26 ส.ค. 2019 เวลา 23:30 • ประวัติศาสตร์
ในตอนที่แล้วเรารู้จักกับไมเคิลแองเจโลกันไป กับอัจฉริยะด้านประติมากรรม ตอนนี้เราจะพบกับ อีก 2 ด้านที่เหลือของเขากันครับ
-สองอัจฉริยะ ได้ร่วมงานกัน-
ในช่วงต้นปี 1504 ที่ดาวินชี ได้ถูกเชิญมายังฟลอเรนซ์เพื่อเป็นคณะกรรมการตัดสินนั้น นอกจากจะเป็นคณะกรรมการแล้ว ยังถูกวานให้วาดภาพในห้องประชุมของพระราชวังเวคคิโอ และไมเคิลแองเจโลเองก็เช่นกัน ทั้งสองวาดภาพขึ้นมาคนละภาพ โดยภาพของดาวินชี คือ Battle of Anghiara ส่วนของ แองเจโลนั้น คือ Battle of Cascina ทั้งสองภาพนั้นค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งแสดงออกถึง ตัวตนของศิลปินได้อย่างชัดเจน
Battle of Anghiara
Battle of Cascina
อย่างไรก็ดี ภาพทั้งสองนั้น ไม่ได้ถูกวาดจนเสร็จสมบูรณ์ ต่อมา จึงถูกทาสีทับไปในที่สุด ทำให้พวกเราไม่มีโอกาสได้เห็นภาพจริงๆ ของ สองรูปนี้ประดับอยู่บนพระราชวัง
อัจฉริยะ ด้านจิตกรรม
ในปี 1505 แองเจโล เดินทางกลับไปยังกรุงโรมอีกครั้ง
ปี 1508 พระสันตะปาปา Julius II ได้ให้ไมเคิลแองเจโลเขียนภาพบนเพดานโบสถ์น้อยซิสตีน (Sistine Chapel) ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่มากกว่า 500 ตารางเมตร ประกอบด้วยภาพกว่า 300 ภาพ โดยเป็นการวาดแบบปูนเปียกทั้งหมด เขาใช้ความทุ่มเทเป็นเวลา 4 ปี ก็ทำสำเร็จ ผลงานนี้มีชื่อว่า​Ceiling of the Sistine Chapel โดยภาพที่มีชื่อเสียงที่สุด ในนั้นก็คือ ภาพ The Creation Of Adam ส่วนภาพอื่นๆ นั้นก็ล้วนแล้วแต่ สวยงามไม่แพ้กัน
Ceiling of the Sistine Chapel
The Creation Of Adam
ในปี 1534 เขาก็ได้รับโอกาสอีกครั้งจากพระสันตะปาปา Clement VII ครั้งนี้เป็นการเขียนภาพบนผนังหลังแท่นบูชาของโบสถ์น้อยซิสตีน โบสถ์เดียวกับที่เคยวาดภาพครั้งที่แล้ว ในคราวนี้ ขนาดที่ต้องวาดก็ใหญ่มากเช่นกัน ครั้งนี้เขาใช้เวลาวาดนานถึง 8 ปี ออกมาเป็นภาพที่ชื่อว่า The Last Judgement
The Last Judgement
ในตอนแรกนั้น คนในภาพทั้งหมดอยู่ในลักษณะเปลือยเปล่า โดยเฉพาะพระเยซู และพระแม่มารี ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ขึ้นว่าเหมาะสมหรือไม่ พระสันตะปาปา Clement VII เองนั้นทรงพอพระทัยกับภาพที่ได้มาจึงไม่ให้มีการแก้ไขแต่อย่างไร แต่แล้วในช่วงบั้นปลายชีวิตของ แองเจโล สภาคาทอลิกก็มีมติให้แก้ไขภาพนี้โดยการเซ็นเซอร์ ตัวพระเยซูและพระแม่มารี ให้มีอาภรณ์ปกปิดส่วนสำคัญ
นอกจากสองภาพนี้แล้ว แองเจโลยังมีภาพเขียนอีกหลายภาพ เช่น ภาพ Doni Tondo ที่เขียนด้วยสีน้ำมันและสีฝุ่นซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟีซีในเมืองฟลอเรนซ์, ภาพ Manchester Madonna และภาพ The Entombment ทั้งสองภาพนี้เขียนด้วยสีฝุ่น ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน) รวมทั้งผลงานภาพปูนเปียกชิ้นสุดท้าย The Crucifixion of St. Peter ที่โบสถ์น้อยพอลลีน (Pauline Chapel)
1
Doni Tondo
Manchester Madonna
The Entombment
The Crucifixion of St. Peter
แต่ที่น่าแปลกก็คือ เขาไม่ค่อยเซ็นต์ชื่อของเขา ลงในผลงานวาดของตัวเอง แต่เขากลับทำในสิ่งที่แตกต่างไปกว่านั้น นั่นคือ วาดหน้าตัวเองใส่ลงไปในรูปแบบเนียนๆ แทน (เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของได้ดีจริงๆ)
อัจฉริยะ ด้านสถาปัตยกรรม
อีกหนึ่งงานที่แองเจโล ทุ่มเทมากที่สุด นั่นก็คือ การออกแบบและสร้างหลุมฝังศพครับ โดยเฉพาะของ พระสันตะปาปา Julius II เขาใช้เวลาถึง 40 ปีเลยทีเดียว กว่าหลุมศพนี้จะแล้วเสร็จ ปี 1523 ไมเคิลแองเจโลได้ออกแบบห้องสมุด Laurentian Library ที่โบสถ์ San Lorenzo ในเมืองฟลอเรนซ์ซึ่งถือเป็นต้นแบบของลัทธิจริตนิยม (Mannerism) เขาออกแบบห้องโถงและบันไดของที่นี่ได้โดดเด่นมาก ปี 1546 ได้ออกแบบลวดลายบนพื้นบริเวณจตุรัส Piazza del Campidoglio ในกรุงโรม ด้วยลวดลายที่สวยงามสลับซับซ้อนเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่ง ไมเคิลแองเจโลยังได้ออกแบบประตู Porta Pia และวิหาร Santa Maria degli Angeli e dei Martiri ในกรุงโรมอีกด้วย
และงานสำคัญชิ้นสุดท้าย ในช่วงบั้นปลายชีวิตของแองเจโล นั่นก็คือ การได้เป็นสถาปนิกของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter’s Basilica) ในกรุงโรม งานก่อสร้างมหาวิหารดำเนินมาแล้ว 50 ปี และงานฐานรากทำเสร็จตามแปลนของ Donato Bramante สถาปิกคนแรกตั้งแต่ปี 1506
สถาปนิกคนอื่นได้ทำงานต่อเนื่องกันมามีการเปลี่ยนแปลงแบบหลายครั้ง แต่งานก่อสร้างมีความคืบหน้าน้อยมาก ไมเคิลแองเจโลคงแนวคิดหลักของ Bramante เอาไว้แต่ได้ออกแบบใหม่หลายส่วน โดยเฉพาะตรงโดมที่สวยสง่าเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิหารแห่งนี้
งานก่อสร้างก้าวหน้าไปด้วยดีแต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้เห็นโดมที่เสร็จสมบูรณ์ด้วยตาตัวเอง เนื่องจากเขาเสียชีวิตไปเสียก่อนที่โดมจะสร้างเสร็จ
แองเจโลเป็นหนึ่งในผู้ที่ทุ่มเทให้กับการทำงานศิลปะมากที่สุด เขาเริ่มทำงานในฐานะศิลปินตั้งแต่อายุ 14 ปี และทำงานศิลปะมาตลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เขายังเป็นผู้ที่ทำงานศิลปะรับใช้พระสันตะปาปามากถึง 9 พระองค์ เขาแกะสลักชิ้นงานอยู่ที่บ้านจนเกือบถึงวันสุดท้ายของชีวิต ไม่กี่วันก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยวัยเกือบ 89 ปีในปี 1564 เขายังแกะสลักชิ้นงาน Rondanini Pieta อยู่เลย
ไมเคิลแองเจโล ถือว่าเป็นศิลปินที่มีความสามารถที่หาได้ยากยิ่งในโลกคนหนึ่ง ผลงานที่เขาได้สร้างไว้นั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็น สมบัติที่มีค่าของโลกใบนี้
จบกันไปอีกคนนะครับสำหรับ สุดยอดอัจฉริยะ แห่งศิลปะทั้ง 3 ด้าน ไมเคิลแองเจโล
นักคิดคนต่อไปเราจะพบกับ ผู้ทำนายชะตาโลก "นอสตราดามุส"
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา