเหยียนหุยแล้ว ท่านเคยกล่าวชื่นชมเหยียนหุยว่ามีเมตตาธรรมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพราะเหยียนหุยมีคุณธรรมอันน่ายกย่องอยู่หลายประการนั่นเอง ขงจื่อกล่าวชมเหยียนหุยว่า “อันจิตใจของเหยียนหุย สามเดือนจะมิขัดต่อเมตตาธรรม ส่วนคนอื่นนั้น ทำได้ก็เพียงแค่วันหรือเดือนเท่านั้น” ทั้งยังกล่าวอีกว่า “อันเหยียนหุยนั้น ไม่ผิดซ้ำสอง ไม่พาลอารมณ์”
ก็ด้วยเพราะเหยียนหุยมีจิตใจอันงดงามและมีคุณธรรมอันบริสุทธิ์เช่นนี้นี่เอง ขงจื่อจึงตั้งความหวังให้เหยียนหุยได้สืบทอดสัจธรรมต่อจากท่าน และจึงไม่แปลกเลยที่ขงจื่อจะรู้สึกเศร้าโศกกับการจากไปของเหยียนหุยถึงเพียงนี้
หลังจากเหยียนหุยได้ถึงแก่กรรมแล้ว มีผู้ใหญ่หลายคนที่สนใจใคร่รู้ว่าศิษย์ของขงจื่อคนไหนที่มีความวิริยะใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด อย่างเช่นเจ้าผู้ครองแคว้นหลู่คือหลู่ไอกงก็ทรงเคยถามคำถามนี้ ซึ่งขงจื่อได้กราบทูลว่า “เหยียนหุยใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด ด้วยเป็นคนไม่พาลอารมณ์ ไม่ผิดซ้ำสอง แต่น่าเสียดายที่เขาอายุสั้นวายปราณไปเสียแล้ว ปัจจุบันก็หามีใครเยี่ยงเหยียนหุยได้อีกไม่ แลข้าก็มิเคยได้ยินว่ามีผู้ใฝ่ศึกษาอีกเลย”
หรืออย่างเช่นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในแคว้นหลู่ที่มีนามว่าจี้คังจื่อก็เคยถามเช่นกันว่า “ในบรรดาศิษย์ของท่าน ใครที่ใฝ่ศึกษามากที่สุด” ขงจื่อตอบว่า “มีเพียงเหยียนหุยที่ใฝ่ศึกษามากที่สุด แต่โชคร้ายที่เขาตายก่อนวัยอันควร และบัดนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา