27 ส.ค. 2019 เวลา 13:59 • การศึกษา
“มีชื่อถือกรรมสิทธิ์คอนโดแทนชาวต่างชาติ แต่กลับไปแจ้งเท็จว่าโฉนดหายเพื่อขอออกฉบับใหม่และนำไปขาย จะเป็นความผิดฐานใด ?”
แม้ปัจจุบัน กฎหมายจะได้เปิดช่องให้ชาวต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดหรือคอนโดได้แล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นเจ้าของได้ หากมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
Cr. pixabay
ดังนั้น สำหรับคนต่างชาติที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน แต่อยากมีกรรมสิทธิ์ในคอนโดหรือห้องชุดเป็นของตนเอง สิ่งที่มักจะทำกันสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การให้คนไทยเป็น นอมินี (ถือกรรมสิทธิ์แทนตนเอง) โดยทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนไว้
ทีนี้ การจะแต่งตั้งใครซักคนหนึ่งให้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุด หรือคอนโดแทนนั้น โดยส่วนใหญ่ก็จะเลือกคนที่ไว้วางใจ เพื่อการันตีว่าในอนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือหักหลังกันเกิดขึ้น
แต่ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว จิตใจช่างยากแท้หยั่งถึง แม้จะรู้จักกันมาเป็นเวลานานแต่เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว การหักหลังก็อาจเกิดขึ้นได้หากจิตใจของคน ๆ นั้นไม่มั่นคงพอ
เราลองมาดูตัวอย่างนี้กันครับ
นายอาเดบายอ กับภรรยา คู่สามีภรรยาชาวคองโก ได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทย ไป ๆ มา ๆ ชักเกิดติดใจในรสชาติอาหารไทย สภาพอากาศ และความเป็นมิตรของคนไทย
Cr. pixabay
จึงมีความคิดอยากจะเป็นเจ้าของคอนโดหรือห้องชุดซักที่ เผื่อมีโอกาสได้มาเที่ยวเมืองไทยอีก จะได้มีที่พักเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปเช่าโรงแรมนอนอีก
แต่ด้วยคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้นายอาเดบายอ ไม่สามารถซื้อคอนโด หรือห้องชุดในเมืองไทยได้ จึงคิดจะหาตัวแทนคนไทยเพื่อเป็นนอมินี ถือกรรมสิทธิ์ในคอนโดแทนตนเองซะเลย
นายสมคิด รู้ว่านายอาเดบายอต้องการซื้อคอนโด จึงเสนอตัวเองเพื่อเป็นนอมินีให้
โดยทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนไว้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
Pixabay
เมื่อทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนแล้ว นายอาเดบายอ จึงตัดสินใจซื้อคอนโดห้องหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยให้นายสมคิดเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่ตนเองเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดไว้ ส่วนการเก็บรักษากุญแจ ชำระค่าน้ำ ค่าไฟได้มอบหมายให้นายสมคิดดำเนินการแทน
เวลาผ่านได้ไปหลายปี นับแต่วันที่ซื้อคอนโด นายอาเดบายอและครอบครัวก็ได้มาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้ง และทุกครั้งที่มาก็จะพักอาศัยที่คอนโดดังกล่าว จนกระทั่ง นายอาเดบายอได้เสียชีวิตลง ครอบครัวของนายอาเดบายอจึงไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย
จนกระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนภรรยานายอาเดบายอได้มาเที่ยวเมืองไทย และได้เข้าพักในคอนโดดังกล่าว แต่เมื่อไปถึงกลับไม่สามารถใช้กุญแจไขเข้าไปในห้องได้ จึงได้มาแจ้งให้ภรรยานายอาเดบายอทราบ
Cr. pixabay
เมื่อสืบไปสืบมาความเลยแตก คอนโดได้ถูกขายเปลี่ยนมือเป็นของคนอื่นไปแล้ว โดยนายสมคิดตัวดีแอบไปแจ้งว่าโฉนดหายและขอออกโฉนดใหม่แล้วนำไปขายให้คนอื่น
ภรรยานายอาเดบายอจึงได้แต่งตั้งตัวแทนเพื่อแจ้งความนายสมคิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคดีอาญา ซึ่งศาลจะตัดสินออกมายังไง เราไปดูกันครับ
นายอาเดบายอ (ต่อไปเรียก อ.) และโจทก์ร่วม (ภรรยา) เป็นสามีภริยาตามกฎหมาย อ. ซื้อห้องชุด แต่ให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน โดยจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจและชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า อันเป็นการกระทำแทน อ. ชั่วครั้งชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมาย กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงยังอยู่ที่ อ. และโจทก์ร่วม
การที่จำเลยแจ้งเท็จว่าหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดฉบับเดิมสูญหายเพื่อขอออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ เปลี่ยนกุญแจและเข้าครอบครองห้องชุดและทรัพย์ต่าง ๆ ในห้องชุดแล้วนำไปขายแก่บุคคลอื่นโดย อ. และโจทก์ร่วมไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดของ อ. และโจทก์ร่วมโดยใช้อุบายแย่งการครอบครอง
ต่อมาเมื่อจำเลยนำห้องชุดของโจทก์ร่วมไปขาย เงินที่ได้จากการขายห้องชุดเป็นผลสืบเนื่องจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองของจำเลย เพราะ อ. หรือโจทก์ร่วมไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 4096/2557)
📌 สรุป เรื่องนี้ศาลท่านมองว่าเงินที่ได้มาจากการขายคอนโดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแย่งกรรมสิทธิ์และการครอบครองคอนโดของนายอาเดบายอ เมื่อนายสมคิดได้เอาเงินนั้นไปโดยทุจริต นายสมคิดจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา