20 ส.ค. 2019 เวลา 11:05 • การศึกษา
“ทำสัญญากู้เงินหรือค้ำประกันโดยปิดบังว่าล้มละลาย อาจติดคุกฐานฉ้อโกงได้ ?”
บทความที่แอดมินจะเขียนถึงวันนี้เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาในข้อหาฉ้อโกง
Cr. pixabay
ซึ่งในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้ชัดแจ้ง และการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากผู้เสียหาย หรือบุคคลอื่น...
แล้วความผิดฐานฉ้อโกงมันจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการล้มละลายยังไงนั้น ก่อนอื่น แอดมินขอปูพื้นให้คนที่ยังไม่เคยรู้เรื่องล้มละลายก่อน เอาแบบง่าย ๆ สั้น ๆ เลย
อย่างแรกใครบ้างที่มีสิทธิถูกฟ้องล้มละลาย
คนที่มีสิทธิถูกฟ้องล้มละลายคือ คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว (มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน) และเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาท หรือเป็นนิติบุคคลที่มีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระหรือยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ได้แต่ต้องมีจำนวนที่แน่นอน
และเมื่อตกเป็น “บุคคลล้มละลาย” แล้วจะเสียสิทธิอะไรบ้าง ? อันนี้ ยกตัวอย่างคร่าว ๆ ก็เช่น ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ เช่น การกู้ยืมเงิน เปิดบัญชี ฝาก โอน ถอน ฯลฯ , ไม่สามารถรับราชการได้ ถ้ารับอยู่ก็ต้องออกจากราชการ , ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้
Cr. pixabay
เรื่องล้มละลายเอาไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะออกทะเลไปไกล...
ทีนี้ อย่างที่ติดไว้ตอนต้นว่าความผิดฐานฉ้อโกงมันไปเกี่ยวข้องกับคนล้มละลายยังไง ?
ถ้าหากอ่านมาถึงตอนนี้แล้วก็คงเดาไม่ยากใช่มั้ยครับว่า เมื่อบุคคลใดตกเป็นคนล้มละลายแล้ว คนนั้นจะถูกห้ามไม่ให้ทำนิติกรรมใด ๆ สาเหตุเพราะกฎหมายกำหนดให้อำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คือ หากใครมีอะไรเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ก็จะต้องติดต่อผ่านทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นี่แหละ
ดังนั้น หากใครเผลอไปทำนิติกรรมกับบุคคลล้มละลาย เช่น ให้บุคคลล้มละลายกู้ยืมเงิน สัญญากู้ยืมนั้นต้องถือว่าเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย และหากนำคดีไปฟ้องลูกหนี้ศาลก็จะต้องพิพากษายกฟ้อง
Cr. pixabay
แล้วถ้าที่คนล้มละลายไปขอกู้ยืมเงินโดยไม่ยอมบอกเจ้าหนี้ว่าตนเองเป็นบุคคลล้มละลายล่ะ ผลจะเป็นยังไง ลองมาดูตัวอย่างนี้กันครับ
นายขนมถ้วย ได้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย และศาลได้มีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้วอำนาจจัดการทรัพย์สินของนายขนมถ้วยจึงตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามผลของกฎหมาย
แต่คนเคยมีเงินทองใช้สอยไม่ขาดมือ อยู่ ๆ ก็ถูกห้ามโน่นนี่นั่น ใครมันจะไปทนไหว จึงวางแผนกับนายขนมชั้นเพื่อนสนิท โดยจะแกล้งไปยืมเงินนายทองหยอด และให้นายขนมชั้นเป็นคนค้ำประกันให้
นายทอดหยอดไม่รู้เรื่องที่นายขนมถ้วยเป็นคนล้มละลาย โดยนายขนมถ้วยกับนายขนมชั้นช่วยกันปิดบังความจริงเรื่องนี้ไว้ จึงได้ให้เงินนายขนมถ้วยไป จำนวน 200,000 บาท
Cr. pixabay
ต่อมา เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายทองหยอดจึงไปทวงถามให้นายขนมถ้วยใช้หนี้ แต่นายขนมถ้วยปฏิเสธ ทองหยอดจึงได้ฟ้องนายขนมถ้วย และขนมชั้นเป็นจำเลย เพื่อให้คืนเงินที่ยืมไป
ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากนายขนมถ้วยเป็นบุคคลล้มละลาย สัญญากู้ยืมเงินต้องห้ามตามกฎหมาย เป็นโมฆะ
หลังจากทราบว่านายขนมถ้วยเป็นคนล้มละลาย นายทองหยอดจึงรีบไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับนายขนมถ้วยและขนมชั้นในข้อหาฉ้อโกง และฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีอาญา
ซึ่งเรื่องนี้ ศาลท่านมีคำพิพากษาออกมาว่า
"แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม
แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด
ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น
ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้
จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย
ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป
การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง"
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 1334/2555)
งานนี้แค่ล้มละลายอย่างเดียวพี่ขนมถ้วยคงไม่สะใจพอ เลยอยากติดคุกด้วยซะงั้น
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา