23 ส.ค. 2019 เวลา 09:08 • สุขภาพ
โรคไต คือโรคที่มีความผิดปกติในการทำงานของไต ซึ่งโดยหลักแล้วมีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงมีภาวะคั่งของของเสียในร่างกายและเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมาได้
1
โดยปกติโรคไตจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ ไตวายเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง ซึ่งที่พบบ่อยโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุก็คือโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease, CKD) ผู้ป่วยจะมีลักษณะดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะไตผิดปกตินานติดต่อกันเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอัตรากรองของไต (estimated glomerular filtration rate, eGFR) ผิดปกติหรือไม่ก็ได้ โดยมีความผิดปกติเช่น
- พบอัลบูมินในปัสสาวะ
- พบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- ค่าเกลือแร่ที่เกิดจากท่อไตผิดปกติ
2. ผู้ป่วยที่มี eGFR น้อยกว่า 60 ติดต่อกันเกิน 3 เดือน โดยอาจจะตรวจพบหรือไม่พบว่ามีภาวะไตผิดปกติก็ได้
โดยโรคไตเรื้อรังก็ถูกแบ่งออกได้เป็นหลายระยะ พิจารณาจากค่าอัตราการกรองของไต ถ้ามีค่าน้อยหมายความว่าความสามารถในการกรองของไตลดลง ไตทำงานได้แย่ลง มีตั้งแต่ระยะที่ 1-5 โดยระยะที่ 5 คือไตวายระยะสุดท้าย ต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต
 
ผู้ที่เป็นโรคไตควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการดำเนินไปของโรคเป็นระยะท้ายๆ โดยปกติจะแนะนำให้ตรวจติดตามการทำงานของไตปีละ 1 ครั้ง และตรวจให้ถี่ขึ้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ไตจะทำงานแย่ลง โดยตรวจถี่สุดคือ ทุกๆ 3 เดือน (ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย)
การซื้อยารับประทานเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการรักษาด้วยยาควรมีการปรับขนาดยาตามค่าไตในแต่ละครั้ง การซื้อยากินเองที่ไม่มีการตรวจค่าไตหรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตทำงานแย่ลงได้ รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถคุมความดันได้ด้วยยา โปแตสเซียมในเลือดสูงเรื้อรัง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ควรได้รับการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง
การป้องกันการดำเนินไปของโรคทำได้หลายวิธี วิธีที่สำคัญที่สุดคือ ควบคุมระดับความดัน น้ำตาล และไขมันให้อยู่ในเป้าหมายการรักษา เนื่องจากโรคพวกนี้ส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคไตตามมาได้ รวมถึงงดบุหรี่เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ทางด้านโภชนาการ ผู้ป่วยไตเรื้อรังควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำเพื่อชะลอการเสื่อมของไต หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ที่มีโซเดียมสูง และหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น เห็น หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย ฝรั่ง ทุเรียน
และตรวจติดตามภาวะของโรคอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความรุนแรงและความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไตวายเรื้อรัง เช่น โลหิตจาง มีความผิดปกติของแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือด ภาวะเลือดเป็นกรด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารพิษที่ทำลายไต เช่น ยาแก้ปวด NSAIDs สมุนไพรบางชนิด เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. 2558.
2. Drug & Nephrotoxic associated Kidney Disorders. Worldnephrology.alliedacademies.com.
3. Risk factors. kidney.org.au. 2019.
4. Jeff Dodge. Potassium good for heart, bones and muscles. Colorado State University. 2015.
5. Sodium. nutrientsreview.com. 2018.
โฆษณา