7 ก.ย. 2019 เวลา 04:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
* อ่าน หรือ ฟัง สมองรับรู้ต่างกันไหม?
ถ้าคุณมีเวลาไม่พอที่จะนั่งอ่านหนังสือสักเล่ม การ 'ฟัง' หนังสือจะช่วยได้หรือไม่?
มีงานวิจัยจาก Gallant Lab มหาวิทยาลัย University of California, Berkeley ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Journal of Neuroscience เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าถ้าข้อมูลมีเนื้อหาเดียวกัน สมองของเราสามารถรับรู้ข้อมูลจากการอ่านและการฟังได้ไม่ต่างกัน
ในการทดลองมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 9 คน ขั้นแรก นักวิจัยให้ฟังพ็อดแคสจากรายการ The Moth Radio Hour รายการยอดนิยมที่มีผู้คนหลากหลายแบบมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงให้ฟัง หลังจากนั้นจึงให้อ่านเรื่องราวเดิมอีกครั้งซึ่งระหว่างกิจกรรมจะมีการสแกนการทำงานของสมองเก็บไว้ จากผลการทดลองพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่านสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองทั้งส่วนการเรียนรู้และส่วนอารมณ์ได้ไม่ต่างกัน
บน : บริเวณสมองที่ถูกกระตุ้นจากการฟัง
ล่าง : บริเวณสมองที่ถูกกระตุ้นจากการอ่าน
Fatma Deniz
”ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าถ้าได้ยินหรืออ่านคำเดียวกัน สมองจะถูกกระตุ้นในบริเวณเดียวกัน แต่รู้แค่บางส่วน เราไม่คิดว่าการสแกนดูทั้งสมองจะให้ผลการทดลองออกมาเหมือนกันขนาดนี้” กล่าวโดย Fatma Deniz หัวหน้านักวิจัย
ย้อนกลับไปในปี 2016 คณะวิจัยจาก Gallant Lab ได้ตีพิมพ์ภาพสแกนการทำงานสมองเป็นครั้งแรก โดยใช้เครื่อง fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ตรวจจับบริเวณสมองที่ถูกกระตุ้นระหว่างฟังเรื่องเล่าจากรายการ The Moth Radio Hour เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมการทดลอง 7 คน
ข้อมูลถูกเก็บเป็นสเกลละเอียด แบ่งการตรวจจับการทำงานของสมองออกเป็นส่วนย่อยถึง 60,000 ส่วน เรียกว่า Voxel (volumetric pixel) เพื่อดูว่าคำพูดต่างๆในเรื่องเล่ากระตุ้นการทำงานของสมองส่วนไหนบ้าง เช่น มีสมองส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นเมื่อผู้ฟังได้ยินคำว่า 'พ่อ' 'ปฏิเสธ' 'แต่งงานใหม่' หรือคำอื่นๆที่มีผลกระทบต่ออารมณ์
ลองเข้าไปคลิกเล่นดูได้นะคะ ข้อมูลถูกประมวลผลและนำเสนอออกมาเป็นโมเดล 3 มิติ สวยมากเลย >>
หรือดูคร่าวๆได้จากวิดีโอของ Nature
แต่ในงานวิจัยล่าสุดนี้ มีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบระหว่างการฟังและการอ่าน พบว่าไม่ว่าจะรับรู้สารโดยการฟังหรือการอ่าน คำคำเดียวกันจะกระตุ้นการทำงานของสมองที่บริเวณเดียวกันด้วยระดับเท่ากัน
สังคมปัจจุบันอาจทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ หลายคนจึงหันมารับข้อมูลข่าวสารผ่านการฟังกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเสียง รายการพ็อดแคส หรือแม้กระทั่งการใช้โปรแกรมอ่านข้อความ Deniz ยังกล่าวอีกว่า ต้องการขยายขอบเขตของงานวิจัยให้กว้างกว่านี้ โดยเปลี่ยนกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ คนที่พูดได้หลายภาษา หรือคนที่มีปัญหาในการอ่าน (dyslexia) เพื่อศึกษาต่อไปว่าสมองของเรามีการรับรู้และประมวลความหมายของคำต่างๆอย่างไร
การศึกษานี้เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการอ่าน อาจจะเป็นผู้พิการทางสายตาหรือเป็นโรคบกพร่องในการอ่านอย่าง dyslexia ทำให้ทราบว่าการฟังสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการอ่าน และอาจช่วยให้หนังสือเสียงมีบทบาทในห้องเรียนมากขึ้น
สำหรับชาวบล็อกดิทหรือ Blockditor ทุกท่านก็สามารถ 'ฟัง' บทความต่างๆในนี้ได้ด้วยนะคะ โดยกดไปที่ ∙∙∙ (จุด 3 จุด) ด้านมุมขวาบนของแต่ละบทความ แล้วเลือก ’Read post’ หรือ ’อ่านโพสต์’ ก็จะมีเสียงผู้หญิงสวยๆอ่านบทความให้ฟัง ถ้าต้องการหยุดก็กดที่ ∙∙∙ ใหม่ แล้วเลือก ’Stop reading’ หรือ ’หยุดอ่าน’ ค่ะ ถึงแม้จะมีติดขัดบ้างแต่ก็ใช้ฟังได้เวลาอ่านจนสายตาล้าค่ะ :)
2
Original study/ลิงค์งานวิจัย >>
DOI: 10.1523/JNEUROSCI.0675-19.2019
Reference/อ้างอิง >>
Original post/ลิงค์ต้นฉบับ >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา