15 ต.ค. 2019 เวลา 12:54 • การศึกษา
“คดีอาญายอมความได้จริงหรือไม่ ?”
ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “ยอมความ” กันมาบ้างใช่มั้ยครับ คำว่ายอมความเรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือสัญญาในทางแพ่ง
1
pixabay
เช่น ลูกหนี้ยินยอมผ่อนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้ยอมลดหนี้ให้บางส่วน เป็นต้น
ซึ่งในทางแพ่ง เราเรียกว่า “ประนีประนอมยอมความ”
ส่วนการยอมความในคดีอาญานั้น เราอาจเคยได้ยินกันมาบ้างตามข่าวต่าง ๆ เช่น นาย ก. หลอกลวงนางสาว ข. ว่าเป็นนักธุรกิจชั้นนำและชักชวนให้มาร่วมลงทุนด้วย สุดท้ายพอได้เงินแล้วนาย ก. ก็เชิดเงินหนีไป
ต่อมาตำรวจตามจับนาย ก. ได้ แต่นางสาว ข. ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รับเงินคืนครบทุกบาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนาย ก.
อีกต่อไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ดำเนินคดีและปล่อยตัว นาย ก. ไป
เคยสงสัยกันมั้ยครับ ว่าการยอมความในคดีอาญานั้น เค้าสามารถยอมความกันได้ง่าย ๆ ทุกคดีเลยรึเปล่า ?
สมมติว่าฆ่าคนตายมา หากยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับญาติผู้ตายแล้วจะขอให้ยอมความได้หรือไม่ ?
ก่อนอื่นผมขออธิบายก่อนว่า ในคดีอาญานั้นจะไม่เหมือนกับคดีแพ่งซะทีเดียว เพราะนอกจากความเสียหายด้านทรัพย์สินแล้ว
ในคดีอาญายังมีความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพอีกด้วย
1
ดังนั้น จึงมีเพียงคดีอาญา “บางประเภท” เท่านั้น ที่คู่กรณีสามารถยอมความกันได้ตามกฎหมาย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเป็นบางเรื่องพอให้เห็นภาพ เช่น
- ความผิดฐานหมิ่นประมาท
- ความผิดฐานฉ้อโกง (ยกเว้นการฉ้อโกงประชาชน)
- ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
- ความผิดฐานยักยอกทรัพย์
- ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
- ความผิดฐานบุกรุก (ยกเว้นมีผู้ร่วมบุกรุกหลายคน ใช้กำลังหรืออาวุธ หรือบุกรุกในเวลากลางคืน) เป็นต้น
ความผิดเหล่านี้ ภาษากฎหมายเราเรียกว่า “ความผิดอันยอมความได้” หรือ “ความผิดต่อส่วนตัว” (สำหรับบทความนี้ผมขอใช้คำว่าความผิดต่อส่วนตัว)
โดยความผิดต่อส่วนตัวนี้ ผู้เสียหายสามารถยอมความ ไม่เอาผิดแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ โดยแสดงเจตนาให้ชัดแจ้งว่าไม่ติดใจเอาความกับผู้เสียหายหรือจำเลยอีกต่อไป
ซึ่งการแสดงเจตนายอมความนี้ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือหรือเอกสารสัญญา แต่ทางที่ดีก็ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนไปเลยจะดีกว่า
การยอมความที่มีเงื่อนไขให้ต้องกระทำก่อนจึงจะถือว่าไม่ติดใจเอาความ เช่น ตกลงกันว่าหากจำเลยคืนเงินที่ยักยอกไปแก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ หรือ
ผู้เสียหายตกลงว่าไม่ประสงค์ที่ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องออกไปจากที่ดินของผู้เสียหายภายใน 2 เดือน
กรณีแบบนี้ไม่ถือว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถ้าหากไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้วการยอมความก็ยังคงไม่เกิดขึ้น จึงต้องถือว่ายังไม่มีการยอมความกันนั่นเอง
การยอมความที่ถูกต้องตามกฎหมายจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลุดพ้นจากความผิดในข้อหาที่ได้ยอมความ ส่วนผู้เสียหายหรือพนักงานอัยการจะไม่สามารถฟ้องคดีในข้อหาที่ยอมความได้อีก
ลักษณะพิเศษของความผิดต่อส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เสียหายจะต้องระมัดระวังให้ดีก็คือ ในความผิดต่อส่วนตัวนั้น ผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีต่อศาลภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
1
เพราะถ้าหากไม่ร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด "คดีเป็นอันขาดอายุความ"
สำหรับความผิดอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับความผิดต่อส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า “ความผิดอาญาแผ่นดิน” นั้น
ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจะถือว่า
“รัฐเป็นผู้เสียหาย” จึงไม่อาจยอมความได้แม้ผู้ที่ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความก็ตาม
เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น / ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ / ชิงทรัพย์ / หรือแม้แต่ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ซึ่งความผิดเหล่านี้ แม้ว่าผู้เสียหายหรือครอบครัวจะได้รับการเยียวยาจากผู้กระทำผิด ก็ไม่สามารถนำเหตุผลดังกล่าวมาอ้างเพื่อยอมความกันได้
แต่ศาลอาจนำเรื่องการเยียวยาเหล่านั้นมาพิจารณาเพื่อลดหย่อนโทษให้เบาลงได้ครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา