23 ส.ค. 2019 เวลา 04:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
* 4 เรื่องที่ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่ากำลังเกิดกับขั้วโลกเหนือตอนนี้
มีรายงานเหตุการณ์ผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นที่ขั้วโลกเหนืออันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงสภาพภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่น้ำแข็งนี้อีกด้วย
อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1880 สาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น ขั้วโลกเหนือเป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบมานานและมากกว่าที่ใดๆบนโลก จนพบเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ
1. หมีขั้วโลกอดอยาก เดินหาอาหารไกลถึงรัสเซีย
ชาวเมือง Norilsk เมืองอุตสาหกรรมเล็กๆที่อยู่ทางตอนเหนือของรัสเซียพบหมีขั้วโลกนอนอย่างอ่อนแรงเป็นเวลานาน หลังจากนั้นมันลุกขึ้นเดินอย่างเชื่องช้า ไม่มีสัญญาณความดุร้ายข้ามถนนไปยังกองขยะแล้วคุ้ยหาของกิน
หมีตัวนี้เดินทางไกลจากทะเลอาร์กติกแถบขั้วโลก ผ่านคาบสมุทร Taymyr Peninsula เพื่อเข้าสู่ประเทศรัสเซีย ระยะทางรวมกันทั้งหมดราวๆ 1500 กิโลเมตร
1
Siberian Times
Siberian Times
Siberian Times
นอกจากนี้หมีขั้วโลกยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะไม่มีแผ่นน้ำแข็งทำให้พวกมันต้องว่ายน้ำไกล ไม่สามารถออกล่าเหยื่อตามธรรมชาติในทะเล เช่น แมวน้ำ วอลรัส หรือซากวาฬได้ ต้องติดอยู่ฝั่งแผ่นดินนานขึ้น พวกมันจึงเริ่มหันมากินพืชหรือไข่นกบริเวณหน้าผาซึ่งมีไขมันน้อย ทำให้ขาดไขมันทั้งๆที่ไขมันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของหมีขั้วโลก จนเริ่มมีรูปร่างผอมและไม่สามารถจำศีลในฤดูหนาวได้
Thai PBS
2. ไฟป่าลุกไหม้ในอลาสก้า
เกิดไฟป่าในอลาสก้าเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 100 ปี เนื่องจากฤดูร้อนของอลาสก้าช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 89 องศาฟาเรนไฮต์ หรือราวๆ 31.6 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้
posttoday
อากาศร้อนทำให้หิมะละลายหายไป หญ้าและต้นไม้เล็กๆในภูมิศาสตร์แบบทุนดร้าจึงเหมาะแก่การเป็นเชื้อเพลิงอย่างยิ่ง สาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าในอลาสก้ามาจากฟ้าผ่า งานวิจัยปี 2017 พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำพื้นที่เปราะบางอย่างขั้วโลกเหนืออากาศแปรปรวนเกิดพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดไฟป่ามากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปี 2019 เกิดไฟป่าในอลาสก้ามากกว่า 60 ครั้ง ซึ่งมากกว่าทุกรัฐของอเมริกา
Michael Mann นักวิจัยสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania State กล่าวว่า “ถามว่าผมแปลกใจไหมที่คลื่นความร้อนบริเวณขั้วโลกเหนือส่งผลให้เกิดไฟป่า ผมตอบได้เลยว่า ไม่ เพราะเรื่องนี้มีการคาดการณ์ล่วงหน้ามานานแล้ว แต่ถามว่าผมกังวลไหม คงต้องยอมรับว่า ใช่ ผมกังวล”
3. ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ละลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 70 ปี
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนทำชั้นน้ำแข็งใต้ดินที่แช่งแข็งแผ่นเปลือกโลกแถบขั้วโลกเหนือมาหลายล้านปีละลาย การละลายอย่างรวดเร็วส่งผลให้ไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาสามารถกักเก็บความร้อนในอากาศลักษณะเดียวกับก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิยิ่งสูงขึ้นไปอีก
“ข้อบ่งชี้เหล่านี้กำลังบอกเราว่าอากาศบริเวณขั้วโลกเหนือตอนนี้ร้อนกว่าที่เคยมีมาในรอบ 5000 ปีหรือมากกว่านั้น” กล่าวโดย Vladimir Romanovsky ศาสตราจารย์สาขาภูมิศาสตร์กายภาพประจำมหาวิทยาลัย Alaska Fairbanks
4) คลื่นความร้อน (heatwave) เข้าปะทะที่อยู่อาศัยบริเวณตอนเหนือสุดของโลก
เจ้าหน้าที่ในเขตค่ายทหารทางตอนเหนือของประเทศแคนาดาต้องประสบกับคลื่นความร้อนบริเวณขั้วโลกเหนืออย่างที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน นอกจากนั้น บริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของสถานีตรวจวัดอากาศซึ่งถือว่าตั้งอยู่ในย่านที่พักอาศัยที่อยู่ทางเหนือสุดของโลก
อุณหภูมิสูงที่สุดที่วัดได้ในฤดูร้อนปีนี้คือ 21 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิในเดือนสิงหาคมสูงกว่าที่วัดได้ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นมาถึง 6 องศาเซลเซียส
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสภาวะอากาศทั่วโลก​ เพียงแต่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมเท่านั้น​ เช่นความกดอากาศที่ลดลง​ ส่งผลให้พื้นที่อื่นเกิดฝน​ พายุ​ หรือ​ น้ำแข็งที่ละลายเยอะขึ้นทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยน​ สิ่งเหล่านี้เชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่​ ดังนั้นเหตุการณ์​ที่เกิดขึ้นบริเวณขั้วโลกเหนือหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว​ แต่นี่อาจเป็นภาพจำลองภัยพิบัติขนาดย่อม​ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยาก​ ความร้อน ความแห้งแล้ง​ ความหนาวเย็น​ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้
Reference/อ้างอิง >>
1
Original post/ลิงค์ต้นฉบับ >>
โฆษณา