Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2019 เวลา 10:19 • การศึกษา
“เจ้าหนี้ใส่จำนวนเงินในสัญญากู้สูงเกินความเป็นจริง สัญญากู้ยังคงใช้ได้หรือไม่ ?”
วันนี้จะขอเขียนถึงเรื่องการกู้ยืมเงินอีกซักครั้ง เพราะเรื่องนี้ไม่ว่าแอดมินจะเขียนบทความนำเสนอถึงปัญหา และเหตุการณ์ประหลาด ๆ เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินไปบ่อยแค่ไหน ก็ยังคงไม่พ้นที่จะมีเคสแปลก ๆ ออกมาให้แอดมินได้เขียนถึงเสมอ
Cr. pixabay
เช่น กู้ยืมเงินกันแต่ไม่ทำสัญญา ไม่ยอมลงชื่อคนกู้ หรือแม้แต่มีสัญญากู้ยืมครบถ้วนแต่ดันไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ทำให้ศาลต้องยกฟ้อง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมาให้เห็นมาโดยตลอด
สำหรับตัวอย่างที่แอดมินจะเขียนถึงในวันนี้ เจ้าหนี้กับลูกนี้ได้ทำการกู้ยืมเงินกันไปจริง แต่เจ้าหนี้ตัวดีดันมือบอน (หมายถึง อาการที่มืออยู่ไม่สุข) ไปเติมข้อความจำนวนเงินในสัญญากู้ให้มากกว่าความเป็นจริง แล้วนำสัญญากู้มาฟ้องเรียกร้องเงินจากลูกหนี้
1
เราลองมาดูกันว่าศาลท่านจะพิจารณาออกมายังไง จากตัวอย่างนี้กันครับ
นายอ๊อด หนุ่มหน้ามนคนชอบซิ่ง อาชีพอะไรที่ทำให้ได้ขี่มอเตอร์ไซค์ตามท้องถนน นายอ๊อดรับทำหมดไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แมสเซนเจอร์ แกร็บบ๊อง อูบ้า หรืออื่น ๆ ที่ทำได้
1
Cr. pixabay
วัน ๆ หนึ่งนายอ๊อดทำหลายอาชีพมาก เงินทองที่ได้มาก็นำมาส่งเสียให้ลูก ๆ ได้เรียนหนังสือ และเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านจนหมด ขนาดนายอ๊อดไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีสังคม ก็ยังไม่มีเงินเก็บ เพราะค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว
จนมาวันหนึ่ง รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจของนายอ๊อดเกิดเกเรไม่สามารถขี่ได้ จึงได้พาไปเข้าศูนย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจเช็คและประเมินราคา ซึ่งเมื่อประเมินราคาออกมาแล้วคิดค่าซ่อมเป็นเงิน 20,000 บาท
Cr. pixabay
นายอ๊อดเห็นค่าซ่อมแล้วจะเป็นลม อิหยังถึงแพงจั่งซี้ แต่จะไม่ซ่อมก็ไม่ได้ จะพาไปซ่อมอู่นอกก็ไม่ไว้ใจตามประสาคนรักรถ จึงตกลงซ่อมแซมกับที่ศูนย์ดังกล่าว
รถก็ต้องซ่อม เงินเก็บก็ไม่มี หนทางเดียวที่พอมีก็คือต้องไปยืมชาวบ้านเค้า นายอ๊อดจึงตัดสินใจไปขอยืมเงินเสี่ยแคระ เป็นเงินจำนวน 20,000 บาทเพื่อจะนำไปจ่ายค่าซ่อมรถ
แต่เสี่ยก็คือเสี่ย นี่ปล่อยเงินกู้ไม่ใช่การกุศล เสี่ยแคระจึงให้นายอ๊อดนำเล่มทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์มาเก็บไว้กับเสี่ยเพื่อเป็นประกันการคืนเงิน และให้นายอ๊อดลงลายมือชื่อในสัญญากู้เปล่าทิ้งไว้
1
Cr. pixabay
นายอ๊อดไม่มีทางเลือกจึงยินยอมทำตามที่เสี่ยแคระบอกทุกอย่าง เมื่อได้เงินไปแล้วจึงรีบเอาไปจ่ายค่าซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ และชีวิตก็ดำเนินต่อไปตามปกติ
จนมาวันหนึ่งมีหมายศาลพร้อมคำฟ้องมาติดไว้ที่หน้าบ้านของนายอ๊อด หยิบมาดูจึงพบว่าตนถูกเสี่ยแคระฟ้องต่อศาลให้คืนเงินที่กู้ยืมไปจำนวน 6,040,000 บาท (ช็อคแป๊บ !!!)
และเมื่อเปิดมาดูที่คำฟ้องที่แนบมาด้วยพบว่าสัญญากู้ยืมเอกสารท้ายฟ้องมีลายมือชื่อของตนอยู่จริง แต่ยอดเงินนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง
นายอ๊อดจึงนำเรื่องมาปรึกษาทนายความอาสาเพื่อหาทางออก โดยทนายความอาสาตกลงช่วยเหลือนายอ๊อดโดยจะทำคำให้การต่อสู้คดีให้
Cr. pixabay
การต่อสู้คดีก็ดำเนินต่อไปตามกระบวนการพิจารณาของศาล และคำตัดสินก็ออกมาว่า...
“จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 20,000 บาท และมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ของจำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน โดยจำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ของสัญญากู้เงินพิพาท
การที่โจทก์กรอกข้อความลงไปในสัญญากู้เงินพิพาทว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 6,040,000 บาท จึงเป็นการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น
สัญญากู้เงินพิพาทจึงเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่อาจอ้างอิงแสวงสิทธิจากเอกสารปลอมได้ การกู้ยืมเงินรายพิพาทจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง”
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2560/2559)
Cr. pixabay
📌 สรุป สัญญากู้ยืมเงินถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ การที่เสี่ยแคระกรอกข้อความลงในเอกสารซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยมีเจตนาเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดความเสียหายแก่นายอ๊อด ถือว่าเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารปลอมตามกฎหมายอาญา และต้องถือว่าเอกสารสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม
เมื่อเป็นเอกสารปลอม สัญญากู้เงินนั้นก็ไม่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อการฟ้องให้คืนเงินไม่มีสัญญากู้ยืมเป็นหลักฐาน ศาลจึงต้องยกฟ้องในที่สุด
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
13 บันทึก
111
38
20
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
13
111
38
20
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย