Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
21 ส.ค. 2019 เวลา 09:26 • การศึกษา
“ทวงหนี้ทางโทรศัพท์โดยพูดว่า ทุเรศตอแหล หน้าด้าน เป็นหนี้แล้วไม่ใช้ สามารถทำได้หรือไม่ ?”
1
วันนี้แอดมินมีอุทาหรณ์เกี่ยวกับเรื่องการทวงหนี้มาฝาก แต่ขอออกตัวก่อนนะครับ ว่าแอดมินไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
Cr. pixabay
สำหรับคนที่เป็นลูกหนี้เมื่อยืมเงินเขามาก็ต้องรีบหามาคืนให้ได้ตามกำหนด จะได้ไม่เสียน้ำใจกันและจะได้ไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์สิน เสียทั้งเงินทอง เสียทั้งเวลา
ส่วนคนที่เป็นเจ้าหนี้ อันนี้น่าเห็นใจ ตัวเองเป็นฝ่ายให้ยืมเงินแท้ ๆ แต่กลับต้องมาขอร้องอ้อนวอนให้ลูกหนี้คืนเงินซะอย่างงั้น พอจะไปทวงถามก็มีกติกากำหนดมากมาย ห้ามโน่นนี่นั่นเต็มไปหมด
แอดมินขอยกตัวอย่างข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้ซักเล็กน้อยพอให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่ามีข้อห้ามยิบย่อยแค่ไหน
จากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ฯ...
“ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้
การติดต่อกับบุคคลอื่นจะทำได้เฉพาะการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น
ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลดังกล่าวได้สอบถามถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็น และตามความเหมาะสม” และ
“ห้ามผู้ทวงถามหนี้ ทวงถามหนี้ในลักษณะ ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือบุคคลอื่น”
“ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นดูหมิ่นลูกหนี้ หรือผู้อื่น”
Cr. pixabay
นี่เป็นส่วนเล็กน้อยที่แอดมินยกขึ้นมาให้ผู้อ่านได้เห็นภาพว่า ปัจจุบันมีกฎหมายออกมาคุ้มครองลูกหนี้มากมาย ซึ่งพอเข้าใจได้เพราะว่าที่ผ่านมาการทวงหนี้ของเจ้าหนี้โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่มักจะใช้วิธีการที่ค่อนข้างรุนแรง และละเมิดต่อสิทธิของลูกหนี้ จึงทำให้ต้องมีกฎหมายออกมาควบคุมการทวงหนี้ดังกล่าว
ทีนี้ เมื่อมีกติกาวางกฎเกณฑ์ไว้แล้ว หากไม่ทำตามก็คงจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ดังเช่นเจ้าหนี้ตามตัวอย่างนี้
(คดีนี้ได้เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ จะประกาศใช้ แต่ก็เป็นความผิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องละเมิด และฝ่าฝืนแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อห้ามต่าง ๆ ใกล้เคียงกับ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ฯ)
เรื่องนี้ เจ้าหนี้ได้ว่าจ้างบริษัททวงถามหนี้เพื่อติดตามทวงถามหนี้ให้ โดยลูกจ้างของบริษัททวงถามหนี้เป็นคนโทรไปทวงถาม
แต่แทนที่จะโทรไปทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรง “กลับโทรไปทวงหนี้กับเพื่อนร่วมงานของลูกหนี้”
และใช้ถ้อยคำหยาบคายว่า “ทุเรศ ตอแหล หน้าด้าน เป็นหนี้แล้วไม่ใช้ แน่จริงก็ออกมาเจอกันสิ ถ้าไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะมาประจานให้รู้ทั้งโรงเรียนทั้งสองสาขาเลย เงินเดือนแค่นี้ไม่มีทางใช้หนี้ได้หรอก ให้เตรียมตัวถูกเฉดหัวออกจากโรงเรียนได้แล้ว ทุเรศ”
Cr. pixabay
หลังจากนั้น ลูกหนี้ก็ได้ลาออกจากงาน และได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคดีนี้ศาลจะตัดสินออกมาเช่นไร เรามาดูกันครับ
“จำเลยที่ 1 (คนทวงหนี้) เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 (บริษัทรับจ้างทวงหนี้) ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากจำเลยที่ 4 (เจ้าหนี้) ในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้
จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาทวงหนี้โจทก์และแจ้งเรื่องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นในโรงเรียนทราบ อันไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 420
การที่จำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์อันเป็นกิจการที่จำเลยที่ 3 นายจ้างมอบให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างไปกระทำในทางการที่จ้าง
จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าเหตุละเมิดเกิดเพราะจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคู่มือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 3 อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่
เมื่อจำเลยที่ 1 ทวงหนี้โจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
Cr. pixabay
ส่วนจำเลยที่ 4 แม้สัญญาบริการเป็นสัญญาจ้างทำของแต่สัญญาบริการดังกล่าวมีข้อตกลงในลักษณะจำเลยที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ไปติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 แทนจำเลยที่ 4
โดยจำเลยที่ 3 ได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 เป็นการตอบแทน จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 จึงมีนิติสัมพันธ์กันในลักษณะจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยายโดยมีบำเหน็จในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 อยู่ด้วย
เมื่อจำเลยที่ 3 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปติดตามทวงถามหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 โดยปริยายในส่วนที่เกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 เช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง
และแม้สัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มีข้อตกลงห้ามมิให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ทวงถามหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 4 โดยวิธีการที่ผิดกฎหมายประการใดก็ตาม ก็ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกา 6543/2561)
Cr. pixabay
📌สรุป คำพิพากษาเรื่องนี้ได้บอกไว้ชัดเจนว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะมีผล
อย่างไรบ้าง
และแม้เจ้าหนี้ กับบริษัททวงถามหนี้จะมีกฎ ระเบียบภายในกำหนดไว้ชัดเจน ว่าห้ามทวงหนี้โดยใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่เมื่อลูกจ้างของบริษัทได้ฝ่าฝืนข้อตกลงดังกล่าว บริษัททวงถามหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะนายจ้าง ส่วนเจ้าหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นตัวแทนเช่นกัน
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
5 บันทึก
98
57
21
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
5
98
57
21
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย