27 ส.ค. 2019 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
บทที่ 2 จะหาเงินมาจากไหนมาเริ่มธุรกิจ???
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเริ่มธุรกิจมันต้องมีเงินทุน ถ้าไม่มีเงินทุมคิดไปก็ลงมือทำไม่ได้ ดังนั้นบทนี้ผมจะมาอธิบายวิธีเตรียมทุนและหาแหล่งเงินทุนเพื่อเริ่มธุรกิจกัน
(การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาบทที่ 1 ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน)
1. ประเมินงบประมาณที่จะต้องลงทุน
จากบทที่ 1 เมื่อเราเจอครบทั้ง 5 ข้อ เราจะได้ราคาต้นทุน ราคากลาง และจะสามารถตั้งราคาขายคล่าวๆ ได้ ถัดมาให้ดูว่าขั้นต่ำต้องลงทุนเท่าไหร่ (กรณีที่เป็นของที่ซื้อมาขายไป) และต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างที่จะประกอบธุรกิจได้ จดเป็นลิสท์รายการพร้อมทั้งระบุราคาเท่าที่หาได้ไว้ให้ได้มากที่สุด
2. ประเมินรายได้
ประเมินว่ารายได้ปัจจุบันเรามีอะไรบ้าง เหลือเงินเก็บต่อเดือนเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเป็นเท่าไหร่ ข้อนี้สำคัญเพราะมันเป็นตัวบงชี้ว่าเราเหลือความสามารถในการชำระหนี้สินต่อเดือนเท่า ในกรณีที่อาจจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาลงทุน
3. ประเมินเงินเก็บและวางแผนเก็บเงินเพื่อลงทุน
จากข้อ 2 เมื่อเราทราบรายละเอียดของรายได้และเงินที่เหลือแต่ละเดือนแล้ว ให้เราดูว่าปัจจุบันมีเงินเก็บเท่าไหร่ แล้วเอามาหักจากข้อ 1 ส่วนที่ยังขาดอยู่เราต้องวางแผนอย่างมีวินัย เพื่อให้สามารถเก็บเงินเพื่อลงทุนได้ถึงเป้าหมาย
อย่างเช่น เราดูแล้วว่าจะลงทุนขายครีมทาผิว หาโรงงานทำ OEM ตกกระปุกละ 35 บาท แต่ต้องสั่งขั้นต่ำล๊อตละ 1,000 กระปุก
- ดังนั้นจะเริ่มธุรกิจนี้ได้อย่างต่ำต้องมีลงทุน (1,000 x 35) = 35,000 บาท
- สมมุติมีเงินเก็บ 10,000 บาท ดังนั้นจะขาดเงินลงทุน 10,000 - 35,000 = - 25,000 บาท
- มีเงินที่สามารถเก็บได้เดือนละ 2,000 บาท ให้เราเปิดบัญชีที่ไม่ทำบัตร ATM และผูกแอพใดๆ ไว้ ฝากอย่างเดียวเป็นเวลา 1 ปี (25,000 / 12)เราจะได้เงินลงทุนก้อนแรกตามเป้าหมาย
4. ศึกษา ศึกษา และศึกษา
จากข้อ 3 เราจะมีช่วงระยะเวลาที่จะต้องเตรียมเงิน (กรณีที่เงินยังไม่พอ) หรือคนที่มีเงินพร้อมก็ไม่อยากให้ข้ามข้อนี้นะครับ ปกติก่อนจะตัดสินใจลงทุน ถ้าอันไหนลงทุนมากกว่า 100,000 บาท ผมจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีเป็นอย่างน้อย ต้องให้เวลาเยอะๆ ดูจนรู้ให้จริงจึงจะเอาเงินไปลง อย่าใจร้อนเด็ดขาด เพราะเงินคุณจะหายไปทันทีที่คุณใจร้อน
5. หาแหล่งเงินทุนสำรอง
แน่นอนการลงทุนอย่างที่ยกตัวอย่างคือ ขายครีมนั้น ไม่ได้มีต้นทุนแค่เฉพาะค่าผลิต แต่ยังมีต้นทุนแฝงอีกหลายๆ ตัว เช่น ค่าขนส่ง ค่าโฆษณา ค่าแรง ค่าไฟ ค่าสต๊อกสินค้า ซึ่งทั้งหมดคือเงินที่จะต้องลงทุนทั้งนั้น ดังนั้นเราต้องเตรียมทุนสำรองไว้ด้วย หากไม่มีเงินเก็บให้หาช่องทางที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุด หรือระยะยาวที่สุด ส่วนตัวผมมีบ้านที่ผ่อนมาประมาณ 7-8 ปี ดังนั้นจะมีส่วนต่างที่ผมส่งไปแล้ว บวกกับค่าประเมินที่เพิ่มขึ้น ผมก็ใช้ตัวนี้เป็นทุนสำรองกรณีที่ cash flow มีปัญหาจริงๆ
โดยจากข้อ 3 หากเรามีเงินเหลือเดือนละ 2,000 บาท นั่นหมายความว่าเราสามารถรับภาระหนี้สินจากการกู้เงินได้ประมาณ 300,000 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาประเมินทรัพย์สิน) (การคำนวณเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ 1 ล้านบาท จะผ่อนเดือนละประมาณ 6,000 บาท)
ท้ายบทนี้ อยากฝากเรื่องการศึกษาข้อมูล ให้ศึกษาให้รอบด้าน อย่าใจร้อนรีบลงเงินจนเกินไป รู้ให้จริงและวางแผนทางการเงินและบัญชีให้รอบคอบก่อนจะเริ่มธุรกิจ จะทำให้ความเสี่ยงลดลงไปมากครับ พึงระลึกไว้เสมอว่าเงินเราไม่ได้เยอะ สายป่านไม่ได้ยาว อย่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
สุดท้ายหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อนที่กำลังหาไอเดียร์เริ่มธุรกิจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ หากใครมีข้อสงสัยหรืออยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน คอมเมนท์ที่ด้านล่างได้เลย ขอบคุณที่ติดตามอ่าน แล้วพบกันบทต่อไปครับ
โฆษณา